บทเรียนการสร้างฝายในประเทศญี่ปุ่น จนซาลาแมนเดอร์ยักษ์เฉียดสูญพันธุ์

บทเรียนการสร้างฝายในประเทศญี่ปุ่น จนซาลาแมนเดอร์ยักษ์เฉียดสูญพันธุ์

‘ฝาย’ ถือเป็นสิ่งแปลกปลอมในธรรมชาติที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศเพื่อตอบสนองความต้องการด้านต่างๆ แต่ก็นำมาซึ่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่นั้นๆ สร้างความเสียหายไปอย่างมิอาจประเมินมูลค่าได้

ตัวอย่างผลกระทบ อาทิ การดักตะกอนดินซึ่งจะส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ในแหล่งน้ำ การพังทลายของหน้าดิน (Soil Erosion) อุณหภูมิของน้ำ ขัดขวางเส้นทางอพยพของปลา เกิดการสะสมตะกอนบริเวณต้นน้ำจนอาจทำให้น้ำเน่า อีกทั้งยังลดความสามารถในการกักเก็บน้ำ และส่งผลเสียต่อระบบนิเวศโดยรอบ ในขณะที่พื้นที่ท้ายน้ำอาจประสบกับการกัดเซาะเนื่องจากขาดการสะสมของตะกอน ตลอดจนสิ่งมีชีวิตในอาศัยอยู่ในระบบนิเวศนั้นๆ

มีกรณีศึกษาหนึ่งในญี่ปุ่น เมื่อการสร้างฝายจำนวนมากได้ส่งผลต่อจำนวนประชากร ‘ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่น’ (Japanese giant salamander) ให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ในธรรมชาติ © TopOutImages/Yukihiro Fukuda

ฝายคอนกรีตถูกสร้างขึ้นเป็นจำนวนมากช่วงปี ค.ศ. 1950 – 1990 ที่เศษฐกิจกำลังเฟื่องฟูและประเทศกำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างก้าวกระโดด จนนักเขียนอย่าง Gavan McCormack ได้ให้คำนิยามประเทศญี่ปุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า construction state หรือ ‘รัฐก่อสร้าง’ จากพื้นตลิ่งลำธารตามธรรมชาติรวมถึงถนนลูกรังแปรเปลี่ยนไปเป็นพื้นคอนกรีตและยางมะตอย

สาเหตุของการสร้างฝายจำนวนมากกั้นขวางแม่น้ำในเวลานั้น เป็นแนวคิดของรัฐบาลที่ต้องการปรับปรุงระบบทำการเกษตร โดยการกำหนดขนาดและรูปร่างของทุ่งนาให้เป็นมาตรฐานและทำให้สามารถเข้าถึงเครื่องจักรที่ใหญ่กว่าได้ พร้อมกับได้มีการปรับเส้นทางแม่น้ำให้ตรงและทำคันดิน สร้างก้นแม่น้ำคอนกรีตและฝายเพื่อชลประทานในทุ่งนาเพื่อควบคุมการไหลของน้ำให้เป็นไปตามเป้าหมายผลผลิตทางการเกษตรที่ต้องการ

แต่ฝายที่ถูกสร้างขึ้นในแม่น้ำลำธารริมทุ่งนา ได้ขวางกั้นไม่ให้ซาลาแมนเดอร์ยักษ์เคลื่อนตัวไปยังแหล่งต้นน้ำที่มีความเงียบสงบเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ (ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม) จนทำให้ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ถูกจำกัดพื้นที่อยู่อาศัยแค่บริเวณปลายน้ำ เกิดความเครียดจากสภาวะที่อยู่อาศัยแออัด โครงสร้างพื้นฐานของฝายยังทําลายหลุมหรือถ้ำตามธรรมชาติที่เป็นแหล่งหากินเวลากลางคืนหรือใช้หลบซ่อนตัวระหว่างวัน อีกทั้งยังเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผสมพันธุ์ วางไข่ และเพิ่มจำนวนประชากรของซาลาแมนเดอร์ยักษ์

ในธรรมชาติซาลาแมนเดอร์ยักษ์สามารถอําพรางตัวได้ดีเมื่ออยู่ในระบบนิเวศที่เหมาะสม แต่การถูกปิดกั้นให้อยู่ปลายน้ำนี้ทำให้พบเห็นพวกมันได้ชัดเจนมากบนพื้นผิวคอนกรีตที่ตื้น เสี่ยงต่อการถูกล่ามากขึ้น (ในบางภูมิภาค ซาลาแมนเดอร์ยักษ์เคยถูกล่าเพื่อเป็นแหล่งอาหาร ผู้คนมีความเชื่อว่าเป็นสัตว์อีกชนิดที่มีสรรพคุณทางยา)

ตัวอย่างฝายที่สร้างขึ้นกีดกวางวงจรชีวิตของซาลาแมนเดอร์ยักษ์ © Sustainable Daisen

เท็ตสึยะ ยูทากะ (Tetsuya Yutaka) นักอนุรักษ์จากกลุ่มไดเซ็นซาลาแมนเดอร์ (Daisen Salamander Group) องค์กอนุรักษ์ในประเทศ อธิบายว่า ฝายที่สร้างขึ้นเพื่อควบคุมแม่น้ำหลายๆ จุด ทำให้ประชากรของซาลาแมนเดอร์ยักษ์ต้องอยู่กันอย่างกระจัดกระจายเป็นกลุ่มๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการสืบพันธุ์และวงจรชีวิตของซาลาแมนเดอร์

“การกระจายตัวของแหล่งที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาสำหรับสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ทุกชนิด เพราะประชากรจำนวนมากถูกแบ่งออกเป็นประชากรกลุ่มเล็ก และเมื่อสัตว์อยู่ในกลุ่มประชากรที่เล็กและกระจัดกระจาย พวกมันจะอ่อนแอกว่ามากต่อเหตุการณ์ทางธรรมชาติหรือการกระทำของมนุษย์ที่อาจทำให้เกิดการสูญพันธุ์ในท้องถิ่น”

เท็ตสึยะ อธิบายต่อว่า เมื่อการผสมพันธุ์เกิดขึ้นในจำนวนประชากรที่น้อยอาจนำไปสู่ภาวะผสมพันธุ์ไม่สำเร็จ ทำให้โอกาสการรอดชีวิตและความแข็งแรงของรุ่นลูกรุ่นหลานลดลง รวมถึงยังมีเรื่องที่ว่าแหล่งน้ำที่อยู่อย่างจำกัดนั้นอาจไม่มีความเหมาะสมสำหรับการวางไข่ ก็ยิ่งลดโอกาสการเพิ่มจำนวนประชากรลงไปอีก

นอกจากปัญหาดังกล่าว ในช่วงปี 1976 – 2020 ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีฝนตกหนักบ่อย ซึ่งทางน้ำที่มีฝายและเป็นพื้นคอนกรีตนั้นส่งผลให้น้ำไหลเร็วกว่าสภาพธรรมชาติดั้งเดิม ซึ่งกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์น้ำรวมถึงซาลาแมนเดอร์ยักษ์ด้วย

ในปี ค.ศ. 2022 สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้รวบรวมรายชื่อสายพันธุ์ที่ถูกคุกคามสีแดง (Red List of Threatened Species) และได้อัปเดตสถานะการอนุรักษ์ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ของญี่ปุ่นจากใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) เป็นกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable)

ทางลาดที่สร้างให้ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ใช้ข้ามฝาย © Mara Budgen

โดยธรรมชาติ ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่นมีชีวิตอยู่ได้นานกว่า 80 ปี สามารถอยู่รอดได้โดยไม่มีอาหารเป็นเวลาหลายสัปดาห์ เมื่อพวกมันอพยพไปยังต้นน้ำตัวผู้ที่โดดเด่นที่สุดในพื้นที่จะมีหน้าที่ปกป้องโพรงถ้ำซึ่งเป็นหลุมบริเวณพื้นของแม่น้ำหรือชายตลิ่งที่เกิดโดยธรรมชาติ เพื่อให้ตัวเมียเข้าไปในถ้ำเพื่อวางไข่ (ประมาณ 300 – 1,000 ฟอง ในแต่ละครั้ง) หลังจากนั้น ตัวผู้จะปกป้องไข่จนกว่าจะฟักในอีกหนึ่งหรือสองเดือนต่อมา และเมื่อฟักออกมาแล้ว ตัวอ่อนจะอยู่ในรังกับพ่อไปอีกหลายเดือน

แม่น้ำและลําธารที่คดเคี้ยวตามธรรมชาติใกล้กับนาข้าวเป็นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสําหรับซาลาแมนเดอร์ยักษ์ของญี่ปุ่น เนื่องจากสภาพแวดล้อมได้ดึงดูดเหยื่อของซาลาแมนเดอร์ เช่น กบ แมลง สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง และปลาตัวเล็กหลายชนิด ซึ่งช่วยควบคุมจำนวนศัตรูพืชทางการเกษตรที่อาจเกิดขึ้นได้

ปัจจุบัน ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่นยังสามารถพบเห็นการกระจายตัวได้มากที่เมืองอาซาโกะ ในจังหวัดเฮียวโงะ ซึ่งติดกับทตโตริไปทางทิศตะวันออก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการสร้างฝายน้อย แต่ในพื้นที่อื่นๆ ตามการศึกษาวิจัยของสมาคมซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่นเชื่อว่าประชากรได้สูญพันธุ์ไปแล้วในท้องถิ่นบางแห่ง

และถึงแม้มีหน่วยงานต่างๆ พยายามเข้าแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่นการสร้างทางลาดหรือบันไดให้ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ปีน แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือให้ซาลาแมนเดอร์ยักษ์สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองได้ตามฤดูกาล ขณะที่ความพยายามสร้างเขตสงวนและเขตรักษาพันธุ์ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่นเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีความสำคัญทางนิเวศวิทยาสูงในพื้นที่ภูเขาไดเซ็นก็ยังไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจำนวนประชากรของซาลาแมนเดอร์ยักษ์จะฟื้นฟูกลับมาได้ดีอย่างเดิมเมื่อไหร่

ถึงตอนนี้นักอนุรักษ์มองว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนในการนำซาลาแมนเดอร์ยักษ์ในธรรมชาติมาเพาะเลี้ยงในกรง เนื่องจากเกรงว่าในอนาคตอันไม่ไกลซาลาแมนเดอร์ยักษ์น่าจะสูญพันธุ์จากถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติจนสิ้น

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม