จระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis) สัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Crtically Endangered: CR)
สาเหตุหลักของจำนวนประชากรที่ลดลงนั้นเป็นผลมากจากความเสื่อมโทรมและสูญเสียถิ่นอาศัย เนื่องจาก กิจกรรมของมนุษย์ การลักลอบล่า ตลอดจนการล่าเพราะความหวาดกลัวเนื่องจากทัศนะคติที่มีต่อจระเข้ในด้านลบ ส่งผลให้ประชากรของจระเข้น้ำจืดลดจำนวนลงจนแทบหมดไปจากสภาพธรรมชาติ
การขยายตัวของพื้นที่ทางการเกษตร : พื้นที่ชุ่มน้ำ หนองน้ำ และแหล่งที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ถูกแปลงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อการเพาะปลูกข้าวเป็นหลัก ได้ส่งผลโดยตรงต่อการขยายพันธุ์ของจระเข้ เนื่องจากพื้นที่เป็นเกาะแก่งไม่มีความต่อเนื่อง
การลักลอบเพื่อเพาะเลี้ยง : ฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้ มีจุดประสงค์เพื่อให้หนัง มีลวดลายสวยงามตามความต้องการของท้องตลาด เจ้าของจึงต้องนำมาผสมกับจระเข้ชนิดอื่นหากจำนวนประชากรในธรรมชาติหมดไปจระเข้ที่อยู่ในฟาร์มก็อาจไม่มีลักษณะดั้งเดิมอีกต่อไป ถึงแม้ว่าการลักลอบล่าจระเข้ในธรรมชาติจะได้รับความนิยมน้อยลงเนื่องจากสามารถเพาะเลี้ยงได้แล้ว แต่การจับจระเข้ในธรรมชาติเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ในฟาร์มเลี้ยงยังคงมีอยู่
มลพิษจากการไหลบ่าของเสียทางการเกษตรและอุตสาหกรรม : เป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อจระเข้น้ำจืดอาทิ ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี และสารปนเปื้อนอื่นๆ เข้าสู่แหล่งน้ำ ส่งผลให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม การศึกษาพบว่าการสัมผัสโลหะหนักและสารพิษสามารถนำไปสู่ความล้มเหลวในการสืบพันธุ์และเพิ่มอัตราการเสียชีวิต
การขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐาน : สายน้ำหลายแห่งบริเวณแม่น้ำโขงถูกพัฒนาเป็นแหล่งใช้ประโยชน์ อาทิ มีเขื่อนพลังน้ำกั้นขวาง การทำเหมือง และกิจกรรมที่เปลี่ยนแปลงพลวัตของน้ำ อุณหภูมิของน้ำที่ปล่อยออกมาจากเขื่อนได้รบกวนการควบคุมอุณหภูมิในตัวของจระเข้ ส่งผลต่อการเผาผลาญและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ความสมดุลทางนิเวศก็ถูกรบกวนเช่นกัน เนื่องจากเขื่อนปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาที่เป็นอาหารหลักของจระเข้
ปัจจุบัน ประชากรจระเข้น้ำจืดตามธรรมชาติทั่วโลกมีน้อยกว่า 1,000 ตัว มีถิ่นกระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาทิ อินโดนีเซีย เกาะบอร์เนียว ลาว ไทย และเวียดนาม โดยประเทศที่พบมากที่สุด คือ กัมพูชา ที่ยังหลงเหลือประชากรตามธรรมชาติอยู่มากกว่า 400 ตัวโดยเฉาะในบริเวณเทือกเขาบรรทัด
ส่วนในประเทศไทยพบจระเข้น้ำจืดในธรรมชาติเพียงไม่กี่แห่ง ได้แก่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก อุทยานแห่งชาติปางสีดา จังหวัดสระแก้ว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม จังหวัดอุบลราชธานี และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาใน จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยแต่ละพื้นที่มีจำนวนประชากรจระเข้อยู่น้อยมาก
ผลสำรวจโดยกรมอุทยานฯ เมื่อปี พ.ศ. 2563 มีการยืนยันว่า ประชากรจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยในธรรมชาติเหลือเพียง 20 ตัวสถานที่ที่พบได้แก่บริเวณห้วยน้ำเย็น อุทยานแห่งชาติปางสีดา บริเวณคลองชมพู ทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก และบริเวณต้นน้ำเพชรบุรี แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
จระเข้น้ำจืด จัดเป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ตามกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ พ.ศ. 2546 ในการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่า ที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 19 เมื่อปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทย ได้เสนอขอปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดไทย จากบัญชีชนิดพันธุ์หมายเลข 1 เป็นหมายเลข 2 ด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจที่ต้องการผลักดันให้สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์เพื่อทำการค้าระหว่างประเทศ แต่ข้อเสนอนี้ไม่ได้ผ่านการรับรองจากที่ประชุม เนื่องจากภาคีที่ไม่เห็นด้วยมีข้อห่วงกังวลในประเด็นของประชากรจระเข้น้ำจืดไทยในธรรมชาติ ที่มีจำนวนน้อยมากและอยู่อย่างกระจัดกระจาย ซึ่งยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางชีววิทยาสำหรับชนิดพันธุ์ในบัญชีชนิดพันธุ์หมายเลข 1 แม้ไทยจะสามารถเพาะเลี้ยงจระเข้ในฟาร์มได้มากกว่า 1.2 ล้านตัวก็ตาม
จระเข้น้ำจืด มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าไทย ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมสมดุลของสัตว์น้ำที่เป็นเหยื่อ ช่วยกำจัดซากทำให้แหล่งน้ำมีความสะอาด อีกทั้งกองดินที่จระเข้ขุดเพื่อวางไข่กลายเป็นเนินและเกาะขนาดย่อมๆ ในฤดูแล้งหลุมที่จระเข้ขุดขึ้นกลายเป็นแหล่งกักเก็บนํ้าที่ช่วยให้พืชและสัตว์หลายชนิดอยู่รอดจนกว่าระดับนํ้าจะกลับสู่ภาวะปกติ
อ้างอิง
- นิเวศวิทยาบางประการของจระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน
- จระเข้สยาม จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย
- Siamese crocodile
- จระเข้น้ำจืด (Siamese crocodile)
- The story of the Siamese crocodile in Cambodia
ผู้เขียน
ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia