จับตาการแถลงนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อะไรคือสิ่งที่อยากเห็น และอะไรคือข้อกังวลของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
1. มูลนิธิสืบนาคะเสถียรอยากเห็นภาพการส่งเสริมการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางในภูมิภาค ในฐานะที่มีกรมทรัพยากรน้ำ อยู่ในสังกัด แทนการพัฒนาแหล่งน้ำหรือเขื่อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่กรมชลประทาน พยายามผลักดันมาโดยตลอด ซึ่งควรจะล้มเลิกแนวคิดนี้ไปได้แล้ว
2. มีมาตรการที่ชัดเจนในการป้องกัน ดูแลรักษาพื้นที่ป่า ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ป่าลดลงอย่างต่อเนื่อง ปีล่าสุดพื้นที่ป่าลดลงเกือบแสนไร่
3. การจัดการกับ PM 2.5 ที่อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเข้าสู่ฤดูหนาว ปัญหานี้จะเกิดขึ้น(และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม) จะมีมาตรการรับมือหรือไม่ ?
4. เรื่องเร่งด่วนในการแก้ปัญหาที่ดินชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ที่ยังไม่จบ เนื่องจากกฎหมายลำดับรองยังคาราคาซังมาเกือบจะห้าปีแล้ว ควรต้องรีบดำเนินการ
5. แต่หากมีประเด็นการเสนอนโยบายแปลงพื้นที่จัดสรรตามโครงการ คทช. มาออกเอกสิทธิ์ส่วนบุคคล เดาได้เลยว่าจะเป็นจุดจบของรัฐบาลชุดนี้ทันที (ตัวอย่างจากปี 2535 รัฐบาลถึงกับต้องยุบสภาจากกรณีการออก ส.ป ก. 4-01 โดยมิชอบ)
6. อยากเห็นความโปร่งใสในการบริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นที่มีนโยบายให้ทุกกรมในสังกัด นำการจัดทำเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Path) มาใช้อย่างจริงจัง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อต้านคอร์รัปชั่นเพราะ “คอร์รัปชั่นคือการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่รุนแรง”
7. การผลักดันงบประมาณรัฐบาล เพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการสวัสดิภาพ ผู้พิทักษ์ป่า ถือเป็นบุคลากรของกระทรวง ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ป่า อย่างเสียสละ เพื่อปกป้องความมั่นคงด้านทรัพยากรให้กับคนไทยทุกคน โดยเรื่องนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีต้นเรื่องเสนอสำนักงบประมาณอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า
8. ระบบกฎหมายกลไกการตรวจสอบทางสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (SEA/EIA/EHIA) กระบวนการพิจารณา รวมถึงกลไกตรวจสอบการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA Monitoring) ภายหลังจากได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการไปแล้วอย่างจริงจัง และมีโครงสร้างหน่วยงานที่จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ