สืบเนื่องจากประเด็นข้อคิดเห็นต่าง ในการก่อสร้างโครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง อำเภอบ่อพลอย ห้วยกระเจา เลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา
1 มีนาคม 2567 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เชิญมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมหารือพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมรวมถึงข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปปรับปรุงในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนเสนอเข้าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตามมติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)
มูลนิธิสืบฯ ของยืนยันการคัดค้านโครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาภัยแล้ง และอยากให้คำนึงถึงความคุ้มค่าในการลงทุนในโครงการดังกล่าว เนื่องจากเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินในการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ โดยมีประเด็นหารือดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง : มูลนิธิสืบฯ ไม่เห็นด้วยในการดำเนินการก่อสร้างสร้างอุโมงค์ผันน้ำตัดผ่านพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ โดยให้บริษัทที่ปรึกษาและเจ้าของโครงการพิจารณาแนวทางเลือกอื่นที่อ้อมลงด้านล่างของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์ป่าและชุมชนโดยรอบให้มากที่สุด
ประเด็นที่สอง : การสร้างอุโมงค์ผันน้ำจะสร้างแรงกดดันต่อสัตว์ป่า อย่างช้างป่า ที่ใช้พื้นที่บริเวณนั้น จากข้อมูลของกรมอุทยานฯ ช้างป่ามีการกระจายตัวเพิ่มมากขึ้นบริเวณพื้นที่ด้านบนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ซึ่งแรงสั่นสะเทือนและความดังจากการระเบิดอุโมงค์จะส่งผลให้ช้างป่าเกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจนเกิดการกดดันให้ช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์และเพิ่มความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อประชากรสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าสำคัญ อย่างเลียงผา เก้งหม้อ ละอง/ละมั่ง เสือโคร่ง วัวแดง แมวลายหินอ่อน ซึ่งสัตว์ป่าบางชนิดมีอ่อนไหวต่อแรงสั่นสะเทือนและเสียงอาจจะทำให้สัตว์ตายได้
ประเด็นที่สาม : การก่อสร้างบริเวณแนวอุโมงค์เป็นการรบกวนทางเดินน้ำใต้ดิน และเปลี่ยนคุณภาพน้ำ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแหล่งน้ำผิวดิน เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้น้ำอุปโภค บริโภค จากแหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน (น้ำบาดาล) ของครัวเรือนและการเกษตรโดยรอบ
ประเด็นที่สี่ : ควรมีการตั้งกองทุนเพื่อชดเชยความเสียหายให้กรมอุทยานฯ เพื่อเป็นงบประมาณในการดูแลผืนป่า ติดตาม การศึกษาผลกระทบในระยะยาว รวมถึงการทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ร่วมกัน เหมือนในกรณีที่การไฟฟ้าจะได้รับค่าชดเชยเงินในการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังพื้นที่โครงการ
ในส่วนของกรมอุทยานฯ มีข้อกังวลมาตลอดในเรื่องของมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้อยู่บริเวณที่มีการก่อสร้าง เนื่องจากคลื่นเสียงและแรงสั่นสะเทือนจะสร้างแรงกดดันให้สัตว์ป่าออกนอกพื้นที่มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การสร้างแนวรั้วป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ต้องดูแนวโน้มบริเวณที่ช้างป่าออกนอกพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ทางมูลนิธิสืบฯ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังสงสัย และอยากให้มีเวลาทบทวนและพูดคุยข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ข้อมูลสมบูรณ์มากที่สุด หากนำไปสู่การเกิดเวทีพูดคุย แลกเปลี่ยน แนวทางการแก้ปัญหาด้านนิเวศและเทคนิคต่างๆ เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบให้มากที่สุด จะเป็นประโยชน์ในการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในอนาคต
โดยการหารือในวันนี้ทางบริษัทที่ปรึกษาจะนำข้อหารือและข้อเสนอแนะดังกล่าวเพิ่มเติมในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อีกครั้ง และส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำเข้าสู่กระบวนการต่อไป