การดำรงอยู่ของกลุ่มนกขนาดใหญ่ ช่วยให้ป่ากักเก็บคาร์บอนฯ ได้ดียิ่งขึ้น

การดำรงอยู่ของกลุ่มนกขนาดใหญ่ ช่วยให้ป่ากักเก็บคาร์บอนฯ ได้ดียิ่งขึ้น

หากลองนึกถึง นกทูแคน (Toucan) แล้วคุณอาจจะนึกภาพของชนิดพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอย่าง Toco toucan (Ramphastos toco) ที่มีปากสีส้ม คอสีขาว สามารถมีปีกกว้างกว่า 1 เมตร (3 ฟุต) และบินได้สูงกว่า 90 เมตร

เมื่อนกเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง บ่อยครั้งนกทูแคนก็มักจะนำพาบางสิ่งที่มีค่ามากสําหรับการฟื้นฟูป่าตามธรรมชาติไปด้วยอย่างเมล็ดพันธุ์

นกที่กินผลไม้ขนาดใหญ่สายพันธุ์อื่น อย่าง Jacus (Penelope obscura) และ Curl-crested jays (Cyanocorax cristatellus) และอื่นๆ ก็มีส่วนช่วยในการสร้างป่าเขตร้อนใหม่จากการกระจายเมล็ดพันธุ์ลงบนพื้นดิน กิจกรรมของนกเหล่านี้สามารถเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนของป่าขึ้น 38 เปอร์เซ็นต์

การศึกษานี้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate Change โดยนักวิจัยที่ทํางานร่วมกับ Crowther Lab ที่ Swiss Federal Institute of Technology ในเมืองซูริก ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

“การลดการตัดไม้ทําลายป่าและการฟื้นฟูป่าไม้เป็นรากฐานสำคัญต่อการลดคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ และบรรเทาผลกระทบจากเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตามความพยายามในการฟื้นฟูครั้งนี้ ก็มีอุปสรรคมากมาย อาทิ ค่าใช้จ่ายสูง ระดับความเสื่อมโทรมของดิน และการขาดธนาคารเมล็ดพันธุ์” Danielle Leal Ramos ผู้เขียนร่วมการศึกษา นักนิเวศวิทยาจาก มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเซาเปาโล กล่าว

ในป่าเขตร้อน อย่างป่าแอมะซอนและแอตแลนติก พันธุ์พืชส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับสัตว์ท้องถิ่นในการกระจายเมล็ดพันธุ์บนพื้นที่เสื่อมโทรม นกจะเติมเต็มบทบาทนี้ด้วยการขนส่งและปลูกเมล็ดพันธุ์

“เป้าหมายของเรา คือการวัดปริมาณการมีส่วนร่วมของนกกินผลไม้ในการฟื้นฟูตามธรรมชาติและการสะสมคาร์บอนที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เสื่อมโทรม” Leal Ramos กล่าว

นักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในป่าแอตแลนติก จากทีมนักวิทยาศาสตร์ นักศึกษา อาสาสมัคร ช่างเทคนิคภาคสนาม และสมาชิกในชุมชน

Jenipapo, ingá, copaíba and embaúba, pictured รายนามพันธุ์ไม้ที่นกทูแคนช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์

ผลกระทบของป่าที่เป็นเกาะแก่งต่อการเคลื่อนที่ของนก

นกที่กินผลไม้ทุกชนิดมีบทบาทสําคัญในการฟื้นฟูป่า ความแตกต่างกับนกตัวใหญ่ซึ่งสามารถกินผลไม้ขนาดใหญ่ได้คือเมล็ดของพวกมันจะเติบโตเป็นต้นไม้ที่มีชีวมวลมากขึ้น

“โดยทั่วไปแล้ว ต้นไม้ที่มีความหนาแน่นของมวลไม้สูง จะผลิตผลไม้ขนาดใหญ่ขึ้น ต้นไม้เหล่านี้มีศักยภาพในการสะสมชีวมวลและการกักเก็บคาร์บอนมากขึ้น พวกมันเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ เนื้อไม้แน่น และเติบโตช้า” Leal Ramos กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาระบุว่าในป่าที่เสื่อมโทรม ส่งผลให้การเคลื่อนที่ของนกถูกจํากัด นําไปสู่การกระจายเมล็ดและการดักจับคาร์บอนน้อยลง

ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ ผืนป่าที่มีขนาดเล็กเป็นเกาะแก่ง ส่งผลให้ นกต้องใช้เวลาในการบินนานขึ้นและมีโอกาสตกเป็นเหยื่อให้กับนกนักล่าได้ง่าย อีกทั้งโอกาสเกิดสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้นเมื่อเดินทางจากป่าหนึ่งไปยังอีกป่าหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาสําหรับชนิดพันธุ์ที่คุ้นเคยกับพืชพันธุ์ที่หนาแน่นกว่า

Carolina Bello หัวหน้าผู้เขียนการศึกษา นักวิจัยดุษฎีบัณฑิตที่ Crowther Lab กล่าวว่า “เพื่อให้แน่ใจว่ามีการกระจายเมล็ดผ่านนกอย่างมีประสิทธิภาพ จําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาพื้นที่ป่าปกคลุมอย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์ และรักษาระยะห่างของป่าที่เป็นเกาะแก่งไว้ไม่เกิน 133 เมตร”

การศึกษาเน้นย้ำถึงความสําคัญของความสมดุลระหว่างสัตว์และพืชเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเขตร้อน เพื่อให้พวกมันยังคงความหลากหลายอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการทํางานของนิเวศบริการ บทบาทของสัตว์ในกระบวนการนี้จะต้องนํามาพิจารณาด้วย

“การฟื้นฟูแบบไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว (Passive) หรือการหยุดความกดดันด้านสิ่งแวดล้อม นั้นประหยัดกว่าการฟื้นฟูเชิงรุกอย่างการปลูกต้นไม้ เนื่องจากราคาถูกกว่าและผลิตป่าที่หลากหลายมากขึ้นพร้อมศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนที่มากขึ้น” Bello กล่าว “แต่เพื่อให้ประสบความสําเร็จ เราต้องแน่ใจว่าสัตว์มีส่วนช่วย”

แม้ว่าป่าแอตแลนติกจะถือเป็นป่าที่ถูกทําลายมากที่สุดในชีวนิเวศของบราซิล โดยเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ของป่าดั้งเดิม การศึกษาก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่าการจัดเก็บคาร์บอนที่ลดลงเนื่องจากการสูญเสียชนิดสัตว์ขนาดใหญ่ที่กินผลไม้มีมากกว่าในป่าฝนแอมะซอน ซึ่งไม่เพียงแค่นกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างสมเสร็จ และเพ็คคารีอีกด้วย

“ป่าฝนแอมะซอนและป่าแอตแลนติกเป็นป่าเขตร้อนที่สปีชีส์กินผลไม้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก” Bello กล่าว เธอเสริมว่าภูมิภาคแอมะซอนต้องเผชิญกับกระบวนการตัดไม้ทําลายป่าอย่างรุนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยทิ้งภูมิประเทศที่กระจัดกระจายอย่างมากเอาไว้ ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนที่ของนก

“เป็นที่คาดว่าผลกระทบที่สังเกตได้ในการศึกษานี้สําหรับป่าแอตแลนติกจะถูกสำรวจในแอมะซอนด้วย แต่เราต้องการการประเมินที่แม่นยํายิ่งขึ้นเพื่อทําความเข้าใจขนาดของผลกระทบ” Bello กล่าว “เนื่องจากสัดส่วนของต้นไม้ที่สูงขึ้นต้องการสัตว์ในการแพร่กระจายในแอมะซอน เราสามารถคาดหวังว่าการมีอยู่ของนกจะขาดไม่ได้สําหรับการฟื้นฟูพื้นที่นั้น อีกทั้งต้องประเมินผลกระทบชดเชยต่อสัตว์กลุ่มอื่น”

การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าขนาดใหญ่เป็นสิ่งจําเป็นสําหรับการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้นไม้จับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่และแปลงเป็นออกซิเจน จำนวนนกที่น้อยลงจะส่งผลให้การกระจายเมล็ดพันธุ์น้อยลง ความเสี่ยงที่จะมีต้นไม้บนพื้นดินน้อยก็มากขึ้นสุดท้ายปริมาณก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศก็มากขึ้นตาม

เรียบเรียงจาก Large birds can boost forest carbon storage — if deforestation doesn’t interfere

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia