อย่างที่ทุกคนรู้กัน ว่าโลกของเราพึ่งจะประกาศเข้าสู่ภาวะโลกเดือดไปได้ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และคงเห็นกันแล้วว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลกมากมายเพียงใด
มนุษย์ทุกคนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็น สภาพอากาศแปรปรวน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การสูญพันธุ์ของสัตว์บางชนิด การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ทั้งหมดนี้คือปัญหาที่ทั่วโลกต่างเริ่มให้ความสนใจ และพยายามเรียกร้องให้ภาครัฐและนานาชาติเร่งจัดการปัญหาเหล่านี้โดยด่วน ก่อนที่โลกของเราจะเปลี่ยนไปตลอดกาล
นั่นจึงนำไปสู่การประชุม COP28 ซึ่งการประชุมในครั้งนี้พึ่งปิดฉากลงอย่างเป็นทางการเมื่อวัน 12 ธันวาคม ที่ผ่านมา หลังได้ข้อสรุป การบรรลุข้อตกลง “เปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล” และนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 28 ปี ที่ทั่วโลกบรรลุข้อตกลงเรื่องสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศร่วมกัน
การประชุม COP28 ว่าด้วยเรื่องใดบ้าง?
COP28 หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 ถูกจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 ณ นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
การประชุมมีตัวแทนจากรัฐภาคี ผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชนจากนานาประเทศเข้าร่วม กว่า 197 ประเทศทั่วโลก
วัตถุประสงค์หลักของการจัดการประชุม COP คือ การขอความร่วมมือให้ประเทศสมาชิกมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศอย่างมีส่วนร่วม เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยไม่ให้พุ่งสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส
ทว่ารายงานช่องว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ในปีนี้ช่องว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังสูงกว่าปีที่แล้วอยู่ถึง 1.2 เปอร์เซ็นต์ และหากภาคีเครือข่ายยังไม่เร่งจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง ระดับอุณหภูมิเฉลี่ยอาจพุ่งสูงถึง 3 องศาเซลเซียส ซึ่งหากไปถึงจุดนั้นแล้วก็ยากจะแก้ไข
อย่างไรก็ตามการเจรจาในครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่เรื่องของการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อันเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาก๊าซเรือนกระจก ทว่าการเจรจากลับไม่ได้ราบรื่นเท่าไหร่นัก เพราะมีหลายประเทศที่มีความไม่พอใจต่อประเด็นการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะกล่าวถึงในส่วนถัดไป
ความไม่พอใจของประเทศสมาชิก ต่อการเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
แม้ในตอนต้นเราจะกล่าวไปว่า ประเทศสมาชิกบรรลุข้อตกลงการเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ การประชุมกลับถูกยุติกะทันหันและยืดเยื้อกินเวลาไปกว่า 2 สัปดาห์ เกิดเสียงแตกออกเป็น 2 ฝั่ง ต่อกรณีการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
หลายชาติมีความเห็นตรงกันว่าตัวการสำคัญของการเกิดก๊าซเรือนกระจกคือ เชื้อเพลิงฟอสซิล ถึงแม้ปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนจะเติบโตและมีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ยังคงเป็นพลังงานหลักของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก หรือก็คือพลังงานกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของโลกเป็นพลังงานที่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้นพวกเขาจึงมองว่าหากจะต้องแก้ไข ก็จำเป็นต้องไปแก้ไขที่ต้นเหตุ ซึ่งหมายถึงการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
ในส่วนฝ่ายประเทศสมาชิกกลุ่ม OPEC และประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มต้องใช้พลังงานฟอสซิลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กลับมองว่าการเลิกใช้ไปเลย เป็นความต้องการที่สุดโต่งเกินไป และยากเกินจะยอมรับได้
การต่อสู้ในครั้งนี้ไม่ใช่แค่การโต้เถียงกันของทั้ง 2 ฝ่าย ตามที่ Gustavo Petro ประธานาธิบดีโคลอมเบียกล่าวไว้ในที่ประชุมว่า “เรากำลังเผชิญกับการต่อสู้กันระหว่างนายทุนเชื้อเพลิงฟอสซิลกับชะตากรรมมนุษย์ ซึ่งจะมีแค่ฝ่ายเดียวเท่านั้นที่จะชนะและอยู่รอดต่อไปได้”
ผลลัพธ์การประชุม COP28
ท้ายที่สุดแล้วประเทศผู้เข้าร่วมประชุมต่างเห็นถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงผลักดันให้ทั่วโลกเร่งผลิตพลังงานหมุนเวียนให้เป็น 3 เท่า ภายในปี 2030 นี้
โดยเปลี่ยนจากการใช้คำว่า ‘ยุติ’ เป็น ‘เปลี่ยนผ่าน’ แทนในข้อตกลง เพื่อให้ได้การยอมรับจากผู้แทนนานาชาติ จนทำให้ที่ประชุมสามารถบรรลุข้อตกลง “เปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล” โดยถือเป็นก้าวสำคัญของทุกประเทศที่จะมุ่งไปสู่การยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลกันต่อไป
John Kerry ทูตพิเศษด้านสภาพอากาศของสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “นี่ถือเป็นคำมั่นสัญญาระหว่างประเทศที่สำคัญมาก และถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ที่โลกของเราจะเริ่มเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล”
จุดยืนของไทยบนเวที COP28
ทางด้านประเทศไทย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลง ในช่วงการประชุมระดับสูง (High-level Segment) เพื่อตอกย้ำจุดยืนของประเทศไทย โดยเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันแก้ไข พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า ทุกวันนี้คนไทยตื่นตัวเรื่องโลกร้อนกันมากขึ้น และภาครัฐได้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ค.ศ. 2030 ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ภาครัฐยังเร่งผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย และในท้ายที่สุดประเทศไทยจะสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้
การประชุม COP28 ทำให้เราได้เห็นผู้นำทั่วโลก เริ่มมีความกระตือรือร้นในเรื่องของสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้เจาะจงไปที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่มันสร้างผลกระทบต่อทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก รวมถึงตัวมนุษย์เองด้วย ครั้งนี้เรายังคาดหวังอีกว่ารัฐบาลไทยจะจริงจังและเร่งจัดการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้ดีมากยิ่งขึ้นต่อไป
อ้างอิง
- Cop28 failed to halt fossil fuels’ deadly expansion plans – so what now?
- COP28 forced into overtime as fossil fuel phase-out divides countries
- ที่ประชุม COP28 บรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ ‘เปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล’
- สรุปประชุม COP28 ไทยย้ำจุดยืน ทุกคนต้องร่วมลงมือทำ
ภาพประกอบ