หากจะพูดถึงการขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีการต่อสู้ยาวมาจนมาถึงปัจจุบัน แก่งเสือเต้น คงจะเป็นหนึ่งในชื่อแรก ๆ ที่ใครหลายคนน่าจะเคยได้ยิน หรืออาจเคยฟังผ่าน ๆ มาบ้าง
เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2566 หนึ่งในผู้ชุมนุม สมัชชาคนจน พี่หนาน หรือ คุณดนัย บุญทิพย์ ได้ให้สัมภาษณ์ ในกรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 คนตำบลสะเอียบ และผู้ที่ได้รับผลกระทบออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่ต้องการเขื่อนแก่งเสือเต้นมาโดยตลอด คุณดนัย บุญทิพย์ หรือพี่หนาน เคยมาร่วมสมัชชาคนจนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2562 แต่การต่อสู้เรื่องการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น เริ่มมากว่า 30 ปี มาแล้ว “เฮาสู้เรื่องก๋านคัดค้านเขื่อนมาตั้งแต่คนรุ่นก่อนนี้ละ ตั้งแต่สมัยป้อกำนันเส็ง ป้อน้อยคม ป้อสมมิ้ง ตั๋วอ้ายกะเป็นคนรุ่นต่อมาตี้ออกมาสู้เรื่องนี้”
พี่หนาน ถือเป็นหนึ่งในคนหนุ่มสาวที่ต่อสู้เรื่องการคัดค้านเขื่อนมาตั้งแต่สมัยคนรุ่นพ่อ จนปัจจุบันพี่หนานอายุ 47 ปีแล้ว ก็ยังคงต้องต่อสู้คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่พร้อมจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น แทบจะทุกครั้งที่เกิดปัญหาน้ำแล้งหรือน้ำท่วม บริเวณลุ่มน้ำยมตอนล่าง
และแทบจะทุกรัฐบาลมักจะยกเอาประเด็นการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมา เพื่อใช้เป็นวิธีการแก้ปัญหา
เมื่อปี พ.ศ. 2532 ชาวบ้านรู้ว่าจะมีโครงการสร้างเขื่อนแม่น้ำยม (เขื่อนแก่งเสือเต้น) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม ซึ่งหากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาจริง จะท่วมพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน ทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทำลายป่าสักทองกว่า 21,400 ไร่ ป่าเบญจพรรณทีมีไม้สักทองขึ้นหนาแน่น (มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด, 2538) ทำลายความหลากหลายของพืชพรรณและสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติแม่ยม และทำลายแหล่งอาศัยของนกยูงพันธุ์ไทยที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง
โครงการแก่งเสือเต้น แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ กก-อิง-ยม-น่าน มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขภัยแล้ง และน้ำท่วมบริเวณลุ่มน้ำยมตอนล่าง โดยได้มีการปรับ และเปลี่ยนแปลงโครงการมาหลายครั้ง เพื่อลดกระแสต่อต้านของสังคม เนื่องจากโครงการจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา ทั้งในด้านสัตว์ป่าและด้านป่าไม้
มีชาวบ้านอีก 4 หมู่บ้าน 1,000 กว่าครัวเรือน ใน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จะต้องถูกอพยพ (ดนัย บุญทิพย์ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566)
ถึงแม้ ณ เวลานั้น ประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ที่กล่าวใน หมวดที่ 3 ส่วนที่ 4 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้รัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดประเภทและขนาดโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
แต่ในทางปฏิบัติโครงการที่ต้องมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมคณะรัฐมนตรีก็มักจะไม่ให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จนก่อให้เกิดความขัดแย้งของประชาชนในสังคมและระหว่างประชาชนกับรัฐมากขึ้น (พิสิษฐุ์ ณ พัทลุง, 2539)
เพราะโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น นอกจากเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน โดยมีหมู่บ้านที่ต้องอพยพ 4 หมู่บ้าน คือ ดอนชัย ดอนชัยสักทอง ดอนแก้ว และแม่เต้น ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ และอีก 9 หมู่บ้านที่ ต.สระ และ ต.บ้านมาง อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ก็จะได้รับผลกระทบด้วย
ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ กับหน่วยงานภาครัฐ ไม่เพียงแค่การไม่ให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ ณ เวลานั้นภาครัฐยังมีการละเมิดต่อ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนแปลงและแก้ไขเป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ฉบับที่ 2
งานวิจัยของ พิสิษฐ์ ณ พัทลุง ในปี พ.ศ. 2539 ได้ศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น พบว่า การพิจารณาโครงการไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
โดยรัฐได้ละเมิดพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ถึง 2 ครั้ง ใหญ่ ๆ ด้วยกัน ซึ่ง ณ เวลานั้นใช้ประเทศไทยยังใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535
1. การละเมิดโดยรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ทั้ง ๆ ที่รายงานยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังไม่ได้แก้ไขตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการด้านพัฒนาแหล่งน้ำ
2. คณะรัฐมนตรีในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรีได้นำโครงการเข้าสู่การพิจารณาและมีมติอนุมัติให้ออกแบบและก่อสร้างโครงการทั้ง ๆ ที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังไม่ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และผลการศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นของการอพยพราษฎร ผลกระทบต่อระบบนิเวศและผลกระทบด้านธรณีวิทยา และแผ่นดินไหวยังไม่เสร็จสิ้น
มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ปี พ.ศ. 2538 ได้ตั้งข้อสงสัยในประเด็นแผ่นดินไหว โดยระบุว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของโลก
ซึ่งประเด็นนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาดูแล เพราะถึงแม้รายงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณเขื่อน และมีแผนที่แสดงว่าเขื่อนอยู่บนรอยเลื่อนของโลก แต่ได้สรุปว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ไม่น่าเกิดขึ้น และเสนอให้เป็นข้อควรคำนึงในการออกแบบก่อสร้าง หมายความว่าต้นทุนการก่อสร้างเขื่อนอาจจะสูงกว่าที่คาคไว้ หรืออาจจะไม่ควรสร้างเลยถ้าผู้เชี่ยวชาญเห็นว่ามีความเสี่ยงสูง
ในประเด็นแผ่นดินไหว เอกรัตน์ รอดบำรุง ได้ศึกษา การวิเคราะห์ข้อมูลแผ่นดินไหว ปี พ.ศ. 2543 ของโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 โดยการติดตั้งโครงข่ายเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ทำให้สามารถรู้ถึงความถี่ในการเกิดและตำแหน่งของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียง
ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า การเกิดแผ่นดินไหวท้องถิ่นในพื้นที่โครงการ และบริเวณใกล้เคียงยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยมีขนาดเล็กน้อยถึงปานกลางและเกิดกระจายตัวอยู่ทั่วไป
แม้จะมีนักวิชาการออกมาแสดงข้อห่วงกังวลต่อโครงการดังกล่าว แต่โครงการก็ยังถูกนำเข้าสู่การพิจารณา
การกระทำดังกล่าวของคณะรัฐมนตรีจึงเป็นการละเมิดต่อกฎหมายเสียเอง อย่างไรก็ตามในขณะนั้น ประชาชนไม่สามารถที่จะนำกรณีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อเอาผิดได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดบทลงโทษไว้
ไม่เพียงแต่เกิดความขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่กับหน่วยงานรัฐเท่านั้น ยังเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและกลุ่มที่ต้องการเขื่อน
เพราะหากมองภาพรวมโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น นั้นเป็นโครงการที่มีต้นทุนสูง ที่จะต้องใช้เงินภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศ และผลกระทบไม่เพียงแต่กับประชาชนในจังหวัดแพร่เท่านั้น แง่ของการสูญเสียทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นต้นทุนของคนในสังคมโดยรวม จึงมีกลุ่มนักอนุรักษ์จากภายนอกชุมชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ
ฝั่งกลุ่มอนุรักษ์มองว่ารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทางการมีความลำเอียงที่จะทำให้ผลตอบแทนของเขื่อนสูงกว่าปกติ และมิได้ให้ความสำคัญต่อผลกระทบของสิ่งแวคล้อมอย่างครบถ้วน
นอกจากนี้ยังมีข้อขัดแย้งอันเกิดจากการแก่งแย่งผลประโยชน์จากลำน้ำแม่ยมระหว่างผู้ที่ลักลอบตัดไม้ในพื้นที่อ่างหากไม่สร้างเขื่อน และผู้ที่จะได้สัมปทานไม้ในอ่างในกรณีที่สร้างเขื่อน
ตลอดจนความไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่าจะดูแลผู้ถูกอพยพอันเนื่องจากการสร้างเขื่อนได้อย่างเหมาะสมเพราะเห็นตัวอย่างจากประสบการอดีตของผู้ถูกอพยพรุ่นก่อนๆ (มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด, 2538)
ผลการศึกษาความคิดเห็นของประชาชนจังหวัดแพร่ต่อข้อเสนอให้มีการสร้างเขื่อน “แก่งเสือเต้น” ในปี พ.ศ. 2541 ของสมบัติ สุภาภา โดยการสุ่มตัวอย่างประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จำนวนทั้งสิ้น 164 ราย ในพื้นที่จังหวัดแพร่ ผลการศึกษาพบว่า
“กลุ่มคนที่มีภูมิลำเนาในเขตตำบลสะเอียบ อำเภอสองจังหวัดแพร่ มีความเห็นคัดค้าน ร้อยละ 85.4” และร้อยละ 95.8 อยู่ในภูมิลำเนานี้มานานกว่า 20 ปี
ที่ผ่านมาชาวบ้านช่วยกันเก็บข้อมูลในพื้นที่ และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่ามาโดยตลอด เช่น การบวชป่า การทำแนวกันไฟป่า เพราะว่าสมัยก่อนป่าไม้บริเวณหมู่บ้านถูกสัมปทาน และชาวบ้านตำบลสะเอียบ ถูกมองจากสังคมภายนอกว่าเป็นตัวการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งชาวบ้านมองว่าตนเองกลายเป็นแพะรับบาปของนายทุนในพื้นที่
ดังนั้น เพื่อเป็นการพิสูจน์ตัวเองกับสังคมภายนอกว่ามิใช่ผู้ทำลายป่า และรวมถึงเพื่อฟื้นฟูป่าแม่ยม ชาวบ้านชุมชนตำบลสะเอียบจึงรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ป่าแม่ยมขึ้น เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ที่เป็นฐานทรัพยากรในการดำรงชีวิตของชุมชน ประกอบกับได้รับอิทธิพลจากกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในช่วงทศวรรษ 2530 ในปี พ.ศ. 2534 ชุมชนตำบลสะเอียบจึงตั้งกลุ่มอนุรักษ์อย่างเป็นทางการและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อปกป้องและฟื้นฟูป่าแม่ยม และแสดงเจตนารมณ์ในการเปลี่ยนจากคนตัดไม้มาเป็นกลุ่มอนุรักษ์ดูแลผืนป่าพื้นที่ป่าแม่ยม เป็นพื้นที่ป่าสักธรรมชาติขนาดใหญ่ที่เคยตกอยู่ในสภาวะอันตรายจากการสัมปทานป่าไม้ในอดีต (พันธรักษ์ ผูกพันธุ์, 2562)
“ตอนนั้นเฮาเอาเครื่องมือ เลื่อย ขวาน เอาไปก๋องรวมกั๋น แล้วนำไปมอบหื่อกับ กองทัพภาคที่ 3 เฮาต้องก๋านแสดงจุดยืนว่าเฮาจะดูแลรักษาป่า” (ดนัย บุญทิพย์ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566)
กิจกรรมต่างๆ ถูกจัดขึ้น เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนในการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น และเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์ดูแลรักษาป่าแม่ยม เช่น การบวชป่า การสืบชะตาป่า สืบชะตาแม่น้ำ
เนื่องจาก ชาวสะเอียบได้ตั้งถิ่นฐานเป็นตําบลหนึ่งของอําเภอสอง ชาวบ้านปลูกบ้านเรือนอาศัยตามลําห้วยสาขาลุ่มน้ํายม โดยทั่วไปชุมชนรอบนอกมักเรียกหมู่บ้านต่าง ๆ ในตําบลสะเอียบว่า ‘ชาวสะเอียบ’ และเป็นชุมชนเก่าแก่อายุมากกว่า 200 ปี (ชิตา สังข์แก้ว และ โกวิทย์ พวงงาม, 2558, น. 120)
ทรงชัย ทองป่าน ระบุว่า ในปัจจุบันชุมชนยังคงมีความเชื่อดั้งเดิม โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องผี วัฒนธรรมประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ถูกนำมาดัดแปลงเพื่อสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม เช่น พิธี สืบชะตาป่า สืบชะตาแม่น้ำยม ที่ถูกดัดแปลงมาจากพิธีสืบชะตาหมู่บ้าน นอกจาก พิธี สืบชะตาป่า สืบชะตาแม่น้ำยม
สิ่งที่ชาวสะเอียบทำควบคู่กันมา คือ พิธีบวชป่าสักทอง บริเวณป่าสักทองที่ได้รับการบวชแล้ว จะถือเป็น ‘เขตพระสงฆ์’ ส่วนต้นไม้สักที่ได้รับการบวชจะเป็น ‘พระรูปหนึ่ง’
พิธีกรรม ที่กล่าวมาข้างต้นกลายมาเป็น ‘พิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์’ ที่ใช้ในการแสดงออกถึงการที่คนในชุมชนมีจิตสำนึกหวงแหนในทรัพยากรท้องถิ่นของตน และเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ใช้ในการเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มคนไม่เอาเขื่อนแก่งเสือเต้น (2560, น. 68-69)
ภาพกิจกรรม สืบชะตาป่า สืบชะตาแม่น้ำ แก่งเสือเต้น ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ของกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน กลุ่มตะกอนยม ชมรมสำนึกรักบ้านเกิด โฮงเฮียนแม่น้ำยม มหาลัยป่าสักทอง
ภาพกิจกรรมการบวชป่า ที่ชาวบ้านและกลุ่มนักศึกษา นักอนุรักษ์ องค์กรทางศาสนา ณ ป่าสักทอง แก่งเสือเต้น ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
ภาพพิธี ‘หงายเมือง’ ที่จัดขึ้นบริเวณ หอเจ้าเมือง การเข้ารับตำแหน่งใหม่ของกำนันตำบลสะเอียบนั้น ได้มีพิธีกรรมสำคัญอันหนึ่งที่ต้องจัดขึ้นก่อนเข้ารับตำแหน่ง เรียกว่า ‘พิธีหงายเมือง’ ซึ่งปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณในยุคเจ้าหลวงมาจนถึงปัจจุบันนี้ การให้ผู้สมัครตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกล่าวสาบานต่อขื่อบ้าน ว่าจะไม่สนับสนุนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จะเป็นแนวร่วมกับชาวบ้านในการรวมกันคัดค้านเขื่อน (ดนัย บุญทิพย์ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566)
“ถ้าใครผิดคำพูดเมื่อได้รับตำแหน่ง ขอให้มีอันเป็นไป”
หอเจ้าเมือง ที่ชาวบ้านมีความเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิต ของผีหรือวิญญาณบรรพบุรุษ ที่ต้องให้ความเคารพนับถือ ใช้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในการสาปแช่ง เผาพริกเผาเกลือบวงสรวง เผาหุ่นผู้ที่ออกมาสนับสนุนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
หอเจ้าเมืองจึงกลายเป็นสถานที่เชิงสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมเพื่อการต่อสู้เคลื่อนไหวของกลุ่มซาวบ้านตำบลสะเอียบ ในความเห็นของ ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ การทำพิธีชื่อเมืองนั้น สะท้อนให้เห็นว่า ชาวบ้านได้ทำการรื้อฟื้น หรือสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมาใช้ในการต่อสู้ และสร้างให้พื้นที่สะเอียบมีความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ชาวบ้านมีความชอบธรรมในการอยู่ใน พื้นที่ของตนเองต่อไป (2543, น. 164)
กิจกรรมที่จัดขึ้นในพื้นที่ สามารถสร้างการมีส่วนรวมของหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งภายนอกประเทศและระหว่างประเทศ ให้เข้ามาร่วมกับชาวบ้าน และเป็นการสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์
ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ระบุว่า การจัดพิธีแต่ละครั้งชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์ระดับสูงในอำเภอ มาเป็นประธานในการทำพิธี มีการนำสื่อมวลชนและนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน นักศึกษา เข้าร่วมพิธี และเข้าดูสภาพป่าแม่ยม ชาวบ้านยังได้เชิญตัวแทน ข้าราชการระดับสูงของอำเภอ และจังหวัดเข้าร่วมพิธีด้วย ในบางครั้งยังได้เชิญศิลปินท้องถิ่นที่มี ชื่อเสียงมาร้อง ‘ค่าว’ ที่เน้นไปที่การอนุรักษ์ป่า
การจัดพิธีเช่นนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงการที่ชาวบ้านปรับใช้พิธีกรรมของท้องถิ่นเพื่อประสานความร่วมมือองค์กรต่างๆ รวมทั้งราชการในการอนุรักษ์ป่าและเผยแพร่ให้สังคมเห็นความอุดมสมบูรณ์ของป่าในบริเวณที่จะได้รับผลกระทบหากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นการนำเอาพิธีกรรมท้องถิ่นมาใช้ เพื่อให้อำนาจที่มีตามที่ต่างๆ หันมาสนับสนุนชาวบ้าน (2546, น. 165)
กิจกรรมที่กล่าวมามาข้างต้นเป็นเพียงการยกตัวอย่างวิธีการทางวัฒนธรรม ที่ชาวสะเอียบ หรือกลุ่มราษฏรรักษ์ป่าใช้ในการแสดงออกว่าไม่ต้องการให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และเป็นแสดงเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์ดูแลรักษาป่าแม่ยม ยังมีอีกหลายวิธีการ ที่ชาวสะเอียบ หรือกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ใช้ในการแสดงออกและเคลื่อนไหวทางสังคม มาตลอด 30 กว่าปี เช่น การยื่นหนังสือคัดค้าน การออกแถลงการณ์ การประท้วง การปิดชุมชน
นอกจากการเคลื่อนไหวทางสังคมขององค์กรภายในชุมชนแล้ว กลุ่มราษฎรรักษ์ป่ายังได้เข้าร่วมกับเครือข่ายองค์กรการเคลื่อนไหวทางสังคมนอกชุมชนทั้งในระดับภูมิภาค และระดับประเทศ
เครือข่ายระดับภูมิภาค (ภาคเหนือ) เช่น เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เครือข่ายพิทักษ์แม่น้ำยม
เครือข่ายระดับประเทศ เช่น คณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 16 สถาบัน
คณะกรรมการนักศึกษาบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มูลนิธิโลกสีเขียวในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัตฒนาฯ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชพรรณแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กลุ่มสมัชชาคนจน
“พอมีน้ำท่วม น้ำแล้งเขาก่อยกเรื่องแก่งเสือเต้นขึ้นมาเป๋นประเด็น”
ชาวชุมชนสะเอียบพยายามเสนอแผนสะเอียบโมเดล เป็นการจัดการน้ำขนาดเล็ก อ่างแม่สะกึ๋น 2 และอ่างห้วยเป้า แต่ก็ยังกังวลว่า แม้ว่าจะมีแผนสะเอียบโมเดล แต่โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอาจจะถูกรื้อฟื้นอีกครั้งเมื่อปัญหาน้ำแล้ง หรือน้ำท่วมเกิดขึ้น ซึ่งภาครัฐอาจให้เหตุผลว่า สะเอียบโมเดลใช้แก้ปัญหาไม่ได้
ดังนั้น การมาร่วมสมัชชาคนจนในครั้งนี้ กรณีปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น มีประเด็นในการเจรจา 3 ข้อ คือ
1. ขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น หรือเขื่อนยมบน – เขื่อนยมล่าง (แม่น้ำยม) จังหวัดแพร่
2. การดำเนินโครงการพัฒนาใดๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมจะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาบนทิศทางความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงในชีวิตของประชาชน
3. รัฐบาลต้องบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมในรูปแบบ “สะเอียบโมเดล” ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
ผลการเจรจาสมัชชาคนจน พ.ศ. 2566 กรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
การเจรจาในรอบแรก เมื่อวันพุธที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2566 : กลุ่มผู้เดือดร้อน กรณีปัญหา ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าเจรจากับ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หนึ่งในนั้น มีกรณีปัญหาของโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยตัวแทนที่เจรจา ได้คำตอบจาก ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับจะกำหนดลงพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาความเดือดร้อนเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาต่อไป แต่ยังระบุไม่ได้ว่าจะลงพื้นที่ได้วันไหน
การเจรจาในรอบที่ 2 เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2566 : ไม่มีตัวแทนจาก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เข้าร่วมประชุมจึงไม่สามารถหาข้อยุติได้ จึงมีนัดหมายในการประชุมครั้งต่อไป ในวันที่ 24 ต.ค. 2566
การเจรจาในรอบที่ 3 เมื่อวันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2566 : มีการเจราจาเพื่อยกเลิกเขื่อนท่าแซะ และเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้ข้อตกลงในการเจรจา คือ กรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช) มีความเห็นร่วมกัน ว่าจะยกเลิกเขื่อนท่าแชะ และเขื่อนแก่งเสือเต้น และจะนำเข้าที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เพื่อขอมติคณะรัฐมนตรี รับรอง
อ้างอิง
- ยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวทางสังคมของ “กลุ่มไม่เอาเขื่อนแก่งเสือเต้น”
- แก่งเสือเต้น : ปัญหาอยู่ที่ไหน
- การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น
- การวิเคราะห์ข้อมูลแผ่นดินไหว ปี พ.ศ. 2543 ของโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น
- การศึกษาความคิดเห็นของประชาชนจังหวัดแพร่ต่อข้อเสนอให้มีการสร้างเขื่อน “แก่งเสือเต้น”
- ปัจจัยการมีส่วนร่วมของประชาชน: กรณีศึกษาการจัดการป่าชุมชนศิลาแลง และป่าชุมชนสะเอียบ
- พลวัตการพัฒนาการกระจายอำนาจตัดสินใจสำหรับตัวแสดงท้องถิ่นในกระบวนการกำหนดโครงการเขื่อนขนาดใหญ่: ศึกษากรณีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น
- นิเวศวิทยาการเมืองของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทย : กรณีศึกษาโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น
ผู้เขียน
มนุษย์ผู้ใช้ชีวิตแบบเงียบๆ ที่หวานแบบเหงาๆ เศร้าแบบอุ่นๆ บางครั้งก็ใต้แสงดาว บางคราวก็ใต้แสงเทียน