ผึ้งหลวงหิมาลัย การค้นพบรังผึ้งที่อาศัยตามแนวเทือกเขาหิมาลัยที่ดอยผ้าห่มปก

ผึ้งหลวงหิมาลัย การค้นพบรังผึ้งที่อาศัยตามแนวเทือกเขาหิมาลัยที่ดอยผ้าห่มปก

‘ผึ้งหลวงหิมาลัย’ ด้วยชื่อนี้คงเดาได้ไม่ยากว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้คงพบเจอที่อื่นใดเป็นไม่ได้ หากไม่ใช่ตามแนวเทือกเขาเทือกเขาหิมาลัย

จากข้อมูลดั้งเดิมปกติแล้วผึ้งหลวงหิมาลัยจะกระจายตัวอยู่ด้านตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัย และทางตอนเหนือ ของเวียดนาม รวมถึงเมียนมา ยังไม่เคยพบในประเทศไทย

หากแต่ตอนนี้ข้อมูลนั้นต้องปรับปรุงเพิ่มเติม เพราะล่าสุดมีรายงานการค้นพบในผืนป่าของไทยด้วยอีกแห่ง

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แถลงข่าวการค้นพบนี้เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา

โดยผึ้งหลวงหิมาลัยถูกค้นพบจากความบังเอิญขณะนักวิจัยได้สำรวจและติดตามประชากรผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล (สัตว์ป่าคุ้มครองของไทย) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่ แล้วไปพบเข้ากับผึ้งหลวงหิมาลัย ซึ่งตอนแรกเข้าใจผิดว่าเป็นชนิดที่อาศัยอยู่ในไทย แต่เมื่อได้ตรวจสอบจากภาพถ่ายที่บันทึกไว้ในเบื้องต้นพบว่ามีลักษณะที่แตกต่างกัน จึงเก็บตัวอย่างกลับมาวิเคราะห์ต่อ (จำนวน 3 ตัว) จนยืนยันได้แน่ชัดว่านี่คือ ‘ผึ้งหลวงหิมาลัย’ ที่พบตามแนวเทือกเขาเทือกเขาหิมาลัย

และนำมาสู่การทำโครงการวิจัยสำรวจว่าผึ้งชนิดนี้อาศัยในไทยหรือแค่บินผ่านมาเฉยๆ

อิสราพงษ์ วรผาบ นักกีฏวิทยาชำนาญการ กรมอุทยานฯ อธิบายการสำรวจว่า จากการสำรวจพบรังผึ้งหลวงหิมาลัยตรงชะง่อนผาหินแนวตั้งถึง 8 รัง เจอแค่จุดเดียว พบความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร บนดอยผ้าห่มปก

ข้อมูลจากการสำรวจในปีแรกที่พบ (พ.ศ. 2565) เจอการรวมกลุ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมและจะทิ้งรังในเดือนกรกฎาคม จากนั้นในปัต่อมา (พ.ศ. 2566) พบว่ามันกลับมาทำรังที่เดิม และอพยพมาในช่วงหน้าฝน

แม้การค้นพบนี้จะเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ และทางทีมศึกษาก็ชี้ว่าแสดงให้เห็นถึงภาพรวมของความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่สูงภายในประเทศไทย แต่ก็มีเรื่องที่ชวนให้กังวลอยู่

ผศ.ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นกระทบต่อการดำรงชีวิตที่ดอยผ้าห่มปก รวมทั้งกระทบต่อการผลิตน้ำผึ้งหรือไม่

เพราะพบว่าน้ำผึ้งจากผึ้งหลวงหิมาลัยมีน้ำหวานจากดอกกุหลาบพันปี ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศถ้าอุณหภูมิสูง มันอาจจะไม่อพยพมาในจุดนี้อีก

ในลำดับถัดไป ทีมศึกษามีแผนศึกษาประชากรผึ้งหลวงหิมาลัยในพื้นที่อื่นๆ เช่น ดอยอินทนนท์ รวมทั้งจุดอื่นของดอยสูงทางภาคเหนือของไทย

รวมถึงเรื่องที่ว่าภาวะโลกร้อนจะกระทบต่อผึ้งหรือไม่ โดยจะทำโมเดลว่าทุก 10 ปีหากร้อนขึ้น 1 องศาฯ จะกระทบต่อขอบเขตการกระจายพันธุ์ของผึ้งมากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าประชากรผึ้งหลวงหิมาลัยกำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ จึงมีความจำเป็นต้องสำรวจประชากรทั้งหมดอย่างละเอียดว่ามีกี่รัง กี่ตัว เพื่อควบคุมหรือใช้เป็นฐานข้อมูลพิจารณาอนุญาตให้ประชาชนเก็บรังผึ้งหลวงหิมาลัยไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ 

แต่หากยึดตามกฎหมาย แม้ผึ้งหลวงหิมาลัยไม่ได้พบกระจายอยู่ทั่วประเทศไทยหรือเป็นแมลงประจำถิ่น แต่หากทำรังอยู่ในเขตอุทยานฯ เขตป่าอนุรักษ์ ถือว่ามี พ.ร.บ.สัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี มีตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากผึ้งหลวงปรากฏอยู่ เช่นในอินเดียและเนปาลมีการเก็บน้ำผึ้งหลวงหิมาลัยขาย เนื่องจากน้ำผึ้งชนิดนี้มีคุณสมบัติเหมือนสารก่อประสาทหลอน สามารถขายในตลาดมืดเอเชียได้ราคากิโลกรัมละ 30 – 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวหกเท่าของราคาน้ำผึ้งทั่วไปที่ขายในท้องตลาดเนปาล เป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ทำให้ผึ้งลดน้อยถอยลง

อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน