ผ่านไป 1 ปี กับคดีรัชฎา จากการโยกย้ายที่ยุ่งเหยิง – สู่เส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ

ผ่านไป 1 ปี กับคดีรัชฎา จากการโยกย้ายที่ยุ่งเหยิง – สู่เส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 : รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ได้รับการแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

25 กุมภาพันธ์ 2565 : รัชฎาส่งหนังสือเวียน เรื่อง ซักซ้อมแนวทางปฎิบัติการมอบหมายให้ข้าราชการไปปฎิบัติราชการ แจ้งให้ข้าราชการในสังกัดถือปฎิบัติ

28 กุมภาพันธ์ 2565 : เกิดคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายผู้อำนวยการสำนักสาขา ผู้อำนวยการส่วนหัวหน้าอุทยานขนาดใหญ่ทั่วประเทศ จำนวนหลายคำสั่ง โดยออกคำสั่งแต่งตั้งทุกๆ 3 วัน

หลังจากรัชฎาเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน – ก็มีผู้ร้องเรียนไปยังนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ถึงเรื่องการรับเงินในคำสั่งการโยกย้ายตำแหน่งของรัฎชา ซึ่งผู้ร้องเรียนจำนวนมาก ต่างก็มาจากอดีตผู้บังคับบัญชา เพื่อน และรุ่นน้องของนายชัยวัฒน์

ปลายเดือนตุลาคม  2565 : ชัยวัฒน์ได้เข้าพบรัฎชาที่ห้องทำงาน จึงทราบว่ามีการเรียกเก็บเงินจากหน่วยงานฯ ที่นายชัยวัฒน์เป็นผู้บังคับบัญชาอยู่จริงและเงินดังกล่าวให้นายชัยวัฒน์เป็นผู้นำส่ง

27 ธันวาคม 2565 : เจ้าหน้าที่ ปปป. ได้นำกำลังเชิญตัวรัชฎา พร้อมกับยึดของกลางในห้องทำงาน ณ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ทั้งหมด 21 รายการ เป็นเงินสดจำนวน 4,843,300 บาท และดำเนินคดีตามกฎหมาย

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พิจารณาแล้วเห็นว่าเหตุการณ์​ดังกล่าว นับเป็นเรื่องร้ายแรงของหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่ปกป้อง ดูแล ผืนป่าและสัตว์ป่าจากเงินภาษีของประชาชน

เนื่องจากการเรียกรับผลประโยชน์ และเรียกเอารายได้จากโครงการต่างๆ แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ล้มเหลวและขาดประสิทธิภาพของการบริหารหน่วยงาน ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่า โดยเฉพาะความล้มเหลว​ในการสรรหา แต่งตั้ง บุคลากรในองค์กรที่เหมาะสม เข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

ซึ่งถือว่ามีความสำคัญที่สุดในการดูแล ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ผืนป่าและสัตว์ป่า หากไม่เร่งดำเนินการแก้ไข จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านบุคลากร และการบริหารงานในองค์กรได้เลย

มูลนิธิ​สืบนาคะเสถียร จึงได้ออกแถลงการณ์ทั้งหมด 4 ฉบับด้วยกัน โดยเสนอแนวทางการคืนความชอบธรรมให้บุคลากร การบริหาร​งานในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และทวงถามความคืบหน้าในการคืนความชอบธรรมให้บุคลากร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็ม

ฉบับที่ 1 : คืนความชอบธรรมให้บุคลากรและการบริหาร​งานในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ฉบับที่ 2 : ทวงถามความคืบหน้าการคืนความชอบธรรมให้บุคลากร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ฉบับที่ 3 : การคืนความชอบธรรมให้บุคลากรและการบริหาร​งานในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ฉบับที่ 4 : คืนความชอบธรรมให้บุคลากร กรมอุทยานฯ

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 – นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาและคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Path) โดยหนึ่งในนั้นมีนายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (ในขณะนั้น) เป็นที่ปรึกษา โดยมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะแนวทางในการจัดทำเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Path) ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

สำนักแผนงานและสารสนเทศ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการจัดการประชุมเพื่อพิจารณาเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ(Career Path)  มาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาที่สำคัญอยู่ 2 ประเด็น

1. เรื่องของการพิจารณาคุณสมบัติของบุคลากรที่จะเข้ามารับตำแหน่งต่างๆ

2. การพัฒนาหลักสูตร เพื่อให้บุคลากรที่จะมาดำรงตำแหน่ง ต้องผ่านการฝึกอบรมในระดับต่างๆ ตามระยะเวลาที่กำหนด

และเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ได้มีการประชุมครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการชุดนี้ในการพิจารณาเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Path) ตำแหน่ง หัวหน้าหน่วยงานพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอชื่นชมนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่ได้มอบหมายให้ผู้ที่มีอำนาจและส่วนเกี่ยวข้อง ดำเนินการเร่งแก้ปัญหาในการคืนความชอบธรรมให้บุคลากรที่ถูกโยกย้ายอย่างไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม พร้อมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาบุคลากรเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นไปตามประสบการณ์ โดยเฉพาะการนำระบบเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Path) ที่ได้จัดทำเรียบร้อยแล้วมาพิจารณาใช้.

“หวังว่าระบบเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Path) จะช่วยแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นและได้บุคลากรที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมที่จะเข้ามาดูแลทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย และในขณะเดียวกันก็หวังว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะนำรูปแบบการทำ Career Path ไปสู่หน่วยงานอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้กระทรวงอีกด้วย เพื่อทำให้การดูแลทัรพยากรธรรมชาติมีระบบที่ดีขึ้น” นายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าว

อ้างอิง