โลกของเราประกอบไปด้วยระบบนิเวศหลากหลายรูปแบบ ทั้งระบบนิเวศบนบก อย่างป่าไม้ ทะเลทราย ระบบนิเวศน้ำจืด อย่างทะเลสาบ พื้นที่ชุ่มน้ำ ระบบนิเวศน้ำเค็ม อย่างมหาสมุทร แนวปะการัง หรือแม้แต่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้
และเพื่อความสมดุล แต่ละระบบนิเวศต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนที่ไม่มีชีวิต และส่วนที่มีชีวิต ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน เชื่อมโยงกัน และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน กลไกที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนกระบวนการนี้ได้ ประกอบด้วย ผู้ผลิต (Producers) ผู้บริโภค (Consumers) และผู้ย่อยสลาย (Decomposers) และเราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ‘ห่วงโซ่อาหาร’
‘สัตว์กินซาก’ เป็นสัตว์ที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้บริโภค ถือเป็นผู้บริโภคซากพืชซากสัตว์เป็นอาหาร (Detritivore) หรือกินซาก (Scavenger) และเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญของห่วงโซ่อาหารนั่นเอง
สัตว์กินซากคืออะไร?
สัตว์กินซาก หรือ ‘เทศบาลประจำผืนป่า’ เปรียบเสมือนกองควบคุมโรค ทำหน้าที่ทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม เก็บกวาดซากอินทรีย์วัตถุที่เน่าเปื่อย อย่างซากสัตว์ ผลไม้ร่วง ใบไม้ร่วง เมื่อพลังงานที่ถ่ายทอดจากการกินซาก ถูกสะสมและดูดซึมแร่ธาตุไว้ในร่างกาย เมื่อสัตว์กินซากขับถ่ายหรือย่อยสลาย แร่ธาตุเหล่านั้นจะถูกปล่อยกลับคืนสู่ดิน ทำให้พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เกิดการหมุนเวียนเป็นวัฏจักรและถ่ายทอดพลังงาน คงความสมดุล และความสมบูรณ์แก่ระบบนิเวศ
แล้วทำไมถึงได้รับฉายานี้?
วิวัฒนาการของสัตว์กินซากมีความพิเศษในเรื่องของระบบย่อยอาหาร โดยในกระเพาะอาหารจะประกอบไปด้วยน้ำย่อยที่มีความเป็นกรดรุนแรง และโปรโตซัวที่มีความแข็งแรง คอยกัดกินแบคทีเรียและเชื้อโรคต่าง ๆ ช่วยลดการแพร่กระจายของโรคระบาดในสัตว์ป่า และตัดวงจรการขยายพันธุ์ของเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในตัวสัตว์ป่านั้น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นให้หมดไป
สัตว์กินซากมีอะไรบ้าง?
สัตว์กินซากนั้นเป็นได้ทั้งสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น แร้ง เหี้ย ไฮยีนา แมลง ฉลาม หนอน เต่า มด กุ้ง หรือแม้แต่หอยก็ตาม
แต่ในประเทศไทย สัตว์กินซากที่คนมักจะนึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ คงหนีไม่พ้น ตัวเงินตัวทองหรือเหี้ย และพญาแร้ง ที่ถูกพูดถึงและได้ยินชื่อกันบ่อย ๆ
‘เหี้ย’ (Asian water monitor) สัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ ในไทยสามารถพบได้ 4 ชนิด ได้แก่ (1) เหี้ย (Varanus salvator) (2) เห่าช้าง (Varanus rudicollis) (3) ตะกวด (Varanus bengalensis) และ (4) ตุ๊ดตู่ (Varanus dumerilii) เหี้ยมีฟันคล้ายใบเลื่อย เหมาะสำหรับการบดอาหารที่มีความอ่อนนุ่มอย่างเนื้อสัตว์ และซากสัตว์โดยเฉพาะ ปัจจุบันจำนวนประชากรเหี้ยในธรรมชาติมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากถูกล่าเพื่อเอาเนื้อและหนัง การมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อตัวเหี้ย รวมไปถึงการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย
แร้ง (Vulture) ในประเทศไทยมี 5 ชนิด ได้แก่ (1) พญาแร้ง (Sarcogyps calvus) (2) แร้งเทาหลังขาว (Gyps bengalensis) (3) แร้งสีน้ำตาล (Gyps tenuirstris) (4) แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย (Gyps himalayensis) และ (5) แร้งดำหิมาลัย (Aegypius monachus)
พญาแร้ง แร้งเทาหลังขาว และแร้งสีน้ำตาล เคยหายไปจากประเทศไทย เนื่องจากระบบสาธารณสุขของประเทศไทยดีขึ้น ไม่มีซากสัตว์ตายเกลื่อนเหมือนอดีต และการทำเกษตรที่ใช้สารเคมี ส่งผลกระทบต่อแร้งโดยตรง ปัจจุบันมีพญาแร้งอยู่ในกรงฟื้นฟูและสวนสัตว์นครราชสีมาเพียงแค่ 7 ตัวเท่านั้น ส่วนแร้งชนิดอื่น ๆ เรามักจะพบจากการพลัดหลงจากการอพยพผ่านประเทศไทย
และด้วยลักษณะเฉพาะทางกายภาพที่มีจะงอยปากที่หนาและแข็งแรง สามารถฉีกกินเอ็นและพังผืดได้อย่างง่ายดาย จนไม่มีสัตว์ชนิดอื่นเทียบเคียงได้
ถ้าสัตว์กินซากหายไปจะเกิดอะไรขึ้น?
ถ้าโลกนี้ไม่มีสัตว์กินซาก จะเกิดผลกระทบเชิงลบเป็นลูกโซ่ รบกวนความสมดุลของระบบนิเวศ สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม และท้ายที่สุดจะย้อนกลับมาที่มนุษย์โดยตรง ที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านสุขอนามัย เกิดโรคระบาดเพิ่มมากขึ้น ผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนภัยความมั่นคงทางอาหารที่อาจจะเกิดขึ้นได้
หากมีสัตว์กินซากในบริเวณใด นั่นหมายความว่า บริเวณนั้นต้องประกอบไปด้วยผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ย่อยสลายอย่างแน่นอน คือการมีอยู่ของห่วงโซ่อาหาร หัวใจสำคัญของระบบนิเวศ เกิดการถ่ายทอด และการหมุนเวียนพลังงาน ผืนป่าเกิดความสมดุล และคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ
อ้างอิง
- รู้จักนักเก็บกวาดในระบบนิเวศ | ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่นและสัตว์อพยพ (MoZWE)
- โครงการ “การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย”
- Scavenger
- Scavenger | education.nationalgeographic.org
ผู้เขียน
สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว