รำลึก 34 ปี สืบ นาคะเสถียร A Journey Through Coordinates

รำลึก 34 ปี สืบ นาคะเสถียร A Journey Through Coordinates

ตลอด 34 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ทำงานเพื่อสานต่อเจตนารมณ์คุณสืบ เพื่อปกป้องผืนป่า สัตว์ป่า พื้นที่ทางระบบนิเวศที่สำคัญ ให้ได้รับการคุ้มครอง ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานอนุรักษ์ เพื่อนนักวิชาการ และมีแรงสนับสนุนของสาธารณชน เฝ้าทำงานติดตามกิจกรรมและโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบกับผืนป่าสัตว์ป่า ส่งเสริมองค์ความรู้ทางวิชาการ ตลอดจนทำงานรณรงค์ตามโอกาสที่เหมาะสม

เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ ในเดือนครบรอบการจากไปของอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงได้จัดงานรำลึก 34 ปี สืบ นาคะเสถียร เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางบอกเล่าเรื่องราวสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นให้ผู้สนใจได้ร่วมติดตามกันอย่างใกล้ชิด

สำหรับงานในปีนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดกิจกรรมขึ้นภายใต้แนวคิด A Journey Through Coordinates หรือ การเดินทางผ่านพิกัด เพื่อพาผู้สนใจทุกท่านเดินทางไปเข้าใจในรายละเอียดส่วนลึกของงานอนุรักษ์ ผ่านสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ และเป็นงานที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรกำลังติดตามและให้ความสนใจ

และเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินทางไปด้วยกัน จึงอยากชวนผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จากแนวคิดหลัก A Journey Through Coordinates หรือ การเดินทางผ่านพิกัด ผ่านคำบอกเล่าของคนทำงาน 3 ตำแหน่ง ประกอบด้วย คชาณพ พนาสันติสุข หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร และผู้จัดการโครงการรำลึก 34 ปี กชกร พันธุ์แสงอร่าม เจ้าหน้าที่ออกแบบ การสื่อสาร และ จารุวรรณ กุณาเลย เจ้าหน้าที่ออกแบบ ของที่ระลึก ซึ่งเป็นทีมตั้งต้นออกแบบแนวคิดและดีไซน์หน้าตาของงานรำลึก สืบ นาคะเสถียรในปีนี้ 

เรื่องราวเริ่มต้นจากความหมายของ A Journey Through Coordinates หรือ การเดินทางผ่านพิกัด โดย คชาณพ อธิบายได้ว่า A Journey หรือ การเดินทาง เพื่อบอกเล่าความเป็นมาของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรผ่านการเดินทางที่สะท้อนถึงการทำงานของมูลนิธิตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และแผนงานในอนาคต เพื่อให้เห็นภาพรวมของการทำงานด้านต่างๆ โดยเฉพาะงานเฝ้าระวังผืนป่า สัตว์ป่า ผ่านการจัดเวทีเสวนาในงานรำลึก ทั้งสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในประเทศและต่างประเทศ 

Through Coordinates หรือ การผ่านพิกัด เพื่อแสดงถึงการทำงานของมูลนิธิสืบฯ ผ่านการใช้แผนที่เพื่อระบุพิกัดในการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น การคัดค้านการสร้างเขื่อนในเขตพื้นที่อนุรักษ์ ต้องตรวจสอบผ่านแผนที่ว่าตัวเขื่อนจะถูกสร้างขึ้นที่ไหน มีขนาดเท่าไหร่ และนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการอ้างอิงถึงการต่อสู้ แต่ละครั้งว่าจะเกิดผลกระทบต่อสัตว์ป่าหรือระบบนิเวศอย่างไร

คชาณพ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับงานรำลึกในครั้งนี้ว่า รูปแบบของกิจกรรมในงานรำลึก 34 ปี สืบ นาคะเสถียร จะอิงตามความหมายของรูปแบบงานที่ปักพิกัดลงไป ในประเด็นสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจทั้งในและต่างประเทศ ในรูปแบบเวทีเสวนา ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายในงาน

และจากแนวคิดดังกล่าว ได้ถูกรังสรรค์ต่อออกมาเป็นสัญลักษณ์ของงาน โดย กชกร เจ้าหน้าที่ออกแบบการสื่อสาร เป็นคนวาดลายเส้นลงบนกระดาษ

กชกร อธิบายว่า โจทย์ที่เราได้คือ “การเดินทางผ่านพิกัด” จึงนำตัว ‘หมุด’ มาสื่อถึงการเดินทาง โดยทำเส้นพิกัดลากผ่านไปถึงคำว่า ‘through’ เพื่อสื่อความหมายผ่านงานออกแบบที่แสดงถึงการเดินทาง ส่วนการวางหมายเลข 34 ไว้ข้างบนและทำให้เป็นจุดเด่น เพราะ ‘34’ คือเลขบอกจำนวนปี จึงต้องต้องทำให้โดดเด่น เพราะเป็นตัวบ่งบอกถึงจุดประสงค์ของการจัดงานรำลึกในปีที่ 34 สืบ นาคะเสถียร’

ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ที่เสริมเข้ามา เช่น การใช้สีส้มเป็นสีหมุดเพื่อบ่งบอกพิกัดให้เด่นชัด และสอดคล้องกับจุดประสงค์ จึงมุ่งเน้นไปที่จุดพิกัด หรือสถานการณ์ต่างๆ ในการทำงานเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของสืบ นาคะเสถียร

กชกร ยังบอกเล่าถึงการเลือกใช้รูปแบบตัวหนังสือในงานออกแบบต่อว่า เราเลือกรูปแบบตัวหนังสือในงานออกแบบที่ดูแข็งแรง จริงจัง มั่นคง ซึ่งเปรียบได้กับการทำงานของคุณสืบในอดีต และบอกเล่าถึงตัวของมูลนิธิที่จริงจังหนักแน่นในการทำงาน

เมื่อมีรายละเอียดตั้งต้นดังกล่าว ก็เป็นคิวการส่งต่อสู่การออกแบบของที่ระลึก คือ Collection 34th A Journey Through Coordinates ที่มีจารุวรรณ กุณาเลย เป็นผู้รับไม้ต่อ 

ในส่วนของที่ระลึกในงานครบรอบ 34 ปี สืบนาคะเสถียร จารุวรรณ อธิบายว่า ได้ออกแบบภายใต้แนวคิดเดียวกันกับธีมหลักของงาน โดยเน้นประเด็นไปการทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีมักมีแผนที่เป็นเครื่องมือสำคัญ จึงได้เลือกนำเส้นโทโป (topographic lines) ซึ่งแสดงขนาด รูปร่าง ความสูงต่ำ และการวางตัวของลักษณะภูมิประเทศมาใช้เป็นโครงร่างในการออกแบบของที่ระลึก 4 ชิ้น ประกอบไปด้วย

เสื้อ อาร์ม และแจ็คเก็ตฟิลด์ ที่เลือกหยิบลายเส้นโทโป (topographic lines) จากพื้นที่ห้วยขาแข้ง บริเวณรูปปั้นสืบนาคะเสถียร เพราะเมื่อพูดถึงงานรำลึกสืบ นาคะเสถียร ผู้คนมักจะนึกถึงห้วยขาแข้งเสมอ และการก่อสร้างรูปปั้นสืบนาคะเสถียร ก็ถือเป็นงานชิ้นแรกๆ ขององค์กรเมื่อเกือบ 34 ปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ยังมี พวงกุญแจ ของที่ระลึกชิ้นนี้ได้เลือกใช้ลายเส้นโทโปของพื้นที่ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่ามรดกโลกที่อุดมสมบูรณ์อย่างมากของประเทศไทย เพื่อสื่อถึงความสำคัญของการรักษาผืนป่ามรดกโลก อันเป็นมรดกชิ้นสำคัญของคุณสืบ นาคะเสถียร ที่ได้ฝากไว้ถึงพวกเราในปัจจุบัน จึงอยากให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่ตรงจุดนี้ และเก็บรักษาไว้เพื่อส่งต่อไปถึงคนรุ่นต่อไปในอนาคต 

ที่กล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวงานรำลึก 34 ปี สืบ นาคะเสถียร “A Journey Through Coordinates” หรือ “การเดินทางผ่านพิกัด” ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 14-15 กันยายน 2567 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกมาก รอติดตามได้ผ่านทางเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และช่องทางโซเชียลมีเดียขององค์กร

รำลึก 34 ปี สืบ นาคะเสถียร
A journey through coordinates
การเดินทางผ่านพิกัด
14-15 กันยายน 2567 
ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร