โมเดลการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเสือปลาพื้นที่รอบเขาสามร้อยยอด

โมเดลการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเสือปลาพื้นที่รอบเขาสามร้อยยอด

กลางเดือนพฤษภาคม 2567 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้ามอบเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเสือปลา ที่หมู่บ้านดอนยายหนู อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

สืบเนื่องจาก มีครอบครัวในหมู่บ้านดอนยายหนูหนึ่งรายได้รับผลกระทบจากเสือปลา เข้ามากัดทำร้ายเป็ดที่เลี้ยงไว้เสียชีวิตไปทั้งสิ้น 20 ตัว และได้แจ้งเรื่องผ่านเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเสือปลา 

ซึ่งคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเสือปลา มีมติเห็นชอบเยียวยาตามความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นเงิน 2,800 บาท (ตัวละ 140 บาท ตามราคาซื้อขายเป็ดในตลาด) พร้อมมอบวัสดุทำรั้วกันเสือปลา 

โดยได้มอบเงินเยียวยาไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 และดำเนินการติดตั้งรั้วป้องกันเสือปลาเสร็จในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567

การมอบเงินเยียวยานี้เป็นแผนงานหนึ่งในโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน รอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด

ดำเนินงานร่วมกันโดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด แพนเทอราประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน) และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 

โดยแผนงานของโครงการนั้นมีการดำเนินงานหลายด้านด้วยกัน เช่น ศึกษาข้อมูลเสือปลา และการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชากรเสือปลา การจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการจัดทำนโยบายสาธารณะในการอนุรักษ์เสือปลา

ส่วนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานสร้างความตระหนักรู้ ให้ชุมชนเห็นความสำคัญของเสือปลา 

โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร หน่วยงานในโครงการ และชุมชน ได้ร่วมกันจัดทำรูปแบบขั้นตอนของการชดเชยเยียวยาขึ้น พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเสือปลาเพื่อตรวจสอบและพิจารณาแนวทางการเยียวยาให้เหมาะสมกับเหตุที่เกิด

กระบวนการชดเชยเยียวยาจะเริ่มจากผู้ได้รับผลกระทบแจ้งเหตุความเสียหายที่เกิดจากเสือปลา (เช่น พบร่องรอยเสือปลาในพื้นที่) จากนั้นจึงทำการตรวจสอบข้อมูลจากที่เกิดเหตุ หากพบมีร่องรอยเสือปลาอย่างชัดเจนจะลงบันทึก ‘แบบฟอร์มความเสียหายจากเสือปลา’ และนำส่งให้คณะกรรมการพิจารณา 

หากร่องรอยหลักฐานไม่ชัดเจนทางคณะทำงานจะเข้าไปติดตั้งกล้องดักถ่ายเพื่อหาหลักฐานอีกครั้ง กรณีถ้ามีหลักฐานภาพถ่ายชัดเจนจะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเสือปลาเพื่อพิจารณา

เนื่องจากบางครั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงนั้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากเสือปลา แต่เป็นสัตว์ผู้ล่าอื่นๆ ที่หากินในพื้นที่บริเวณเดียวกัน จึงจำเป็นต้องสร้างความกระจ่างในเรื่องนี้เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นฝีมือของเสือปลา 

ในกรณีไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการทางคณะทำงานก็จะไปตรวจสอบข้อมูลร่วมกับนักวิจัยฯ ในพื้นที่อีกครั้ง กรณีผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ จะแบ่งผลกระทบออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 

1. พฤติกรรมเสือปลาก่อความรำคาญต่อ หรือสร้างปัญหาต่อทรัพย์สินเล็กๆ น้อยๆ เช่น ฉี่หรือขี้ใส่บริเวณขนำ จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการ 

2. พฤติกรรมของเสือปลาเข้าไปกิน เป็ด ไก่  ในกรงเลี้ยง หากเป็นจำนวนไม่มาก (ไม่เกิน 10 ตัว) ทางคณะกรรมการจะพิจารณาชดเชยด้วยพันธุ์เป็ด และไก่ ที่สูญเสียไป หากเป็นจำนวนมากจะชดเชยตามที่สูญเสียและสร้างกรงเลี้ยงให้แข็งแรงเพิ่มขึ้นด้วย 

สำหรับกรณีที่ชดเชยเยียวยาไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่บ้านดอนยายหนูซึ่งสูญเสียเป็ดที่เลี้ยงไว้จำนวน 20 ตัว ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบพบร่องรอยตีนของเสือปลาในบริเวณที่เกิดเหตุ เป็นเล้าเป็ดที่สร้างไว้ค่อนข้างแข็งแรง ทำจากลวดหนาขนาดใหญ่ มีความสูง 80 – 100 เซนติเมตร 

โดยบริเวณที่เสือปลาเข้ามากัด เป็นบริเวณรางน้ำที่ตั้งอยู่ภายนอกเล้าสำหรับให้เป็ดกินน้ำ โดยเป็ดที่ถูกกัดตายจะมีลักษณะการตายคากรง คาดว่าเสือปลาเข้าทำร้ายขณะที่เป็ดกำลังกินน้ำ แต่เพราะส่วนของร่างกายอยู่ในเล้าเสือปลาจึงไม่สามารถนำเป็ดออกไปได้ (เหตุที่ไม่นำรางน้ำไปไว้ในเล้า เนื่องจากหากเป็ดลงไปเล่นน้ำในรางแล้ว จะทำให้เล้าสกปรกได้ง่าย อาจก่อให้เกิดเชื้อโรค ส่งผลต่อสุขภาพของเป็ด)

นอกจากนี้ บริเวณบ้านของผู้เสียหายได้ทำรั้วป้องกันเสือปลาด้วยสแลนตาข่ายสีเขียว ซึ่งมีลักษณะบาง ประกอบกับบางครั้งลืมปิดประตูทางเข้า จึงทำให้เสือปลาสามารถเข้ามายังบริเวณเล้าเป็ดได้

โดยทางคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเสือปลาพิจาณามีมติเห็นควรเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบ เป็นพันธุ์เป็ดสาวพร้อมไข่ จำนวนทั้งหมด 20 ตัว และพิจารณาทำร้ัวกั้นบริเวณรางน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้เสือปลาเข้าถึงตัวเป็ดได้ในอนาคต (ก่อนปรับเป็นการมอบเงินแทน)

สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการชดเชยเยียวยา อยู่ภายใต้แผนงานโครงการ โดยการสนับสนุนของกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนในเบื้องต้นก่อน ต่อจากนั้นจึงดำเนินกิจกรรมระดมทุน

ซึ่งพิจารณาชดเชยเยียวยาเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือปลา ถือเป็นกลไกหนึ่งของกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เสือปลา กับชุมชนรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อย โดยผ่านกลไกการพิจารณาจากทั้งหน่วยงานท้องถิ่น ตัวแทนชาวบ้าน นักวิจัยฯ และชุมชน พร้อมทั้งกิจกรรมส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากชุมชน 

โดยมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พื้นที่ชุ่มน้ำรอบอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของประชากร ‘เสือปลา’ ตราบนานเท่านาน

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม