ทบทวน CSR ด้านสิ่งแวดล้อมด้วยมาตรการป้องกันผลกระทบและสังคม ESS

ทบทวน CSR ด้านสิ่งแวดล้อมด้วยมาตรการป้องกันผลกระทบและสังคม ESS

ปัจจุบันกิจกรรมฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อสังคม หรือกิจกรรม CSR เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัท สามารถแบ่งกิจกรรมที่ได้รับความนิยมออกเป็น 7 รูปแบบ ได้แก่ การปลูกป่า การปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติ การทำแนวกันไฟ การสร้างฝาย การปลูกป่าชายเลน สร้างบ้านปลา/ปะการังเทียม และการทำทุ่นจอดเรือ/ทุ่นว่ายน้ำ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้บางครั้งนำไปสู่ผลเสียมากกว่าผลดีต่อระบบนิเวศ การเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ของประชาชนและชุมชนโดยรอบ

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นจะขอยกตัวอย่าง ‘กิจกรรมการปลูกป่า’ ปลูกแล้วตายไป ในหลายๆ ครั้ง มีการลงกล้าไม้ในพื้นที่เดิมซ้ำทุกๆ ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นไม่ได้นำไปสู่การฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ (มีงานวิจัยจากศึกษาของศูนย์นิเวศวิทยาและอุทกวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร ที่ได้สำรวจโครงการปลูกป่าทั้งหมด 176 แห่ง ที่เกิดขึ้นในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยพบว่า เกือบครึ่งหรือคิดเป็น 44 เปอร์เซ็นต์ อยู่รอดได้ไม่ถึง 5 ปี)

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จึงได้จัดได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อมาตรฐานการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกันผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental and Social Safeguards: ESS) ขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา

การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันศึกษา และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวของกับโครงการขนาดเล็กแต่ละประเภท เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนิยามมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental and Social Safeguard: ESS) และพัฒนาหลักเกณฑ์รายการตรวจสอบเพื่อกำหนดขอบเขตของโครงการพัฒนาขนาดเล็กให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยในประเด็นต่างๆ

สร้างคำนิยามให้โครงการพัฒนาขนาดเล็ก

‘โครงการพัฒนาขนาดเล็ก’ คือ โครงการที่ดำเนินการโดยบุคคล หรือนิติบุคคล ทีมี่แผนการดำเนินงานหรือกิจกรรมที่จะนำไปปฏิบัติได้ โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานอย่างชัดเจน มีระยะเวลาเริ่มต้น มีระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด โดยในการดำเนินโครงการดังกล่าวมีผู้ร่วมโครงการไม่เกิน 50 คน หรือใช้งบประมาณในการดำเนินงานไม่เกิน 500,000 บาท 

ขั้นตอนการดำเนินงาน ESS

ผู้พัฒนาโครงการต้องประเมินว่า ผลกระทบด้านลบของโครงการมีอะไรบ้างและส่งผลต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มใดบ้าง ตัวอย่างการตั้งแนวคำถามแบบประเมินรายการตรวจสอบความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม อาทิ

โครงการและกิจกรรมอยู่ใกล้ระบบนิเวศที่ละเอียดอ่อนและมีคุณค่า พื้นที่คุ้มครอง อุทยานแห่งชาติ พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ปากแม่น้ำ พื้นที่พิเศษสำหรับการปกป้อวความหลากหลายทางชีวภาพ และที่อยู่อาศัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หรือไม่?

โครงการอาจจะทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ทำให้เกิดการสูญเสียระบบนิเวศอันมีค่าและหน้าที่ของระบบนิเวศ ที่ไม่สามารถฟื้นฟูกลับคืนสู่สภาพเดิมได้หรือไม่?

ตัวอย่างรายการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

หลังจากผู้พัฒนาโครงการจำแนกประเภทของผลกระทบได้แล้วนั้น ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องประเมินระดับความรุนแรงของผลกระทบ หรือการประเมินความเสี่ยงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการเสนอแนวทางที่จะใช้ในการบริหารจัดการผลกระทบด้านลบหรือความเสี่ยงของโครงการที่จะเกิดขึ้น

ตัวอย่างเกณฑ์การประเมินความรุนแรงของผลกระทบหรือความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

และเมื่อประเมินผลกระทบด้านต่างๆ ของโครงการแล้ว ผู้พัฒนาโครงการจะต้องเสนอแนวทางและวิธีการในการลดผลกระทบที่เกิดขึ้น และต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ ระบุตัวชี้วัด ความถี่และระยะเวลาดำเนินการ รวมถึงผู้รับผิดชอบเพื่อให้แน่ใจว่ามีการดำเนินงานตามแผนที่ได้วางไว้ ทั้งนี้รายการตรวจสอบและเกณฑ์การประเมินความรุนแรงดังกล่าวอยู่ระหว่างการคัดเลือกเกณฑ์ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

ระหว่างดำเนินกิจกรรม ได้มีการเสนอให้เพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องจากผู้เข้าร่วม เช่น กฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเปราะบาง กฎหมายแรงงาน กฎหมายที่เกี่ยวของกับชนเผ่า และมีการเสนอให้ใช้รายการตรวสอบควบคู่กันไปเพื่อให้ครอบคลุมกับนิยามการตรวจสอบผลกระทบในด้านต่างๆ โดยกฎเกณฑ์นการประเมินคือ หากมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระดับต่ำหรือปานกลางสามารถดำเนินโครงการต่อได้ และต้องทำการติดตามกิจกรรมและประเมินโครงการตามมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และหากกิจกรรมนั้นมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระดับสูงจะไม่สามารถดำเนินโครงการได้ 

จากการร่วมประชุมในครั้งนี้ ทำให้เห็นในอีกมุมมองของผู้เข้าร่วมประชุมอย่างเช่น การทำปะการังเทียมอาจจะส่งผลดีในด้านเศรษฐกิจ แต่อาจก่อให้เกิดผลเสียจากการปล่อยน้ำมันลงทะเลแบบไม่รู้ตัว นอกจากนี้มีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยการเสนอ พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินกิจกรรม CSR

ถึงแม้จะเป็นเพียงโครงการพัฒนาขนาดเล็ก แต่ถ้าหากไม่ทำตามกฎเกณฑ์ในบริบทของสิ่งแวดล้อมไทยอาจก่อให้เกิดผลกระทบในด้านลบที่ยิ่งใหญ่ได้ สำหรับการประชุมครั้งนี้ทำให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจในการดำเนินกิจกรรม CSR ในทิศทางเดียวกันมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การพัฒนาคู่มือกลางด้านมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในอนาคต 

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสร้างความเข้าใจร่วมกันในครั้งนี้จะนำไปสู่สิ่งที่ดีต่อทรัพยากรป่าไม้ ประชาชน และสังคม ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

บทความโดย อารียา เลยไธสง นักศึกษาฝึกงาน

อ้างอิง

  • ชฎาภรณ์ ศรีใส ผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อมาตรฐานการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกันผลกระทบ ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental and Social Safeguards: ESS) และให้สัมภาษณ์
  • ภาพจาก : การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อมาตรฐานการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมภายใต้โครงการ Environmental and Social Safeguards Criteria, Checklist, or Formfor Natural Resource and Environmental Projects
  • Nearly half of replanted tropical trees ‘do not survive more than five years’