หลังจาก ‘ป๊อก’ พญาแร้งเพศผู้จากสวนสัตว์โคราช และ ‘มิ่ง’ พญาแร้งเพศเมียจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ใช้ชีวิตอยู่ในกรงฟื้นฟูฯ ร่วมกันราว 2 ปี
จนทั้งสองได้เริ่มมีการผสมพันธุ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 และมีการผสมพันธุ์หลังจากนั้นอีกอย่างน้อย 3 ครั้ง
จนถึงวันนี้ 17 ธันวาคม 2566 ทางผู้ดูแลพญาแร้งแจ้งว่า กล้องวงจรปิดได้จับภาพขณะที่พญาแร้งกำลังวางไข่ ณ หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
เรายังคงต้องลุ้นต่ออีกว่าไข่ใบนี้มีจะเชื้อผสมอยู่หรือไม่ แต่ก็นับเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญของโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งฯ
วัตถุประสงค์ โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ
1. เพื่อฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย บริเวณพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
2. เพื่อศึกษาข้อมูลทางด้านชีววิทยาและนิเวศวิทยาของแร้งในพื้นที่ถิ่นอาศัยในธรรมชาติ
3. เพื่อสำรวจประชากรนกกลุ่มแร้งในพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมเพื่อเป็นแหล่งพันธุกรรม
4. เพื่อใช้เป็นโครงการต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งประจำถิ่นอีก 2 ชนิด ของประเทศไทย ได้แก่ แร้งเทาหลังขาวและแร้งสีน้ำตาล
5. สร้างเครือข่ายการอนุรักษ์นกกลุ่มแร้งทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ
ทุกท่านสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทยเพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติในการช่วยฟื้นฟูประชากรพญาแร้งให้กลับคืนมาผ่านการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยและการฟื้นฟูประชากรได้ที่ โครงการพญาแร้งคืนถิ่น ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส รัตนาธิเบศร์ บัญชีเลขที่ 679-6-72119-5