มองปรากฎการณ์ขบวนการเคลื่อนไหวชาวบ้านของ ‘นักรบผ้าถุง’ กับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่

มองปรากฎการณ์ขบวนการเคลื่อนไหวชาวบ้านของ ‘นักรบผ้าถุง’ กับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่

วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มนักรบผ้าถุง ได้จัดกิจกรรม movie and talk “นักรบผ้าถุง เริน เล และแสงตุหวัน”

ในงานมีทั้งกิจกรรมเวิร์กช็อปเกี่ยวกับอาชีพและวิถีชีวิตของคนในชุมชน อาทิ กิจกรรมโปะเทียน สอนวิธีการทาเล็บด้วยใบเทียนตามภูมิปัญญาพื้นบ้านด้วยใบเทียนผสมกับสมุนไพร กิจกรรมปาแระแต๊ะ สอนประดิษฐ์โมบายที่ทำมาจากเปลือกหอย กิจกรรมปลอมตัวเป็นคนปลดส็อกแส็ก สอนการปลดหอยที่ติดมากับอวนปูเพื่อนำมาชั่งกิโลขาย

รวมถึงมีการจัดฉายสารคดีเรื่อง “นักรบผ้าถุง เริน เล และแสงตุหวัน” และเสวนาในประเด็นมองปรากฏการณ์ขบวนการเคลื่อนไหวชาวบ้านกับ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของนิคมอุตสาหกรรมจะนะ มีผู้ร่วมเสวนาคือ คุณกีรติ โชติรัตน์ ผู้กำกับสารคดี ไรหนับ เส็น ตัวแทนกลุ่มนักรบผ้าถุง รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และดำเนินวงเสวนาโดย ผศ.ดร.ภาสกร อินทุมาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 

โดยในช่วงงานเสวนามีเนื้อความดังที่จะกล่าวต่อไปนี้

ผศ.ดร.ภาสกร อินทุมาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้เปิดประเด็นคำถามแรกว่าเครือข่ายนักรบผ้าถุงเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ไรหนับ เส็น ตัวแทนจากกลุ่มนักรบผ้าถุง ได้เริ่มต้นโดยการกล่าวถึงการขึ้นไปทำม็อบจะนะรักษ์ถิ่นกับกลุ่มที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ที่พบเจอกับอุปสรรคในด้านกฎหมาย แต่ไม่เคยท้อถอยแม้ว่าจะพยายามสื่อสารว่าทะเลของเรามีอะไรดีแต่กลับถูกเพิกเฉย พร้อมกันนั้นก็ได้เกิดข้อสงสัยจากสังคมว่า “ทำไมในม็อบจะนะรักษ์ถิ่นทำไมถึงแต่ผู้หญิง” จึงได้กล่าวตอบคำถามไปว่า เราให้ผู้ชายอยู่บ้าน ออกเรือหากินเพื่อส่งเสบียงมาให้เรากิน และที่กลุ่มของตนถูกเรียกว่านักรบผ้าถุง เป็นเพราะว่าในชีวิตประจำวันทุกการทำกิจกรรมต่างๆ กลุ่มของตนนิยมนุ่งผ้าถุงมากกว่ากางเกง เลยเป็นที่มาของชื่อ ‘กลุ่มนักรบผ้าถุง’

โดยปัจจุบันกลุ่มนักรบผ้าถุง ได้ร่วมมือกันกับเครือข่ายอนุรักษ์ ในการทำวิจัยไทบ้านในพื้นที่เขตอำเภอจะนะ เพื่อสำรวจทรัพยากร และสัตว์น้ำในทะเล โดยมี ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ (อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) และกลุ่มนักศึกษาจากที่ต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการทำข้อมูลให้ความรู้ และยืนยันความถูกต้องของข้อมูลที่กลุ่มชาวบ้านทำสำรวจด้วยตัวเอง 

“ถ้าเราไม่มีข้อมูลเราไม่มีอะไรต่อสู้กับรัฐบาลได้ พอได้ลองสำรวจด้วยตัวเองก็มีความรู้สึกว่าบ้านเรานี่ไม่ธรรมดานะ มันมากจนมีความรู้สึกตื่นเต้น เรามีความรู้แต่เราไม่รู้ว่าจะใช้ทางไหน อยากให้รัฐบาลมาช่วยให้ความรู้เพิ่มเติมเพื่อการประกอบอาชีพของคนในท้องถิ่นในอนาคต”

ด้าน กีรติ โชติรัตน์ ผู้กำกับหนังสารคดี ได้กล่าวถึงสารคดีไว้ว่า สารคดี เรื่อง นักรบผ้าถุง เริน เล และแสงตุหวัน เราได้ให้ความหมายข้อความด้านหลัง ไว้ดังนี้ ‘เริน’ คือคำว่า ‘บ้าน’ ในภาษาสะกอม (ภาษาถิ่นย่อยของภาษาตากใบ ใช้สื่อสารกันในกลุ่มชาวไทยมุสลิม พื้นที่จังหวัดสงขลา) ‘เล’ หมายถึง ‘ทะเล’ และ ‘แสงตุหวัน’ ตรงนี้เราให้ความหมายได้หลายรูปแบบ หมายถึงแสงอาทิตย์ หรือหมายถึงแสงแห่งความหวังก็ได้เช่นเดียวกัน ในฐานะคนที่ทำสื่อด้านสังคมและติดตามสถานการณ์การเรียกร้องของชาวจะนะมาตั้งแต่โครงการอาหารปันรัก การเรียกร้องในพื้นที่ของตนเองแล้วไม่ได้รับความสนใจ จนกระทั่งขึ้นไปทำกิจกรรมชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลก็โดนดำเนินคดี ตามกฎหมายมาตาราการฉุกเฉินเพื่อป้องกัน covid 19 ณ ขณะนั้น จึงอยากจะส่งต่อสิ่งที่เขาสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้นจนอกมาเป็นหนังสารคดี 

“เราอยากทำให้เห็นถึงเส้นทางการต่อสู้ของชาวจะนะ ที่มีมาอย่างยาวนาน และการต่อยอดด้านความสุขผ่านวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ดังเดิม พอเรื่องราวเหล่านี้ถูกเล่าออกมาเป็นศิลปะภาพยนตร์ คิดว่ามันทำงานกับผู้รับชมทางด้านอารมณ์เรามองว่าเมื่อผู้รับชมมีอารมณ์ร่วมไปกับหนังแล้ว ก็ย่อมต้องการที่จะติดตามเรื่องราวที่เป็นประเด็นในตัวสารคดีต่อ” 

“เรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือกระจายเสียงของชาวบ้านจะนะในอีกรูปแบบหนึ่ง ในขั้นตอนของถ่ายทำเราเริ่มจากที่หาข้อมูลผ่านนักอนุรักษ์ในพื้นที่อย่างพี่แก๊ส ศุภวรรณ ชนะสงคราม หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ทำความรู้จักกับชาวบ้านผ่านการคุยกับเขาให้มากๆ เพื่อนำเสนอมุมมองวัฒนธรรมของชาวบ้านได้อย่างตรงประเด็น ไม่ว่าจะเป็นมุมมองในด้านศาสนาที่มีความเชื่อมโยงกับการเป็นนักเคลื่อนไหว ผ่านคำสอนของตัวศาสนาด้วย” 

ผู้ชมร่วมเสวนาคุณราไฟซอล ได้ตอบคำถามถึงประเด็นที่ถูกถามว่า “แล้วศาสนามีความเกี่ยวโยงกับการเคลื่อนไหวอย่างไร” ในฐานะผู้นำทางด้านศาสนาในท้องถิ่นกล่าวว่า ตามหลักศาสนาอิสลามได้สอนว่า การให้ประโยชน์กับมนุษย์เป็นสิ่งที่ดีเลิศ มนุษย์ที่ดี คือ มนุษย์ที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนทั้งโลก ซึ่งเราก็ได้ทำเช่นนั้นเพื่อเป็นการเสียสละแก่ส่วนรวม อย่างการปกป้องผืนทะเลของคนทั้งโลกไว้ มันคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ตามหลักคำสอนของศาสนา

ด้านความรู้สึกของผู้รับชมที่มีต่อหนังเรื่อง “นักรบผ้าถุง เริน เล และแสงตุหวัน” รศ. ดร.นฤมล ทับจุมพล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าหนังเรื่องนี้ได้บอกกับเราถึงผู้หญิงมีความเกี่ยวโยงกับสิ่งแวดล้อม ผ่านบทบาทการต่อสู้ในฐานะการเป็นแนวหน้าของกลุ่มนักรบผ้าถุง และเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีการต่อสู้ผ่านองค์ความรู้ท้องถิ่น  แต่ฝ่ายที่ต้องการเอาท้องถิ่นไปพัฒนาเป็นอย่างอื่น เขามองไม่เห็น ‘คุณค่า’ แต่กลับมอง ‘มูลค่า’ เสียมากกว่า พร้อมแสดงความกังวลว่า ‘กลุ่มคนที่นักรบผ้าถุงต่อสู้ด้วยคือหน่วยงานรัฐ การต่อสู้อาจเป็นไปได้ยากกว่าเมื่อครั้งที่ผ่านมา’

รศ. ดร.เชาวลิต ลิ้มมณีวิจิตร กล่าวว่า ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่จะนะ มีเป้าหมายครอบคลุม 1-30 เปอร์เซ็นต์ และจริงๆ แล้วมีผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากทะเล 1 ปี เป็นมูลค่าหลายล้านบาท แต่คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดกลับไม่ใช่ชาวบ้านจะนะ ที่อยู่ในพื้นที่ทะเลอันเป็นแหล่งความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพ

ในงานเสวนายังเปิดรับฟังความเห็นจากผู้เข้าชม ซึ่งหลายเสียงได้สะท้อนถึงประเด็นอำนาจที่ไม่ถูกต้องถูกนำมาใช้ปิดกั้นความเสรีภาพด้านการใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบสุขในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และประเด็นหลักที่ทุกท่านให้ความเห็นไปในทางเดียวกัน คือ คำว่า ‘ทะเล’ เป็นของทุกคนหาใช่เพียงชาวจะนะ เพราะฉะนั้นการช่วยกันอนุรักษ์ไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำทุกคนมิใช่เพียงแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ถอดความและเรียบเรียงโดย อารียา เลยไธสง นักศึกษาฝึกงาน จากวงเสวนาต่อจากหนัง มองปรากฎการณ์ขบวนการเคลื่อนไหวชาวบ้านกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ภาพถ่ายโดย คชาณพ พนาสันติสุข