ความคืบหน้า “กรณีนกแก้วโม่งกับต้นยางนา” วัดมะเดื่อ จังหวัดนนทบุรี ร่วมกันอนุรักษ์สัตว์ป่าคุ้มครองไม่ให้สูญพันธุ์

ความคืบหน้า “กรณีนกแก้วโม่งกับต้นยางนา” วัดมะเดื่อ จังหวัดนนทบุรี ร่วมกันอนุรักษ์สัตว์ป่าคุ้มครองไม่ให้สูญพันธุ์

จังหวัดนนทบุรีสามารถพบนกแก้วโม่งซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่กันเป็นฝูงใหญ่ กระจายตามวัดในหลายอำเภอ เพราะเป็นพื้นที่ที่ยังพอมีต้นไม้สูงเป็นที่อาศัยทำรังของนกแก้วโม่ง 

นอกจากนี้กลุ่มอนุรักษ์นกแก้วโม่งในพื้นที่ได้จัดทำรังเทียมเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอกับจำนวนนกในพื้นที่ และพร้อมผลักดันนกแก้วโม่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัดนนทบุรีต่อไป

การวางแผนที่จะตัดต้นยางนายืนต้นตายในพื้นที่วัดมะเดื่อ ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เกิดจากปัจจัยสำคัญที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทางวัดมะเดื่อและชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่ มีแผนที่จะตัดต้นยางนาดังกล่าว พระครูนนทปริยัติวิสุทธิ ให้ข้อมูลว่า “เหตุที่ต้องตัดเนื่องจากเกรงว่าต้นยางนายืนต้นตายต้นนี้ ซึ่งมีขนาดสูงใหญ่จะหักโค่นลงมา ทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา พื้นที่ที่ต้นยางนาจะล้มใส่มีทั้งโรงเรียนและทรัพย์สินของคนในชุมชนที่อยู่ในละแวกรัศมีของต้นยางนาดังกล่าว เพราะขนาดที่ผ่านมาแค่กิ่งจากต้นยางนาร่วงหล่นมาใส่รถของคนที่เดินทางมาทำบุญกับทางวัด ทางวัดยังต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น” 

นายนิติ ธรรมจิตต์ นักวิชาการจากสมาคมรุกขกรรมไทย ซึ่งดูแลเกี่ยวกับการจัดการต้นไม้ใหญ่ กล่าวว่า “จากการลงพื้นที่สำรวจของทีมงานพบว่าต้นยางนาต้นนี้มีอายุมากกว่าร้อยปี และยืนต้นตายมาเป็นเวลานานแล้ว สภาพในโพรงของต้นยางนาเปื่อยยุ่ยเกือบจะทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะล้มลงได้ทุกเมื่อ เนื่องจากตรวจสอบแล้วพบว่ามีรอยแตกในลักษณะขวางตามลำต้น ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายและมีความเสี่ยงสูงกับผู้คนในชุมชน รวมทั้งพระเณร และสิ่งปลูกสร้างที่อยู่รอบทิศของต้นยางนานี้ ซึ่งหากให้ตนพูดถึงความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับการประเมินต้นไม้ต้นนี้ตามที่ตนได้ศึกษามา ไม่เกี่ยวกับเรื่องการอนุรักษ์นก ตนเห็นว่าควรโค่นตัดทิ้งออกเพื่อความปลอดภัยของผู้คนและชุมชน”

จากการประเมินโดยทีมรุกขกรแล้วสรุปผลการประเมินได้ว่า จะต้องตัดต้นยางนาดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนในพื้นที่ ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ระหว่างทางวัดได้มีการซ่อมแซมตัวอาคาร มีงานก่อสร้างขนาดใหญ่ มีรถขนาดใหญ่เข้าพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ยิ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการล้มลงของต้นยางนาดังกล่าว

ที่มา : อาจารย์ ดร.ศรันย์ภัทร์ สุวรรณรัตน์ (นักวิจัย/นักอนุรักษ์นกแก้วโม่ง) ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ข้อมูลเพิ่มเติมนกแก้วโม่งในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี 

ดร.ศรันย์ภัทร์ สุวรรณรัตน์ ได้ให้ข้อมูลว่า “ในช่วงเดือน กันยายน-ตุลาคม นกแก้วโม่งจะเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์ เจาะโพรงต้นไม้ เพื่อสร้างรังวางไข่ปีละครั้ง ครั้งละ 2-4 ฟอง ซึ่งจากการศึกษาในปีนี้ (2566) พบนกแก้วโม่งมีการจับคู่แล้ว 4 คู่ อาศัยอยู่ในโพรงไม้” 

นอกจากนี้ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า จากการติดตามจำนวนประชากรของนกแก้วโม่งในจังหวัดนนทบุรี พบว่าปัจจุบันมีฝูงนกแก้วโม่งมารวมฝูงกันพักอาศัยอยู่ที่เฉพาะต้นยางนาใน 4 จุดด้วยกัน ได้แก่ 1.วัดสวนใหญ่ในอำเภอบางกรวย 2.วัดอัมพวันในอำเภอบางใหญ่ 3.วัดมะเดื่อในอำเภอบางบัวทอง 4.วัดขวัญเมืองในอำเภอนนทบุรี ซึ่งหลังนกแก้วโม่งเริ่มจับคู่ขุดโพรงทำรังแล้วก็จะเริ่มผสมพันธุ์และวางไข่ จากนั้นก็จะใช้เวลาในการฟักไข่เลี้ยงดูลูกนกอยู่ในโพรงจนกว่าลูกนกจะเริ่มออกบินหาอาหารได้ด้วยตัวเอง 

ชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์ นักอนุรักษ์นกแก้วโม่งนนทบุรี ให้ข้อมูลว่า “จะมีการติดตั้งรังเทียมที่ต้นยางนาต้นอื่นอีก 4 รัง ในพื้นที่วัดมะเดื่อ เพื่อให้นกได้ทำความคุ้นเคยกับรัง ซึ่งตอนนี้ที่วัดสวนใหญ่มี 8 รัง และวัดอัมพวันมี 4 รังแล้ว ทุกครั้งที่มีการติดตั้งจะมีการเชิญชวนคนในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยพยายามสร้างการมีส่วนร่วมสร้างจิตสำนึกกับคนในพื้นที่และหน่วยงานต่าง ๆ ให้มากขึ้น ทั้งนี้รูปแบบการจัดการที่วัดมะเดื่อจะใช้รูปแบบเดียวกันกับวัดสวนใหญ่ (วัดสวนใหญ่โมเดล) โดยจะมีรังนกแท้อยู่ตามต้นไม้และจะเสริมรังนกเทียมเข้าไปด้วยเพื่อให้เพียงพอกับจำนวนนกแก้วโม่งในพื้นที่” 

รังเทียมนกแก้วโม่งที่วัดสวนใหญ่ ที่มา : ชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์ นักอนุรักษ์นกแก้วโม่งนนทบุรี

บทสรุปจากการประชุมหาทางออก

จากกรณีที่จะตัดต้นยางนายืนต้นตายซึ่งเป็นที่ทำรังของนกแก้วโม่งนั้น ทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนนทบุรีได้จัดให้มีการประชุมเพื่อปรึกษาหาทางออกของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมวัดมะเดื่อ สรุปผลการประชุมได้ ดังนี้ 1. ให้จัดทำรังเทียมสำหรับนกแก้วโม่งติดที่ต้นไม้สูงระดับเดียวกับที่นกทำรังเพื่อเป็นการเพิ่มสถานที่อยู่อาศัยและวางไข่ของนกแก้วโม่ง (ดำเนินการแล้ว) 2. ตรวจสอบกิ่งผุและจัดการกิ่งก้านที่ผุด้านบนให้หมดป้องกันกิ่งร่วงลงมา (ดำเนินการแล้ว) 3. ส่งเสริมปลูกพืชอาหารนกแก้วโม่งบริเวณวัดมะเดื่อ ในส่วนของการอนุรักษ์นกแก้วโม่งที่วัดมะเดื่อ จะมีการประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามแผนงานต่อไป

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 นายนนท์  ไพศาลลิ้มเจริญกิจ สส. นนทบุรี ได้หารือผ่านท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้พิจารณาวาระพิเศษในการอนุรักษ์นกแก้วโม่งซึ่งเป็นนกแก้วฝูงสุดท้ายของจังหวัดนนทบุรีในพื้นที่ 3 อำเภอหลัก ได้แก่ อำเภอบางกรวย อำเภอบางบัวทอง และอำเภอบางใหญ่ พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ทางจังหวัดนนทบุรีเตรียมผลักดันนกแก้วโม่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตามนกแก้วโม่งในนนทบุรีฝูงนี้ยังต้องเผชิญกับพลวัตของเมืองอยู่ตลอดเวลา การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาเน้นไปที่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นหลัก หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาร่วมกันคิดวางแผนต่อว่าจะช่วยอนุรักษ์นกแก้วโม่งในพื้นที่ให้ยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ไม่ตัดต้นไม้ใหญ่ จัดอบรมเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ เน้นการจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องนกแก้วโม่งให้คนทั่วไปได้รับรู้และร่วมกันอนุรักษ์มากยิ่งขึ้น  

อ้างอิง

ภาพประกอบ

  • อาจารย์ ดร.ศรันย์ภัทร์ สุวรรณรัตน์ (นักวิจัย/นักอนุรักษ์นกแก้วโม่ง) ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • ชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์ นักอนุรักษ์นกแก้วโม่งนนทบุรี

ผู้เขียน

จบจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนใจการเมือง ฟุตบอล สิ่งแวดล้อม และพร้อมออกตามหาประสบการณ์ใหม่ๆ