‘เอลนีโญ’ อาจจบเร็วกว่าที่คาด ไม่เกินพฤษภาคมนี้

‘เอลนีโญ’ อาจจบเร็วกว่าที่คาด ไม่เกินพฤษภาคมนี้

ในปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ หลายคนน่าจะรับรู้ถึงความแปรปรวนของสภาพอากาศที่มีต้นเหตุหลักมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญกันไปบ้างแล้วไม่มากก็น้อย หลังจากที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO ได้ออกมาเตือนรัฐบาลทั่วโลกถึงสถานการณ์เอลนีโญที่อาจสร้างผลกระทบต่อประเทศต่างๆ และได้คาดการณ์ไว้ว่าเอลนีโญจะสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม 2567 นี้ 

เราทุกคนอาจได้รับของขวัญปีใหม่เป็นข่าวดีเรื่องสถานการณ์เอลนีโญที่ดีขึ้น หลังจากที่มีการคาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม 2567 ออกมาในช่วงปีที่ผ่านมา ทว่าตอนนี้มีข้อมูลชิ้นใหม่เผยออกมาว่า เอลนีโญมีโอกาสที่จะสิ้นสุดในเดือนเมษายนแทน

ปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงอย่างไร 

สำหรับผู้อ่านที่ไม่ทราบมาก่อน ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนตัวและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปทวีปอเมริกาใต้แทน ด้วยเหตุนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียจึงจะขาดฝนและแห้งแล้ง แต่ฝั่งอเมริกาใต้จะฝนตกมากขึ้นแทน

เอลนีโญอาจก่อให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนในหลายพื้นที่ด้วย เช่น พื้นที่ที่เคยมีฝนตกชุก อาจต้องเผชิญหน้ากับภัยแล้งหรือขาดแคลนน้ำ หรือในทางกลับกันอาจมีฝนตกหนักมากขึ้นในพื้นที่มีฝนตกหนักอยู่แล้ว จนทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ ตามมา

เอลนีโญอาจสิ้นสุดเร็วกว่าที่คิด? 

อย่างไรก็ตามข้อมูลล่าสุดได้เผยให้เห็นว่าปรากฏการณ์เอลนีโญอาจจบเร็วกว่าที่คาดไว้ ทางด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไดัออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว พร้อมอธิบายเกี่ยวกับสถานการณ์โลก ณ เวลานี้ ผ่านข้อความในเฟสบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

“เอลนีโญอาจจบเร็วกว่าที่คาด ข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่า อาจสิ้นสุดในเดือนเมษายนแทนที่จะเป็นพฤษภาคม เมื่ออุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลสูงกว่าปรกติไม่เกิน 0.5 องศา หมายความว่าเราจะเข้าสู่ neutral หรือสภาพปรกติ ซึ่งเรื่องนั้นดีครับ ทำให้ฤดูฝนปีหน้าของเราน่าจะดีขึ้น ได้น้ำมาต่อยอดจากหน้าแล้ง

ในส่วนของทะเล ภาพกราฟฟิกทำให้เห็นน้ำร้อนผิดปรกติในอ่าวไทยในช่วงต้นปี แต่จะจบลงเร็วขึ้น อุณหภูมิน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกช่วงกลางปีเห็นเป็นสีฟ้า ผลกระทบจากปะการังฟอกขาวอาจน้อยลง ช่วงสำคัญเหลือแค่มีนาคม/ต้นเมษายน แต่อาจไม่ลากยาวไปพฤษภาคม

หากให้ดูจากข้อมูลตอนนี้ ปะการังอาจฟอกขาวบ้าง แต่อาจไม่รุนแรงต่อเนื่องจนตายเป็นพื้นที่กว้าง

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างขึ้นกับการคาดการณ์ด้วยข้อมูลตอนนี้ ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ก็ไม่ตรงเป๊ะ คำถามสำคัญอีกอย่างคือสภาวะปรกติ neutral จะนานแค่ไหน

หลังจากโลกร้อนขึ้น สถานการณ์ช่วงที่ผ่านมา สภาวะปรกติอยู่ไม่ค่อยนาน จากนั้นก็จะกลายเป็นเอลนีโญหรือลานินญา ซึ่งเรื่องนั้นสุดคาดเดา มิอาจบอกได้ 

ที่บอกได้คือเดือนมกราคมอาจมีแววหนาวนิดๆ หน้าร้อนเมืองไทยร้อนแน่นอน แต่อาจไม่ถึงขั้นร้องกรี๊ดๆๆ อย่างที่กังวลกัน ซากุระในญี่ปุ่นอาจบานตามเวลาปรกติ มิใช่บานเร็วเหมือนปีนี้ (2023) จะมาอัปเดทเรื่อยๆ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเป็นระยะ แต่ถือว่าเป็นข่าวดีที่เอลนีโญ “อาจ” ไม่ยาวนานอย่างที่เคยคาดไว้ครับ”

แม้ว่าจะเข้าสู่สภาวะปรกติ แต่ก็อาจไม่ได้นาน เพราะโลกร้อนขึ้น?

จากที่ผศ.ดร.ธรณ์ได้ตั้งคำถามว่า “เราจะอยู่ในสภาวะปรกติได้นานแค่ไหน ภายใต้ภาวะโลกร้อน” นำไปสู่การตระหนักได้ว่า ความแปรปรวนทั้งหมดนี้เป็นผลกระทบของภาวะโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันนักวิชาการหลายสำนักได้ออกมายืนยันแล้วว่า โลกของเราเกินคำว่าร้อน แต่เข้าสู่ ยุคโลกเดือด (Global Boiling) ไปเสียแล้ว 

ในหลายปีที่ผ่านมาภาวะดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบมหาศาลต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก รวมถึงมนุษย์เองด้วย ทั้งนี้ผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นยังเป็นสัญญาณเตือนถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งเอลนีโญที่เราได้พูดถึงไปนั้น ก็คือหนึ่งในผลกระทบที่เกิดขึ้นของภาวะโลกเดือดเช่นเดียวกัน

การกระทำของมนุษย์เป็นปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบนโลก มีหลายกิจกรรมที่มีส่วนในการสร้างภาวะโลกเดือด แม้วันนี้เราจะได้รับข่าวดีเรื่องเอลนีโญ แต่เราก็ไม่ควรละเลยต่อภาวะโลกเดือดที่เกิดขึ้น ถึงเวลาที่เราต้องตระหนักต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและเร่งหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้ว มิฉะนั้น เราอาจไม่มีข่าวดีเกี่ยวกับโลกของเราเหมือนดั่งวันนี้เลยก็ได้ 

อ้างอิง 

ภาพประกอบ

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ