ตามที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ยื่นเรื่อง “ขอคัดค้านการออก ส.ป.ก. 4-01 ทับพื้นที่ป่าอนุรักษ์” ให้กับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา
สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตอบกลับมูลนิธิสืบฯ เรื่องขอให้พิจาารณาตรวจสอบการออกเอกสารแสดงการครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ทับพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่ป่าของประเทศไทยลดลงไปมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 2502 ตึกบัญชาการ 2 มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขึ้นระหว่างปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
โดยที่ประชุมได้เห็นพ้องร่วมกัน และมีข้อตกลงการปฏิบัติงานร่วมกัน ดังนี้
1. ประเด็นแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทั้งสองกระทรวงตกลงกันให้นำเข้าสู่การพิจารณา เรื่องแนวเขตที่ดินที่คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ที่ผ่านความเห็นจากคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติแล้ว หรือคณะอนุกรรมการที่มีการแต่งตั้งเพื่อแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินในเรื่องแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มอบหมายเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตัดสินใจเข้าร่วมในคณะอนุกรรมการดังกล่าว และเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติพิจารณาเพื่อหาข้อยุติต่อไป
2. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดส่งข้อมูลแผนที่ในรูป Shape File แสดงพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการทับซ้อน พื้นที่ที่ควรแก้ปัญหาการอยู่อาศัยและทำกิน หรือควรสงวนไว้ตามหลักวิชาการทางทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า (Corridors) พื้นที่เตรียมการประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายและพื้นที่แนวป่ากันชน รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การจัดที่ดินให้ราษฎรตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) เฉพาะพื้นที่ส่วนที่คาดว่าเป็นปัญหาทับซ้อนกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้แก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกิน หรืออนุรักษ์ไว้โดยไม่จัดสรรให้ประชาชน ภายใน 30 วัน
3. ให้ความร่วมมือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวเขตการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร กรณีเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยจัดให้แก่บุคคลใดตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในแต่ละจังหวัด โดยมีผู้แทนของหน่วยงานที่กำกับดูแลที่ดินที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกัน รวมทั้งผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้แทนกรมป่าไม้ และ
4. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้แต่ละหน่วยงานแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งสนับสนุนการจัดที่ดินให้ประชาชนอย่างยั่งยืน