เบื้องหลังแนวคิด ‘มหิงสา’ ของที่ระลึกเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึง ‘ควายป่า’ ฝูงสุดท้ายของประเทศไทย

เบื้องหลังแนวคิด ‘มหิงสา’ ของที่ระลึกเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึง ‘ควายป่า’ ฝูงสุดท้ายของประเทศไทย

‘ควายป่า’ หรือที่บางคนอาจรู้จักในชื่อ ‘มหิงสา’ นับเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่คู่กับประเทศไทยมานานแสนนาน แต่ปัจจุบันควายป่ากลับเป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ยาก เนื่องจากมีสถานะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทย จากสถานการณ์การลดลงของถิ่นที่อยู่อาศัย

จนปัจจุบันสถานะของ ‘ควายป่า’ ในประเทศไทย สามารถพบเจอได้เพียงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเพียงแห่งเดียว ซ้ำยังมีจำนวนประชากรไม่ถึง 100 ตัว

เพื่อสร้างความตระหนักถึงประชากรควายป่า ที่อาจเรียกว่าเป็น ‘ฝูงสุดท้าย’ ของประเทศไทย มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงตั้งใจสื่อสารเรื่องราวของควายป่าผ่านการออกแบบของที่ระลึกเพื่อเป็นหมุดหมายอันสำคัญว่า “เราจะร่วมกันอนุรักษ์ควายป่า” ไม่ให้สูญหายไปจากป่าของประเทศไทย และแสดงให้เห็นศักยภาพของผู้ยิ่งใหญ่แห่งผืนป่าห้วยขาแข้ง บ้านหลังเดียวของฝูงควายป่าในปัจจุบัน

ผ่านการพูดคุยกับ คุณจ๋า ‘จารุวรรณ กุณาเลย’ เจ้าหน้าที่ออกแบบของที่ระลึก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่แนวคิดและที่มาของที่ระลึกกลุ่ม ‘มหิงสา’

จารุวรรณ กุณาเลย

ที่มาของที่ระลึกกลุ่ม ‘มหิงสา’ เหตุใดจึงเลือกใช้ ‘ควายป่า’ มาออกแบบเป็นสัญลักษณ์ ?

ในตอนแรกเราระดมความคิดกับทีมว่าเราจะออกแบบเกี่ยวกับอะไรดี ตอนแรกคิดว่าจะทำเกี่ยวกับวันสำคัญทางสิ่งแวดล้อม แต่เราก็มีความคิดกันว่า การทำเช่นนั้นอาจจะอยู่ในกระแสไม่นานเท่าที่ควร แต่ถ้าเราเลือกทำเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ที่ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรทำงานอยู่ น่าจะสามารถสร้างความสนใจได้เรื่อยๆ เลยมาดูว่าตอนนี้เราทำงานเกี่ยวกับสัตว์อะไรบ้าง ก็พบว่าเราเคยออกแบบพญาแร้งไปแล้ว เลยมีความคิดเห็นตรงกันว่าครั้งนี้ จะออกแบบควายป่า (Wild water buffalo) ซึ่งถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘มหิงสา’ เป็นชื่อที่คนไทยในสมัยก่อนใช้เรียกควายป่าเอเชีย และมีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์คือ Bubalus arnee เลยทำให้การออกแบบของที่ระลึกชุดนี้ถูกตัดสินใจร่วมกันว่าจะใช้ควายป่าเป็นต้นแบบของงานชิ้นนี้

ของที่ระลึกกลุ่ม‘มหิงสา’ ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ?

มีเสื้อยืด 2 แบบ ประกอบไปด้วยเสื้อยืดแบบฟอก (เปิดสั่งจองล่วงหน้า ปัจจุบันปิดรับแล้ว) และเสื้อยืดที่เป็นสีดำธรรมดา ออกแบบด้วยลายควายป่าโดยใช้แค่ใบหน้าและเขาของควายป่า พร้อมกับข้อความประกอบ มี 2 ประโยคด้วยกัน คือ MAHINGSA อยู่บริเวณหัว และคำว่า “The last wild water buffalo herd of Hui kha khaeng” อยู่บริเวณแขนเสื้อด้านขวา

มีกระเป๋า 2 แบบ ประกอบไปด้วยแบบสีดำ และแบบผ้าดิบ ออกแบบด้วยลายควายป่าที่เหมือนกับลายเสื้อพร้อมกับข้อความว่า “The last wild water buffalo herd of Hui kha khaeng”

สติ๊กเกอร์ 3 ลาย ประกอบไปด้วย สติ๊กเกอร์ที่ใช้คำว่ามหิงสาภาษาอังกฤษมาออกแบบโดยให้ใกล้เคียงกับลักษณะของควายป่า สติ๊กเกอร์การ์ตูนควายป่าน่ารักกำลังเล่นน้ำกับนกเอี้ยงมีข้อความด้านล่างกำกับไว้ว่า “The last wild water buffalo herd of Hui kha khaeng” และสติ๊กเกอร์ภาพควายป่าที่ใช้ออกแบบลายเสื้อพร้อมกับข้อความ MAHINGSA HUI KHA KHAENG

ของที่ระลึกแต่ละชิ้นได้ดึงสัญลักษณ์หรือลักษณะใดของควายป่ามาใช้ในการออกแบบ ?

เริ่มจากสีที่ใช้หลักๆ จะเป็นสีดำ เราได้ดึงมาจากสีของควายป่า ซึ่งสีดำจริงๆ ก็สื่อถึงความแข็งแกร่งดุดันอยู่แล้ว เราก็เลยนำมาใช้ในงานเป็นหลัก ส่วนสีเขียวแบบดิจิทัล (Butterfly) ถูกใช้เป็นสีรองในการออกแบบ เพราะเราอยากใช้สีที่เป็นเทรนด์ในปีนี้ เนื่องจากเป็นสีที่มองดูแล้วทำให้เรานึกถึงการอนุรักษ์ จึงกลายเป็นเหตุผลในการนำสีเขียวแบบดิจิทัล (Butterfly) มาใช้ และเราก็ได้นำลักษณะนิสัยของเขา คือความแข็งแกร่งและดุดัน มาตีความเป็นอารมณ์ และความรู้สึกของงานให้กับของที่ระลึกกลุ่มมหิงสา

จริงๆ การออกแบบทั้งหมด ถูกตั้งต้นมาจากแรงบันดาลใจเดียวกัน เพียงแค่แตกออกมาเป็นของที่ระลึกแต่ละชิ้นแต่ละแบบเฉย คือการใช้บุคลิกของเขา สีตัวของเขา เรียกง่ายๆ ว่าใช้ Mood and Tone เดียวกันในการเล่าเรื่องในการออกแบบของที่ระลึกทั้งสามชิ้นในของที่ระลึก ‘กลุ่มมหิงสา’

ยกตัวอย่างเสื้อยืด เราก็ตั้งต้นด้วยแรงบันาดาลใจว่าควายป่าสามารถใช้จุดเด่นตรงไหนของเขาได้บ้าง เราสังเกตุดูว่าลักษณะของสีตัว และผิวหนังที่เวลาลงโคลนที่ไม่ได้เป็นสีดำสนิทจะเป็นสีดำด่างๆ อย่างลักษณะนิสัยของเขา เราก็นำมาเป็น mood and tone ของงานเซ็ทนี้ เลยทำให้การออกแบบออกไปทางดิบๆ ดุดันนิดหน่อยตามลักษณะนิสัยของควายป่า อีกทั้งยังได้เพิ่มเทคนิคการฟอกจากลักษนะของสีผิว

สำหรับกระเป๋าผ้า ก็จะทำออกมาเป็นสองแบบ แบบมีสีดำกับแบบผ้าดิบ แบบสีดำจะใช้เป็นผ้าแคนวาสที่แข็งแรงทนทานต่อการใช้งาน แบบผ้าดิบเราออกแบบให้มีลักษณะที่ดูทะมัดทะแมง เข้าถึงได้ง่าย แต่ว่าการวางข้อความ วางลายแบบก็เหมือนกันเลย ต่างกันแค่วัสดุที่ใช้ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อที่จะให้อารมณ์และความรู้สึกแตกต่างกันออกไปตามวัสดุที่ใช้อย่างที่ได้อธิบายไปแล้ว

ส่วนสติ๊กเกอร์ เราเห็นว่าตัวกระเป๋า และเสื้อถูกออกแบบให้ดูแบบดุดันตามลักษณะนิสัยของควายป่าแล้ว เราเลยเลือกออกแบบตัวสติ๊กเกอร์มีสองชิ้นให้มีความขึงขังตามลักษณะนิสัยของควายป่า ก็เลยคิดว่าอีกหนึ่งชิ้นอยากออกแบบให้ดูน่ารัก เพราะอยากให้ดูเข้าถึงง่ายมากขึ้น

ข้อความ The last wild water buffalo herd of Hui kha khaeng หมายความว่าอย่างไร ?

ในปัจจุบันมีงานสำรวจพบว่า ควายป่าอาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีประมาณ 44-64 ตัว (ตามรายงานโครงการสำรวจการกระจายตัวของควายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง) เป็นกลุ่มสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ในประเทศไทย โดยใช้วิธีการสำรวจโดยการการเดินตามร่องรอยควายป่า การตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ (Camera trap) และการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ทำให้เป็นได้แรงบันดาลใจ คิดคำว่า “The last wild water buffalo herd of Hui kha khaeng” ซึ่งหมายถึง ควายป่าฝูงสุดท้ายที่อยู่ในห้วยขาแข้ง จึงเอาใส่ข้อความนี้ใส่ในตัวชิ้นงานไปด้วย เพราะอยากแสดงให้เห็นถึงสถานะควายป่าที่มีอยู่ฝูงสุดท้ายในห้วยขาแข้ง เป็นความตั้งใจหลักของทีมออกแบบของที่ระลึกกลุ่มมหิงสา คือนำประโยคนี้มาใช้เพื่อตอกย้ำถึงสถานะของควายป่า และต้องการสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดการเฝ้าระวังช่วยกันดูแล และปกป้องควายป่าที่เหลืออาศัยอยู่ในป่าที่เดียว

รายได้จากการสนับสนุนของที่ระลึกจะนำไปใช้ในโครงการอนุรักษ์ควายป่าด้วย ?

รายได้ส่วนหนึ่งที่มาจากการขายสินกลุ่มมหิงสาจะถูกนำสนับสนุนโครงการการสำรวจประชากร และพืชอาหารของควายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยจะดำเนินการโดยฝ่ายงานวิชาการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในเดือนมีนาคม 2565 โดยสำรวจพื้นที่ตั้งแต่ห้วยไอ้เยาะ-เขาบันไดบน จนถึงบริเวณโป่งขาม-กรึงไกร ใช้วิธีการสำรวจโดยการการเดินตามร่องรอยควายป่า การตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ (Camera trap) และการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อสำรวจประชากรควายป่าในพื้นที่ดังกล่าว

ปัจจุบันควายป่าในประเทศไทยเหลือน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรควายป่าในประเทศอื่นๆ หากพื้นที่ใดมีควายป่า นั่นก็หมายความว่าพื้นที่แห่งนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ และถ้าหากอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการการสำรวจประชากร และพืชอาหารของควายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อการอนุรักษ์ควายป่า สามารถสนับสนุนของระลึกได้ที่ https://www.seub.or.th/gift/

บทความโดย อารียา เลยไธสง นักศึกษาฝึกงาน

อ้างอิง