ความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลงอย่างรวดเร็วได้สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างมาก วิธีการอนุรักษ์แบบดั้งเดิมจำเป็นต้องได้รับการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้ทันเวลากับความท้าทายที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการต่อสู้เพื่อปกป้องสัตว์ใกล้สูญพันธุ์
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์ในเรื่องของการจัดการข้อมูล เช่น การเรียนรู้ การสร้าง การจดจำข้อมูล ทั้งรูปภาพและเสียง เป้าหมายของ AI คือการสร้างระบบการเรียนรู้ด้วยตนเองซึ่งต่อยอดความหมายที่ได้จากข้อมูล จากนั้น AI จะสามารถใช้ความรู้นั้นเพื่อแก้ปัญหาใหม่ๆ ในรูปแบบที่คล้ายคลึงมนุษย์ได้
ในปัจจุบันเรากำลังเผชิญปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ได้ทำลายแหล่งอาศัย ก่อมลพิษ และการลักลอบค้าสัตว์ป่า ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ให้คำนิยามสภาพแวดล้อมในปัจจุบันของมนุษย์ที่สามารถนับย้อนได้ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมว่า ‘การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6’ (The sixth mass extinction) ซึ่งเป็นเหตุการณ์การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในอัตราที่รวดเร็วและมีสาเหตุโดยตรงมาจากมนุษย์
หากเรานับย้อนกลับไปในอดีตการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่แต่ละครั้งจะเกิดขึ้นจากภัยพิบัติหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างสุดขั้วในธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้เอง องค์การสหประชาชาติได้ตั้งเป้าหมายในปี 2020 เพื่อสร้างพื้นที่คุ้มครองอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งบนผืนดินและมหาสมุทรของโลก ภายในปี 2030 (Conserving at least 30% of the planet by 2030)
ส่วนหนึ่งของกิจกรรมดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์จึงได้นำ AI เข้ามาช่วยในการเก็บข้อมูลพฤติกรรมสัตว์ จำนวนประชากร วิเคราะห์ภัยคุกคามเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่การอนุรักษ์มีความคลอบคลุมและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งต่างจากวิธีการทั่วไปที่สามารถสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรอบหรือต้องใช้ทั้ง เวลา กำลังคน และทรัพยากรจำนวนมาก โดยชุดข้อมูลการศึกษาเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการขอเงินทุนต่อยอดโครงการด้านการอนุรักษ์ในอนาคต
หนึ่งในนักวิจัยสิ่งแวดล้อมที่ใช้ AI เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูล อย่าง Carl Chalmers ได้กล่าวว่า “หากไม่มี AI เราจะไม่มีวันบรรลุเป้าหมายของสหประชาชาติในการปกป้องสัตว์ใกล้สูญพันธุ์”
ในส่วนของ ผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร The Future Society ที่มีเป้าหมายในการพัฒนา AI ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่าง Nicolas Miailhe ได้กล่าวว่า “AI นั้นอาจไม่สมบูรณ์แบบทั้งหมด แต่สามารถเร่งเวลาการค้นพบที่สําคัญได้”
กระบวนการวิจัยติดตามประชากรสัตว์ป่าด้วยเทคโนโลยี AI อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความพยายามในการอนุรักษ์ อาทิ กล้องดักถ่ายสัตว์และโดรน สามารถระบุและนับชนิดพันธุ์ จดจำสัตว์แต่ละตัว และติดตามการเคลื่อนไหวของสัตว์ได้โดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น AI สามารถประมวลผลภาพมากกว่า 12.5 ล้านภาพและตรวจพบการปรากฏตัวของสัตว์มากกว่า 4 ล้านตัวใน 68 ชนิดพันธุ์ อาทิ ตัวนิ่มที่ใกล้สูญพันธุ์ในยูกันดา กอริลล่าในกาบอง และลิงอุรังอุตังในมาเลเซียระบบ AI สามารถประมวลผลภาพได้หลายหมื่นภาพต่อชั่วโมง ตรงกันข้ามกับมนุษย์ที่สามารถทําได้สูงสุดแค่ไม่กี่พันภาพ
Paul Fergus หนึ่งในหัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า “ความเร็วที่ AI ประมวลผลข้อมูลสามารถช่วยให้นักอนุรักษ์สามารถปกป้องสิ่งมีชีวิตที่เปราะบางจากภัยคุกคามที่ไม่คาดคิดได้ เช่น การลักลอบล่าสัตว์และไฟป่า ได้อย่างรวดเร็ว”
ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตเกี่ยวกับเหตุการณ์การลักลอบล่าสัตว์ รูปแบบสภาพอากาศ และกิจกรรมของมนุษย์ในพื้นที่ โดยแบบจำลอง AI สามารถคาดการณ์ได้ว่าการลักลอบล่าสัตว์จะเกิดขึ้นที่ใด การคาดการณ์เหล่านี้ช่วยให้นักอนุรักษ์และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อปกป้องชนิดพันธุ์ที่มีความเสี่ยง
ตัวอย่างโครงการริเริ่มที่สำคัญหนึ่ง คือ การสร้างโปรแกรม the Protection Assistant for Wildlife Security หรือ PAWS) ที่ใช้อัลกอริทึมการเรียนรู้ของ AI เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการรุกล้ำและคาดการณ์ตำแหน่งการรุกล้ำ ข้อมูลนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าวางแผนเส้นทางลาดตระเวนได้อย่างมีกลยุทธ์ เพิ่มโอกาสที่จะสกัดกั้นผู้ลักลอบล่าสัตว์และปกป้องสัตว์ป่า
AI ยังสามารถตรวจสอบแพลตฟอร์มตลาดการค้าสัตว์ป่าออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย อัลกอริทึมการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing : NLP) ที่สามารถวิเคราะห์ข้อความและรูปภาพเพื่อตรวจจับรายการที่น่าสงสัย โดยตั้งค่าสถานะแก่โพสต์นั้นโดยอัตโนมัติเพื่อการตรวจสอบเพิ่มเติมโดยเจ้าหน้าที่
แนวทางนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการระบุผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย เช่น งาช้างและเขาแรด บนเว็บไซต์ อีคอมเมิร์ซ และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
ขณะเดียวกัน การวิเคราะทัศนียภาพทางเสียง (Soudscape analysis) นักนิเวศวิทยา Jörg Müller จากมหาวิทยาลัยเวิร์ซบวร์ก University of Würzburg ประเทศเยอรมนี และเพื่อนร่วมงานของเขาได้แสดงให้เห็นว่าเครื่องมือ AI สามารถช่วยวัดปริมาณความหลากหลายทางชีวภาพในป่าเขตร้อนโดยการระบุชนิดพันธุ์สัตว์จากการบันทึกเสียง
เรื่องนี้มีตัวอย่างใน Chocó ซึ่งเป็นภูมิภาคในเอกวาดอร์ ทีมนักวิจัยได้วางเครื่องบันทึกไว้ในที่ดิน 43 แปลง ที่มีสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน ตั้งแต่แปลงที่อุดมสมบูรณ์ไปจนถึงแปลงที่เสื่อมโทรมจากการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อทำฟาร์มปลูกโกโก้และทุ่งหญ้าสำหรับปศุสัตว์ ไฟล์เสียงที่เก็บได้สามารถระบุนก 183 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 41 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 3 ชนิด
AI ยังสามารถระบุมูลค่าของความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในหนึ่งศตวรรษ จากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศน้ำจืด แม้ว่าจะมีเอกสารทางวิชาการเกี่ยวกับกิจกรรมของมนุษย์ได้ส่งผลให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในแม่น้ำและทะเลสาบ แต่กลับมีช่องว่างทางวิชาการที่ไม่ได้บ่งบอกว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมใดมีผลกระทบมากที่สุด ข้อมูลระยะยาว (Long-term data) จึงเป็นหัวใจสําคัญในการเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงความหลากหลายทางชีวภาพกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกอเธ่แห่งแฟรงก์เฟิร์ต (Goethe University Frankfurt) และมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม (University of Birmingham) นําโดย Niamh Eastwood และ Prof. Luisa Orsini แสดงให้เห็นว่ามลพิษทางน้ำ เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว และอุณหภูมิที่สูงขึ้นสามารถเปลี่ยนแปลงและทําลายระบบนิเวศของทะเลสาบน้ำจืดได้อย่างไรในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา โดยการใช้ข้อมูลสภาพอากาศตลอดจนข้อมูลที่ได้มาจากชั้นตะกอน (Sediment) ในทะเลสาบ เพื่อทํานายว่า ระบบนิเวศตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อนอย่างไรในอนาคต
นอกจากนี้ AI สามารถช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมเพื่อทำความเข้าใจองค์ประกอบทางพันธุกรรมและความหลากหลายของประชากรสัตว์ ซึ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาโครงการฟื้นฟูประชากร อาทิ เช่น อัลกอริทึม AI สามารถตรวจจับเครื่องหมายทางพันธุกรรมที่เชื่อมโยงกับความต้านทานต่อโรคหรือลักษณะสําคัญอื่น ๆ ได้ โดยช่วยในการเลือกคู่ผสมพันธุ์เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมให้ได้มากที่สุด และปรับปรุงสุขภาพของประชากรโดยรวมไม่ให้เกิดการผสมพันธุ์เลือดชิด
แม้ว่า AI จะเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพต่อการอนุรักษ์บนโลกที่ความเปลี่ยนแปลงนั้นรวดเร็วเกินกว่าที่จะควบคุมได้ด้วยกระบวนการอนุรักษ์รูปแบบเดิม แต่ความท้าทายหลายประการจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขในด้านต่างๆ ประกอบ เช่น
คุณภาพข้อมูล : ระบบ AI ใช้การป้อนข้อมูลคุณภาพสูงเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครอบคลุมในพื้นที่ห่างไกลหรือยังไม่มีการวิจัยอาจเป็นเรื่องท้าทาย
ข้อกังวลด้านจริยธรรม : การใช้โดรนและเทคโนโลยีติดตามอื่น ๆ ทำให้เกิดข้อกังวลด้านจริยธรรมเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและการรบกวนสัตว์ป่าที่อาจเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องสร้างสมดุลระหว่างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการพิจารณาด้านจริยธรรม
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ : การพัฒนา AI อาจมีค่าใช้จ่ายสูง องค์กรอนุรักษ์ต้องมีเงินทุนสำหรับการพัฒนาเบื้องต้น การบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง และการอัปเดตชุดข้อมูล
ศักยภาพของเทคโนโลยี AI ในการปฏิวัติการอนุรักษ์สัตว์ป่านั้นมีอยู่มากมาย โดยนำเสนอการแก้ไขปัญญาในรูปแบบของนวัตกรรมเพื่อรับมือกับความท้าทายต่อสภาพอากาศสุดขั้วในปัจจุบัน ตั้งแต่การปรับปรุงการติดตามและการรวบรวมข้อมูล ไปจนถึงการเปิดใช้งานการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์
AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอนุรักษ์ได้อย่างมาก การบูรณาการ AI เข้ากับวิธีการอนุรักษ์แบบดั้งเดิมและการจัดการกับความท้าทายด้านจริยธรรมสามารถปูทางไปสู่อนาคตที่สร้างหลักประกันต่อความอยู่รอดของสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์หรือถูกคุกคามและความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการอนุรักษ์ไว้หลายชั่วอายุคน
อ้างอิง
- การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ครั้งที่ 6 เริ่มต้นแล้ว และมนุษย์คือต้นเหตุของเรื่องนี้
- How AI Can Help Save Endangered Species
- AI can protect endangered species by mapping and tracking their behaviour and movements – a “time machine for biodiversity”
- Five ways AI is saving wildlife – from counting chimps to locating whales
- Conserving at least 30×30 of the planet by 2030 – What should count ?
- Soundscapes and deep learning enable tracking biodiversity recovery in tropical forests
ผู้เขียน
ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia