ต้องเว้นระยะห่างแค่ไหน ถึงเรียกว่าปลอดภัย ตอน ช้างป่า 

ต้องเว้นระยะห่างแค่ไหน ถึงเรียกว่าปลอดภัย ตอน ช้างป่า 

ในโลกที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ความเร่งรีบในสังคมเมือง หลายคนโหยหาการพักผ่อนและการหลีกหนีจากความเครียด โดยเฉพาะการใช้เวลากับธรรมชาติ ให้แสงแดด สายลม และสายน้ำช่วยเยียวยาจิตใจ การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติจึงกลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกยอดฮิต และการท่องเที่ยวชมสัตว์ป่าถือเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น สำหรับคนที่ต้องการเรียนรู้และอยากสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด แต่การเข้าไปในพื้นที่ของสัตว์ป่าสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือการปฏิบัติตามกฎระเบียบของพื้นที่อย่างเคร่งคัด และการรักษาระยะห่างที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยต่อตัวเราและสัตว์ป่า

เกร็ดความรู้ในเดือนกรกฎาคมนี้ พบกับซีรีส์ ‘ต้องเว้นระยะห่างแค่ไหน ถึงเรียกว่าปลอดภัย’ ทั้งหมด 4 ตอน ได้แก่ ช้างป่า กระทิง กวางป่า และนก ซึ่งจะพาไปเรียนรู้ถึงข้อปฏิบัติเมื่อพบเจอสัตว์ป่าและการรักษาระยะห่างให้ปลอดภัย เป็นมิตรกับสัตว์ป่าและระบบนิเวศ

และเกร็ดความรู้ ‘ต้องเว้นระยะห่างแค่ไหน ถึงเรียกว่าปลอดภัย’ ในสัปดาห์นี้ขอเสนอตอน ‘ช้างป่า’

ช้างป่าที่พบในประเทศไทยเป็นช้างเอเชีย (Elephas maximus) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มวัย สามารถสูงได้ถึง 3 เมตร และหนักได้ถึง 4 ตัน หรือเทียบเท่ารถบรรทุก 1 คัน ดังนั้นการเข้าใกล้หรือเข้าไปยังถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่า จึงต้องมีความระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งคัด

เมื่อเราเข้าใกล้สัตว์ป่า จนทำให้สัตว์ป่าเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือถูกคุกคาม สัตว์ป่าจะมีระยะการตอบสนองขั้นต้นที่ถือเป็นระยะปลอดภัยเรียกว่า ระยะเริ่มต้นหนี ซึ่งจะเป็นการตัดสินใจของสัตว์ป่าว่าจะหนีหรือสู้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์การเรียนรู้ของสัตว์ป่าชนิดนั้น ๆ สัตว์ป่าส่วนใหญ่เลือกที่จะหนี ทว่าหากเราเข้าใกล้มากยิ่งขึ้น สัตว์ป่ามักเลือกที่จะป้องกันตัวเองด้วยการขู่ และโจมตีตามลำดับ

และระยะห่างที่ปลอดภัยระหว่างเรากับช้างป่าทั้งตั้งใจเข้าไปหรือพบกันโดยบังเอิญ ไม่ควรต่ำกว่าระยะ 100 เมตร หรือทางที่ดีคือรักษาระยะห่างให้มากที่สุดเท่าที่จะห่างได้ อย่างไรก็ตาม ระยะห่างที่ปลอดภัยจากช้างป่าอาจเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น พฤติกรรมของช้างป่า สภาพภูมิประเทศ และจำนวนช้างป่า ณ ขณะนั้น

การสังเกตพฤติกรรมช้างป่า

หากช้างป่าที่เราพบมีพฤติกรรมสะบัดหูไปมา แกว่งหาง ใช้งวงสะบัดไปมาหรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่มองหรือไม่สนใจเรา นั่นถือเป็นความโชคดี แต่ไม่ควรชะล่าใจและควรรักษาระยะห่างไว้ ในทางกลับกัน หากเราพบช้างป่าที่มีพฤติกรรมหูตั้งกางออก งวงและหางหยุดนิ่ง พร้อมจ้องเขม็งมาที่เรา หรือบางครั้งมีการชูงวงขึ้นพร้อมกับโน้มตัวให้สูงขึ้นไปด้านหน้า หากพบพฤติกรรมช้างป่าเช่นนี้ นั่นเป็นสัญญาณเตือนให้เราตั้งสติ ถอยห่างออกมา และรีบหนีให้เร็วที่สุด

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ‘ต้องสังเกตตำแหน่งของช้างป่าไว้ตลอด หากพบว่าช้างป่าเข้าจู่โจม ต้องวิ่งตัดเฉียง 45 องศาไปในทิศทางข้างหน้าและเปลี่ยนทิศทางแบบซิกแซกเท่านั้น เนื่องจากช้างป่าจะใช้เวลาในการหมุนตัวหรือเปลี่ยนทิศทาง การวิ่งหนีไปด้านหน้าอย่างเดียวหรือเลี้ยวเป็นมุมฉากไม่ทำให้หนีทัน แต่การวิ่งตัดเฉียงนั้นจะทำให้เราสามารถหลบและหนีช้างป่าได้’ 

ในกรณีที่กำลังขับรถในพื้นที่ที่มีช้างป่า ให้ใช้ความระมัดระวังในการขับรถ หากเจอช้างป่าระหว่างทาง ห้ามจอดรถดู ให้ขับผ่านไปเลย และไม่ควรทำพฤติกรรมที่จะเป็นจุดสนใจให้กับช้างป่า เช่น บีบแตร เร่งเครื่อง เปิดที่ปัดน้ำฝนหรือทำอะไรก็ตามที่เป็นสิ่งเคลื่อนไหวให้ช้างป่าสนใจ หากขับรถชมสัตว์ในช่วงกลางคืน ควรเปิดไฟหน้าไว้ตลอด และห้ามใช้แฟลชถ่ายรูป เพราะอาจทำให้ช้างป่าตกใจและตรงเข้ามาทำร้ายเราได้ 

หรือหากพบช้างป่าขวางทางบนถนน ให้หยุดรถแต่ติดเครื่องไว้เสมอ โดยให้ห่างจากช้างป่าไม่ต่ำกว่า 50 เมตร หากช้างป่ากำลังเดินเข้าหารถ ให้ถอยรถหนีเรื่อย ๆ จนกว่าช้างป่าจะหลบออกจากถนน หากช้างป่าอยู่ในระยะประชิดและไม่สามารถขับรถหนีได้ทัน ให้ล็อคประตูและอยู่นิ่ง ๆ รอให้ช้างป่าผ่านไปสักระยะหนึ่งจึงจะขับรถออกจากพื้นที่นั้น และหากสถานการณ์ดูจะอันตรายยิ่งขึ้น ไม่สามารถควบคุมได้ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ 1362 สายด่วนพิทักษ์ป่าทันที

แม้การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ จะช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น กระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทว่าสัตว์ป่าทุกชนิดต่างมีพื้นที่ส่วนตัวเป็นของตัวเอง การเข้าไปในถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหรือเข้าใกล้สัตว์ป่ามากเกินไป อาจสร้างความรำคาญ ความกังวลต่อสัตว์ป่า และส่งผลกระทบต่อการอยู่รอด การสืบพันธุ์ รวมถึงยังเป็นการเพิ่มความเครียดให้กับสัตว์ป่า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและพฤติกรรมสัตว์ป่าในระยะยาวได้ 

เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากจะรักษาระยะห่างกับสัตว์ป่าแล้ว ยังคงต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของพื้นที่ และเชื่อว่าทุกคนสามารถปฏิบัติตามกันได้ คือ ไม่ทิ้งขยะ ไม่ให้อาหารสัตว์ป่า ไม่ขับรถเร็ว ไม่ส่งเสียงดัง และไม่นำสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาปล่อย เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตัวเรา สัตว์ป่า และเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอีกด้วย 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว