สำรวจศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าพิษณุโลก

สำรวจศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าพิษณุโลก

ปลายเดือนเมษายน ทีมงานเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร พร้อมด้วยนักวิชาการด้านนิเวศวิทยา เดินทางลงพื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าพิษณุโลก เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลสภาพพื้นที่ของศูนย์การศึกษาธรรมชาติ อันมีเป้าว่าในอนาคตจะพัฒนาปรับปรุงศูนย์ศึกษาธรรมชาติให้มีความสมบูรณ์ เหมาะเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นต้นแบบรากฐานของการสร้างศูนย์ศึกษาธรรมชาติแห่งอื่นๆ ต่อไป

นักวิชาการด้านนิเวศวิทยา นำโดย นพรัตน์ นาคสถิตย์ รุ่งสุริยา บัวสาลี ธรรมรัต นาคสถิตย์ เดินฝ่าแดดมุดใต้ร่มไม้ของศูนย์ศึกษาธรรมชาติพื้นที่ประมาณ 5,000 ไร่ ที่ก่อตั้งมานานนมเมื่อ พ.ศ. 2539 บันทึกเรื่องราวรายละเอียดเชิงวิชาการออกมาเป็นเกร็ดความรู้ได้ความว่า…

ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าพิษณุโลกซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อย-เขาประดู่ บ้านวังดินสอ ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง จ.พิษณุโลก มีลักษณะภูมิประเทศสูงจากระดับน้ำทะเล 100 – 400 ม. เป็นหุบเขามีความลาดชันปานกลาง ปกคลุมด้วยหินทรายถล่มตลอดพื้นที่ ห้วยหิน เป็นลำห้วยสั้นๆ มีน้ำไหลเฉพาะฤดูฝน

ภายในลำห้วยมีหินทรายเป็นก้อนมนกลมขนาดเล็กใหญ่คละกัน ท้องห้วยบางจุดพบหินดานสีดำ ผนังลำห้วยมีโครงสร้างเป็นหินถล่มที่แทรกด้วยดินร่วนปนทรายมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุมยึดผนังตลอดลำห้วย ตอนกลางลำห้วยพบน้ำตกขนาดเล็กและแอ่งน้ำซับขนาดเล็ก

ลักษณะของป่าที่พบ ประกอบด้วยป่าเบญจพรรณไม้ไผ่ มีพื้นที่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ป่าเต็งรัง 25 เปอร์เซ็นต์ มีป่าดิบแล้งแทรกอยู่ตามหุบเขาบางเล็กน้อย

ในอดีตเคยถูกชาวบ้านบุกรุกถางป่าทำไร่มันสัมปะหลัง ไร่สับปะรด แต่หลังประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อย-เขาประดู่แล้ว ป่าก็ฟื้นตัวกลับมาอีกหน หรือที่เรียกกันว่าเป็น ‘ป่ารุ่นสอง’

และต่อมาเมื่อทางราชการมีนโยบายควบคุมไฟป่า สภาพป่าเต็งรังก็เปลี่ยนเป็นป่าเบญจพรรณเกือบทั้งพื้นที่

ในความเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าและความเป็นป่ารุ่นสอง สัตว์ป่าที่พบเห็นจึงเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดกลางและขนาดเล็กเช่น หมาจิ้งจอก ชะมดแผงหางปล้อง อีเห็น กระรอกกระแต ตุ่น

ด้านนกที่พบ อาทิ เหยี่ยวรุ้ง นกแซงแซว นกกางเขนดง นกปรอดหัวโขน ไก่ป่า ส่วนสัตว์เลื้อยคลาน เช่น แย้ เป็นต้น

ทางด้านธรณีวิทยา พื้นที่เป็นภูเขาหินทราย บริเวณแนวสันเขามีหน้าสูงชันจึงทำให้พบหินถล่มเต็มหุบเขาขนาดเล็ก ตอนกลางพื้นที่มีห้วยลำห้วยน้ำไหลชั่วคราว ขนาดเล็ก ปกคลุมด้วยก้อนหินขนาดใหญ่เล็ก ผนังลำห้วยเป็นหินถล่มที่มีดินร่วนปนทรายแทรก ท้องห้วยบางแห่งพบหินดินดานสีดำ เป็นแผ่น

นอกจากนี้ยังพบน้ำตกขนาดเล็กและน้ำซับ ลำห้วยนี้ไหลไหลลงสมทบกับห้วยน้ำเข็กที่มีน้ำไหลตลอดปี อยู่ห่างประมาณ 2 กม.

สำหรับการสำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าพิษณุโลก มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติไว้ 2 เส้นทาง ประกอบด้วย ‘เส้นทางสะบ้าย้อย’ ระยะทาง 800 เมตรผิวทางเดินเป็นแนวหินถล่มไม่ลาดชัน เดินสะดวก ปลอดภัย ผ่านลำห้วย น้ำตก น้ำซับ ป่าเบญจพรรณไผ่ไร่ ป่าดิบแล้ง

และ ‘เส้นทางศึกษาธรรมชาติปางไผ่’ ผ่านป่าไผ่ซางนวล ป่าเบญจพรรณ ร่องน้ำขนาดเล็ก น้ำตก น้ำซับ สิ้นสุดที่จุดเริ่มต้นเส้นทางสะบ้าย้อย ระยะทาง 1200 ม. เป็นทางลาดชันน้อย เดินสะดวก ปลอดภัย

อย่างไรก็ดี หลังการสำรวจทำให้มองเห็นว่าเส้นทางศึกษาธรรมชาติทั้งสองแห่งจำเป็นต้องปรับปรุงเนื้อหาที่ใช้บรรยายใหม่ เพราะเนื้อหาที่ใช้อยู่เดิมนั้นขาดมิติด้านสัตว์ป่า และเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการให้ข้อมูลทางวิชาการถึงลักษณะของพันธุ์ไม้ ทำให้ขาดองค์ความทางด้านระบบนิเวศ ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในป่าที่ก่อให้เกิดความสมดุล

นพรัตน์ นาคสถิตย์ ที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยกตัวอย่างว่า พันธุ์ไม้ต่างๆ ที่พบเห็นในเส้นทางศึกาาธรรมชาตินั้น ล้วนแต่อาศัยสัตว์ป่าให้การช่วยกระจายพันธุ์ รวมถึงการผสมเกสร ถ้าหากอธิบายเรื่องราวส่วนนี้เสริมเข้าไปให้ ก็จะให้ผู้ใช้ประโยชน์ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติเกิดความเข้าใจในกลไกระบบนิเวศมากขึ้น

นพรัตน์ ให้ความเห็นต่อว่า การสื่อความหมายเรื่องกลไกความสัมพันธ์ในระบบนิเวศถือเป็นจุดอ่อนของศูนย์ศึกษาธรรมชาติในประเทศไทนมานมนาน เนื่องจากแต่เดิมนั้นมุ่งให้ความรู้แต่เรื่องพันธุ์ไม้เป็นหลัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อมูลสัตว์ป่าในอดีตมีน้อยมาก เนื้อหาจึงเอนเอียงไปในทางชนิดพืชหรือพรรณไม้ที่พบ และศูนย์ศึกษาต่างๆ ก็ครูพักลักจำกันมาและไม่ได้ปรับปรุงสักเท่าไหร่ แม้ปัจจุบันจะมีชุดข้อมูลความรู้มากมายแล้วก็ตาม ซึ่งตรงนี้ทำให้เสียโอกาสในการสื่อความหมายไปมากทีเดียว

หรือในอีกด้านหนึ่ง นักสื่อความหมายที่คอยเล่าเรื่องเชื่อมร้อยเรื่องราวก็ไม่ค่อยได้รับการฝึกอบรมทักษะสักเท่าไหร่ เนื่องจากกิจกรรมฝึกอบรมนักสื่อความหมายก็ไม่ค่อยมีการจัดกิจกรรมทำนองนี้มากนัก ซึ่งการสำรวจศูนย์ศึกษาธรรมหนนี้ก็ถือโอกาสบรรยาย ระบบนิเวศป่าไม้สัตว์ป่า ธรณีวิทยาหินทรายทั้งในภาคสนามและในอาคารไปด้วยในตัว

“นักสื่อความหมายจะต้องเข้าใจเรื่องราวความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ ที่มาที่ไปของสิ่งต่างๆ อย่างเช่น ถ้าอธิบายเรื่องน้ำตกก็ต้องบอกว่า น้ำไหลมาจากไหน หรือถ้าให้ดีนักสื่อความหมายก็ควรเดินทางไปดูแหล่งที่มาของน้ำตกจริงๆ ก็จะสามารถเอาประสบการณ์ที่ได้เห็นต้นน้ำมาเล่าสื่อความหมายได้อย่างชัดเจน เพราะตัวเองมีประสบการณ์ได้เห็นได้สัมผัสกับสถานที่จริงมาแล้ว”

ในทรรศนะของนพรัตน์ มองว่าการมีศูนย์การศึกษาธรรมชาติที่ดีเป็นเหมือนใบเบิกทางให้ผู้คนรักและผูกพันกับธรรมชาติมากขึ้น

“เส้นทางศึกษาธรรมชาติจะช่วยกระตุ้นความรู้สึกจากประสบการณ์ตรงที่ได้เห็น ทำให้เขาได้เข้าใจในระบบนิเวศในป่าไม้และสัตว์ป่า เพราะว่าเขาเห็นดิน น้ำ สภาพอากาศ แดด เห็นรูปร่างหน้าตาต้นไม้ เห็นความสำคัญที่สัตว์ป่ามาใช้ เส้นทางจะทำให้คนเข้าใจองค์รวมของระบบนิเวศ โดยไม่ต้องอ่านหนังสือมาก”

“ซึ่งฟังก์ชันที่สำคัญคือความหลากหลายในเส้นทาง เนื้อหาสาระ ในป่าแต่ะชนิด ทำให้คนไม่เบื่อ เดินจากป่าประเภทหนึ่งไปเห็นอีกประเภทหนึ่ง มีริมน้ำ มีโอเพ่นสเปซเห็นวิว ก็จะคล้ายกับการได้ดูหนังเรื่องหนึ่ง มีความสนุกที่ได้รับจากความหลากหลายรสชาติ มีความร่มรื่นสวยงาม เส้นทางที่ดีต้องเอนเทอร์เทน ให้ผู้คนได้เห็นและเข้าใจความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ”

“เมื่อผู้คนได้รับถ่ายทอดเรื่องราวสื่อความหมายที่ดี เขาก็จะเกิดความรัก บางคนอาจใช้สิ่งที่พบในเส้นทาง อาจเป็นจุดเล็กจุดหนึ่งที่พบเอาไปต่อยอดเป็นงานวิจัยที่ดีๆ ออกมาในอนาคตได้”

นพรัตน์ นาคสถิตย์

สำหรับการสำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติในศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าพิษณุโลก ทีมนักวิชาการได้สรุปข้อเสนอแนะไว้ดังนี้

1. จัดทำป้ายสื่อความหมายตามจุดศึกษาทั้ง 2 เส้นทาง

2. จัดทำนิทรรศการกลางแจ้ง เช่นเรื่องหินทราย หินดินดาน ไลเคนบนต้นไม้

3. จัดทำป้ายสื่อความหมายพันธุ์ไม้ใหม่ทั้งหมดให้เป็นการสื่อความหมายมิใช่ป้ายข้อมูล

4. จัดทำสวนรุกขชาติขนาดเล็กเพื่อให้ได้ศึกษาความหลายหลายพืชพรรณไม้ภายในบริเวณสำนักงาน

5. จัดทำทรรศการภายในอาคารจากวัสดุธรรมชาติภายในศูนย์เช่นเมล็ดไม้ ใบไม้ ดิน หิน

6. ข้อเสอนแนะอื่นๆ เช่น ควรพบหารือกับผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าถึงแนวนโยบายการพัฒนาในปัจจุบัน เลือกศูนย์ที่มีศักยภาพในการพัฒนา สถานที่ตั้งเข้าถึงง่าย จัดทำข้อมูลพื้นฐานของศูนย์ทั้งหมดเพื่อจัดทำข้อเสนอโครงการหาแหล่งทุนและองค์กรที่มีความรู้การสื่อความหมาย และพัฒนานักสื่อความหมายโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และองค์กรพันธมิตร นักวิชาการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ฯลฯ

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม