แถลงการณ์ สมาคมอุทยานแห่งชาติ กรณีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน

แถลงการณ์ สมาคมอุทยานแห่งชาติ กรณีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน

ลําดับความเป็นมาของอุทยานแห่งชาติทับลาน 

ก่อนที่จะประกาศพื้นที่ป่าเป็นอุทยานแห่งชาติทับลานพื้นที่ดังกล่าวมีสถานภาพทางกฎหมาย ดังนี้ 

อุทยานแห่งชาติทับลานในปัจจุบัน เดิมประกอบไปด้วยพื้นที่ป่าวังน้ําเขียว ป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ ป่าเขาสะโตน ป่าครบุรี มีสถานภาพเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ และได้ประกาศเป็นป่าไม้ถาวร เมื่อวันที่  ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๖

ปีพ.ศ. ๒๕๐๙ ได้ประกาศป่าครบุรีเป็นป่าสงวนแห่งชาติ

ปีพ.ศ. ๒๕๑๐ ประกาศป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ ป่าเขาสะโตน เป็นป่าสงวนแห่งชาติ

ปีพ.ศ. ๒๕๑๕ ได้มีประกาศป่าวังน้ําเขียวเป็นป่าสงวนแห่งชาติ

ปีพ.ศ. ๒๕๑๘ สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ได้มีพระราชกฤษฎีกา กําหนดเขตที่ดินในท้องที่กิ่งอำเภอนาดี อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินพ.ศ. ๒๕๑๘ (โดยประกาศครอบคลุมพื้นที่ทั้งอําเภอ แต่ยังไม่มีพื้นที่ป่าที่จะไปดําเนินการ)

ปีพ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๒๓ รัฐบาลมีนโยบายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือราษฎรที่อยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยอนุมัติให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประสานงานกับกรมป่าไม้ ขอพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม จำนวน ๒๙ ป่า รวมทั้งป่าสงวนแห่งชาติป่าวังน้ำเขียว ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยให้กรมป่าไม้ ส่งมอบพื้นที่ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งจะใช้เงินกู้จากธนาคารโลก จัดทำโครงการวัง น้ำเขียว พัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคง ใช้ชื่อว่าบ้านไทยสามัคคี แต่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ไม่ได้กำหนดให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สามารถนำที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่มีสถานะทางกฎหมายเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ไปดําเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรได้ จะต้องให้กรมป่าไม้เพิกถอนสภาพจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติเสียก่อน

ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินท้องที่อําเภอเมืองนครราชสีมา อําเภอปักธงชัย อําเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. ๒๕๒๑ (แต่ไม่สามารถดําเนินการได้เนื่องจากยังไม่มีการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้มีหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ประเด็นในการนำที่ดินป่าสงวนแห่งชาติไปใช้ในการปฏิรูปที่ดิน คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือด่วนมาก ที่ สร ๐๖๐๑/๑๖๙๐ ลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๒๔ ตอบสํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรมีความเห็นสรุปว่า “สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่มีอำนาจนำที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ไปใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพราะพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรม พ.ศ. ๒๕๑๘ ไม่มีบทบัญญัติให้อํานาจไว้ หากจะดําเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายต้องออกฎกระทรวง เพิกถอนให้เป็นที่ดินนอกเขตป่าสงวนแห่งชาติก่อน จึงจะดําเนินการตามมาตรา ๒๖ (๓) แห่งพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้”

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าวังน้ำเขียวป่าครบุรี ป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ในท้องที่ตำบลบุพราหมณ์ ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน พ.ศ. ๒๕๒๔

เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้มีการออกกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๑๔๕ เพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังน้ำเขียว ที่มีเนื้อที่ ๒๙๙,๗๗๒ ไร่ให้เหลือเพียง ๑๑,๗๒๑ ไร่ เพื่อนำไปปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ซึ่งอยู่ในท้องที่ตําบลสะแกราช อําเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่ ๑๐๑,๐๙๓ ไร่  (แต่พื้นที่ดังกล่าวปัจจุบันยังมีสถานภาพทางกฎหมายเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีพระราชกฤษฎีกาประกาศ เป็นอุทยานแห่งชาติทับลานไปแล้วตั้งแต่ ปีพ.ศ. ๒๕๒๔ ซึ่งยังมิได้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาแต่อย่างใด รวมทั้งพื้นที่บางส่วนอีกจํานวน ๑๘๖,๙๕๘ ไร่ ได้นําไปประกาศอุทยานแห่งชาติแล้ว มีข้อสังเกต การเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังน้ําเขียว จํานวน ๑๐๑, ๐๙๓ ไร่ แต่ยังไม่ได้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ การนำพื้นที่ไปปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม จึงไม่สามารถทำได้ เพราะสถานภาพทางกฎหมายยังเป็นอุทยานแห่งชาติอยู่) จาการตรวจสอบพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน ยังพบว่าได้มีการออกเอกสารสิทธิ์ สปก. ๔-๐๑ ให้แก่เกษตรกรรุกล้ำเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน บริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังน้ําเขียวเดิม จํานวน ๘,๐๐๐ ไร่เศษ

ในปีพ.ศ. ๒๕๔๓ กรมป่าไม้ได้มีคําสั่งที่ ๔๔/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๓ แต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานท้องที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี โดยมีการรังวัดหาค่าพิกัด GPS มีการฝังหลักแนวเขตไว้ตามแนวเขตที่มีราษฎร เข้ามาบุกรุก ยึดถือ ครอบครอง และแนวเขตที่ยังมีสภาพป่าสมบูรณ์อยู่ให้เกิดความชัดเจน ผลการดําเนินงานมีพื้นที่บุกรุก จํานวน ๒๗๓,๓๑๐ ไร่ และมีพื้นที่ที่มีสภาพป่ายังสมบูรณ์อยู่อีก ที่จะต้องผนวกให้เป็นอุทยานแห่งชาติเพิ่มเติม จำนวน ๑๑๐,๑๗๒.๙๕ ไร่ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 

ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการตราพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ปีพ.ศ. ๒๕๖๒ ขึ้นมาใหม่และมีบทบัญญัติมาตรา ๖๔ ได้กําหนดแนวทางอนุญาตให้ราษฎร สามารถเข้าอยู่อาศัยทํากินในเขตอุทยานแห่งชาติได้ ตามเงื่อนไขที่กําหนดให้ รวมทั้งตกทอดทางมรดกถึงลูกหลาน สามารถทำกินต่อไปได้ แต่ห้ามจำหน่ายจ่ายโอน

ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลและความจําเป็นใด ที่จะไปยกเลิกเพิกถอนพื้นที่ อุทยานแห่งชาติทับลาน ตามเส้นแนวเขต ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ หรือนำไปปฏิรูปเพื่อการเกษตรกรมอีก เพราะพระราชบัญญัติอุทยาน แห่งชาติปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ก็ได้อนุญาตให้ทํากินเพื่อการเกษตรได้อยู่แล้ว 

สมาคมอุทยานแห่งชาติจึงขอแสดงจุดยืนที่จะคัดค้าน มิให้นําพื้นที่ตามแนวเขตรังวัดปีพ.ศ. ๒๕๔๓ ไปยกเลิก เพิกถอน ออกจากอุทยานแห่งชาติทับลาน และนําไปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรมอีก

ข้อห่วงใยของสมาคมอุทยานแห่งชาติ ต่อกรณีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน

๑. กรณีแนวเขต สํารวจ รังวัด ของกรมป่าไม้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๓ เป็นการสํารวจการครอบครองที่ดินของราษฎร ตามที่ราษฎรเข้ามายึดถือครอบครองทํากินในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานในขณะนั้น ซึ่งราษฎรอ้างสิทธิว่าได้ครอบครอง ทํากิน มาก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลานเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔

๒. หากจะยึดตามแนวเขตรังวัด ปีพ.ศ.๒๕๔๓ เพื่อเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติฯ จะทําให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

๓. จะก่อให้เกิดผลกระทบไม่เป็นไปตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่กําหนดให้มีพื้นที่ป่าทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ของพื้นที่ประเทศ

๔. หากเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานตามเส้นแนวเขต ปีพ.ศ. ๒๕๔๓ และส่งมอบพื้นที่ให้ สปก. ดําเนินการ เกรงว่าจะไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามพรบ. สปก. ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ที่มุ่งหมายให้เกษตรกรมีที่ทำกินด้านการเกษตร และห้ามมิให้จำหน่าย จ่ายโอน ซื้อขาย เปลี่ยนมือ ซึ่งปัจจุบันระเบียบของ สปก. ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงให้สามารถนำไปออกโฉนด สปก. และสามารถเปลี่ยนผู้ถือครองหรือจําหน่ายจ่ายโอนไปยังบุคลอื่นได้ รวมทั้งเปลี่ยนกิจกรมจากการเกษตร ไปเป็นกิจกรรมอื่นๆ ได้

๕. หากโอนพื้นที่ให้ สปก. ไปดําเนินการตามข้อแล้วจะเป็นรูปแบบเงื่อนไขข้อต่อรองให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอื่นๆ ทั่วประเทศเรียกร้องสิทธิ ให้เพิกถอน เช่นเดียวกับกรณีอุทยานแห่งชาติทับลานได้ เช่นอุทยานแห่งชาติสิรินาถ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง เป็นต้น

ข้อเสนอแนะของสมาคมอุทยานแห่งชาติ 

กรณีพื้นที่ที่ราษฎรเข้ายึดถือครอบครองในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เห็นควรดําเนินการตามหลักเกณฑ์แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ปีพ.ศ. ๒๕๖๒ มาตรา ๖๔ ซึ่งเป็นแนวทางชัดเจนตามกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการยึดถือ และครอบครอง ที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ในปัจจุบัน และเพื่อการวางแผนในอนาคตตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ในการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ ๔๐เปอร์เซ็นต์ ของประเทศไทย ดังนั้น เห็นควรเสนอแนะให้ใช้แนวทาง “โครงการคืนฟื้นฟูป่าประชาร่วมใจ” ของสมาคมอุทยานแห่งชาติเพื่อให้ได้พื้นที่กลับคืนมาเป็นป่าอนุรักษ์ ภายใต้การดูแลของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งปัจจุบันนี้ สมาคมอุทยานแห่งชาติได้ดําเนินการ โครงการนําร่อง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน และป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งขวาแม่น้ําน่านตอนใต้ อําเภอเวียงสา และอําเภอนาน้อย จังหวัดน่าน สําเร็จไปแล้วจํานวน ๔๑๔ ไร่ ๒ งาน ๑ ตารางวา (พื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เนื้อที่ ๓๑๘ ไร่ ๑ งาน ๔๙ ตารางวา และพื้นที่ของกรมป่าไม้ เนื้อที่ ๔๖ ไร่ ๕๒ ตารางวา) เป็นแนวทาง ในการปฏิบัติต่อไป

นายพสิษฐ์ เอี๋ยวพานิช

นายกสมาคมอุทยานแห่งชาติ