‘เหี้ย’ ก็มีหัวใจ สัตว์ที่เคยศักดิ์สิทธิสู่วาทกรรมหยาบคาย

‘เหี้ย’ ก็มีหัวใจ สัตว์ที่เคยศักดิ์สิทธิสู่วาทกรรมหยาบคาย

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกของเราล้วนแล้วที่มีคุณค่าในหน้าที่และเหตุผลที่ก่อกำเนิดมาแล้วทั้งสิ้น แม้กระทั่งมนุษย์เพียงแค่ลมหายใจของเราก็เป็นส่วนหนึ่งในวัฎจักคาร์บอน 

กลไกความซับซ้อนของปฎิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับธรรมชาตินั้นล้วนแล้วแต่สร้างความสมดุลให้กับสภาพแวดล้อมนั้นๆ หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปก็อาจจะเกิดผลกระทบไม่ช้าก็เร็วตามมาเป็นลูกโซ่นำไปสู่การล่มสลายของระบบนิเวศนั้นๆ ได้  

สัตว์กินซาก (scavenger) มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมากเนื่องจากช่วยล่นระยะเวลาในการย่อยสลาย โดยมีลักษณะเด่นจากความพิเศษของระบบย่อยอาหารที่น้ำย่อยมีความเป็นกรดสูง อีกทั้งยังมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคที่มากับเศษซากนั้น 

เราจะมาทำความรู้จักกับนักกินซากประจำป่าคอนกรีตอย่าง ‘เหี้ย’ (water monitor) ผ่านความเชื่อและคุณค่าที่แท้จริงของมันกัน

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามีความเชื่อมโยงกับการทำเกษตรมาตลอดระยะเวลาร่วมพันปี มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์จึงมีความเชื่อเรื่องการขอฝนและความอุดมสมบูรณ์ จากการพบรูปเหี้ยสำริดที่เจอพร้อมกับตุ๊กตารูปคนทำท่ากบ (กบเป็นสัญลักษณ์ของการมีฝน) อายุ 2500 ปี ที่จังหวัดนครสวรรค์ จึงถูกสันนิฐานว่าเป็นการทำพิธีกรรมเพื่อให้เกิดฝนและนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ 

หรือการพบลายสลักรูปเหี้ยบนหน้ากลองมโหระทึกที่ตอนเหนือของเวียดนาม อายุกว่าพันปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดงเซินที่มีความสามารถในการปลูกข้าว อีกทั้งทางศาสนาพุทธนั้นมักมองสัตว์ชนิดนี้ในแง่ดีมากกว่าแง่ร้าย เนื่องจากในนิทานชาดกนั้น พระพุทธเจ้าก็เคยเสวยชาติเป็นพญาเหี้ย

วาทกรรมหยาบคายของคำว่าเหี้ยนั้นมาจากหลายองค์ประกอบที่วิวัฒขึ้นมาผ่านม่านประวัติศาสตร์สังคมไทย อาทิ วรรณคดีอย่างขุนช้างขุนแผนที่มีการใช้คำว่า ‘เหี้ย’ มาเป็นคำด่าว่า 

อีกทั้งพฤติกรรมของเหี้ยที่เป็นตัวกำจัดซากแต่เดิมอยู่แล้ว ดังปรากฏในสมัยก่อนนั้นเหี้ยก็มักไปกินซากศพของผู้คนตามพฤติกรรมทางธรรมชาติของมัน ส่งผลให้มุมมองที่มีต่อเหี้ยนั้นเป็นดั่งตัวอัปปรีย์ที่นำพาความชิบหายมาสู่ที่นั้นๆ 

อีกทั้งคำว่า ‘ดอกทอง’ ก็มีที่มาจากลายดอกบนตัวเหี้ยนั่นเอง 

เมื่อกาลเวลาผ่านไป ค่านิยมเหล่านี้ก็ถูกฝังรากลึกในสังคมไทย มีการหลีกเลี่ยงใช้คำว่าเหี้ยหรือบางทีก็เกิดความเข้าใจผิดต่อพฤติกรรมของมันว่าทำร้ายมนุษย์ซึ่งจริงๆ แล้วเหี้ยไม่ได้มีพฤติกรรมโจมตีสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวมันอย่างพวกเราด้วยซ้ำ คุณค่าของเหี้ยจึงถูกลดทอนลง จากเหตุผลทั้งหลายเหล่านี้ นำไปสู่ความหวาดกลัวและทำร้ายสัตว์ชนิดนี้

เมื่อสังคมเมืองในปัจจุบันเกิดการขยายตัวซ้อนทับถิ่นฐานของตัวเหี้ย ปัญหาความขัดแย้งจึงตามมาจากการขาดความเข้าใจ เช่นการที่ตัวเหี้ยเข้าไปขโมยไก่หรือกินกุ้งหอยปูปลาในพื้นที่ ซึ่งแท้จริงแล้วมันทำไปเพียงเพราะหิวโหย 

ตามโครงสร้างของตัวเหี้ยนั้นถูกออกแบบมาเพื่อกินซากมากกว่าล่าเหยื่ออาทิ ฟันมีลักษณะเป็นใบเลื่อยเพื่อใช้ในการบดอาหารและการเคลื่อนที่ที่ไม่เร็วนัก ทำให้เมื่อเวลามันหิวก็สบโอกาสกินสัตว์ที่ตัวเล็กกว่าและที่ถูกกักขังเอาไว้ แต่ส่วนมากมันจะพยายามหากินซากมากกว่า เนื่องจากลิ้นที่สามารถรับรู้ถึงกลิ่นซากสัตว์ในระยะที่ไกลออกไป

อย่างไรก็ตาม ตัวเหี้ยนั้นมีบทบาทสำคัญในทั้งระบบนิเวศทางธรรมชาติและสภาพแวดล้อม สามารถเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญเกี่ยวกับสุขภาพของระบบนิเวศ และมีส่วนทำให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศในเมืองอีกด้วย

เหี้ย ถือเป็นสัตว์นักล่าระดับสูงสุด พวกมันกินเหยื่อหลากหลายชนิด รวมทั้งปลา นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก และซากสัตว์ หรือบางทีแม้แต่เหี้ยด้วยกันเองที่มีขนาดเล็กกว่า ส่งผลให้พวกมันมีความสำคัญต่อการควบคุมจำนวนประชากรของสายพันธุ์เหล่านี้ 

การมีอยู่ของเหี้ยในพื้นที่นั้นถือว่าเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งสามารถวัดค่าการปนเปื้อนของสารเคมีในสิ่งแวดล้อมผ่านตัวเหี้ยจากอาหารที่มันกินเข้าไป

ความสามารถของเหี้ยในการเติบโตในบริเวณสภาพแวดล้อมเมืองหรือที่เราเรียกว่าระบบนิเวศป่าคอนกรีต มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกำจัดสัตว์พาหะหรือแมลงรบกวนต่างๆ รวมไปถึงซากสัตว์ที่อาจทำให้เกิดโรคระบาดได้ เช่นในสมัยที่ยุโรปเกิดกาฬโรคก็มีต้นเหตุมาจากจำนวนประชากรหนูที่มากเกินไปและซากของหนูที่ตายมีการย่อยสลายที่ช้าเป็นเหตุให้เชื้อแพร่สู่คนอย่างรวดเร็ว 

ในทางกลับกันการมีเหี้ยอยู่ก็ช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคระบาดของคนที่ติดต่อจากสัตว์ในสังคมเมืองได้

ตัวเหี้ยกับการขยายตัวของเมือง ทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจอันทรงพลังถึงความสามารถของธรรมชาติในการอยู่ร่วมกับการพัฒนาของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม การอยู่ร่วมกันนี้ต้องได้รับการดูแล ปกป้องและเคารพสิ่งมีชีวิตนี้ การวางผังเมืองควรนึงถึงระบบนิเวศโดยรอบเช่น ชุมชนบางเหี้ยในสมุทรปราการที่ผู้คนอาศัยอยู่กับเหี้ยมาอย่างช้านานในพื้นที่แหล่งน้ำที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของเหี้ย เพื่อให้มั่นใจว่าแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติได้รับการอนุรักษ์ไว้ และระบบนิเวศในเมืองยังคงเจริญเติบโตต่อไป

โดยสรุปแล้วคุณค่าของตัวเหี้ยนั้นถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาเพื่อรักษาสมดุลเพียงแต่มนุษย์อย่างพวกเรานั้นไปลดทอดคุณค่าตามค่านิยมความเชื่อหรือวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปกับตัวเหี้ยในด้านที่ไม่ดี 

อย่างไรก็ตามเราก็ควรจะมองเหี้ยในอีกมุมนึงบนพื้นฐานของความไม่อคติและคุณค่าที่ปรากฏของมันจากการศึกษาให้พฤติกรรมของมันให้มากขึ้นหรือเห็นอกเห็นใจตัวเหี้ยให้มากกว่านี้เพราะทุกชีวิตล้วนแล้วแต่มีหัวใจด้วยกันทั้งนั้น

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia