สืบ นาคะเสถียร จุดเทียนเล่มแล้วเล่มเล่าที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อนั่งเขียนเอกสารวิชาการเริ่มต้นเสนอให้ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลก ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เอกสารวิชาการกองโตถูกเปิดอ่านเพื่ออ้างอิงในงานสำคัญชิ้นสุดท้ายของชีวิต เพื่อเสนอให้โลกรับรู้คุณค่าแห่งผืนป่าที่โอบล้อมลำห้วยทับเสลาและลำห้วยขาแข้ง ที่ลำเลียง น้ำไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง
เรื่องสำคัญที่ สืบ นาคะเสถียร ยกขึ้นมาในเอกสารวิชาการฉบับนั้น ประกอบไปด้วย
1. ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เป็นป่าผืนสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดที่ยังเหลืออยู่ของประเทศไทย และเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ข้อมูลการสำรวจยังไม่สมบูรณ์ที่สุดเพราะแม้จะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร แต่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ยังคงเป็นหนึ่งในพื้นที่ป่าที่มีคนเข้าถึงได้น้อยที่สุดและถูกรบกวนน้อยที่สุดของประเทศไทย และปัจจุบันยังนับได้ว่ามีขนาดใหญ่กว่าพื้นที่คุ้มครองอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2. ด้านทิศเหนือและทิศใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ยังเชื่อมต่อกับแนวพื้นที่คุ้มครองที่สำคัญอื่นอีก และยังเชื่อมต่อกับป่าผืนใหญ่ในประเทศพม่า
3. ภัยคุกคามในพื้นที่บริเวณนี้ คือการถูกสัมปทานเพื่อทำไม้โดย บริษัทค้าไม้ในประเทศไทย
4. สัตว์ชนิดต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในหุบเขากำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะเกือบทุกหุบเขาในประเทศไทยถูกเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชน การทำธุรกิจค้าไม้ หรือการสร้างเขื่อน ซึ่งยังเหลือแต่จุดสำคัญคือพื้นที่หุบเขาของแม่น้ำแควใหญ่ตอนบน และหุบห้วยขาแข้ง
5. สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ถือเป็นป่าผืนสุดท้ายของสัตว์กลุ่มนี้ในประเทศไทย และอาจจะเป็นพื้นที่อนุรักษ์เพียงแห่งเดียวในประเทศที่มีขนาดใหญ่พอที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สุดที่จะสามารถดำรงชีวิตรอดในระยะยาว ณ ที่แห่งนี้
6. ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ยังเป็นพื้นที่แห่งเดียวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่อย่างเช่น เสือโคร่ง ที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ถูกรบกวน
ถัดจากนั้น ประเทศไทยได้ดำเนินการเสนอให้ผืนป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกกับยูเนสโกสำเร็จ นับเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534
กว่าสามสิบปีที่ผ่านมาพื้นที่มรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้มีการพัฒนากระบวนการทำงานอนุรักษ์จนเป็นต้นแบบหลายประการของการอนุรักษ์ป่าของประเทศไทย
และเป็นพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จของการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับโลก หากยกตัวอย่างความสำคัญของการพัฒนาการทำงานของการจัดการในมาตรฐานที่เป็นพื้นที่ตัวอย่างในระดับมรดกโลกอาจจะยกตัวอย่างผลงานที่สำคัญได้ดังต่อไปนี้
1. หน่วยพิทักษ์ป่าและโครงการต่างๆ ตามแผนแม่บทการจัดการพื้นที่ ได้รับการดำเนินการเพิ่มจำนวนบุคลากรและหน่วยพิทักษ์ป่าตามแผนการจัดการอย่างเป็นระบบจนครบถ้วนภายในไม่กี่ปีหลังจากได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก
2. สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำยืนยันผลงานวิจัยว่าป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง มีประชากรเสือห้วยขาแข้งมากขึ้นอย่างนี้แสดงว่าการทุ่มเทรักษาป่าที่ผ่านมาได้ผลดี ซึ่งหมายความว่า หากมีเสือมากสืบขยายพันธุ์แบบนี้ เหยื่อของเสือ และพืชพรรณต่างๆ ก็สมบูรณ์ ตอนนี้ป่าแห่งนี้กลายเป็นความหวังและตัวอย่างของการอนุรักษ์เสือโคร่งของโลก นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการสำรวจพบว่าเสือจากห้วยขาแข้งกระจายออกไปสู่พื้นที่ป่าใกล้เคียงได้หลายปีที่ผ่านมาแล้ว
3. ชุมชนที่อยู่ประชิดห้วยขาแข้งเกือบทุกชุมชนมีป่าชุมชนของหมู่บ้าน และร่วมเป็นเครือข่ายอนุรักษ์ป่าร่วมกับห้วยขาแข้ง เป็นตัวอย่างการจัดการพื้นที่กันชนรอบป่าอนุรักษ์
4. การจัดการชุมชนกลางป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในโครงการจอมป่าได้ผลดี ชุมชนกับเจ้าหน้าที่อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ชุมชนไม่มีการขยายเขตออกไปนอกกติกาที่ตกลงกันมาหลายปี ตอนนี้แนวทางดำเนินการได้ถูกขยายผลไปสู่การจัดการชุมชนทั่วประเทศ
5. การลาดตระเวนเชิงคุณภาพที่ได้ทดลองทำกันมาหลายปีที่ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่ วันนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อนุมัติงบประมาณและโครงการขยายผลครอบคลุมทั่วประเทศเช่นกัน
6. แนวคิดการดูแลสวัสดิภาพสวัสดิการให้พิทักษ์ป่าที่เริ่มกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่ากันในช่วงนั้น บัดนี้ในระดับรัฐบาลเห็นความสำคัญเพิ่มการดูแลและจัดตั้งมูลนิธิเพื่อผู้พิทักษ์ป่า เพื่อเพิ่มเติมขวัญและกำลังใจ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม
จากความสำเร็จที่ผ่านมามูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์ที่ทำงานสนับสนุนการอนุรักษ์พื้นที่ห้วยขาแข้ง และขยายผลไปสู่ทั้งกลุ่มป่าตะวันตกในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมาร่วมกับองค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงกรมป่าไม้ และมีความเห็นว่าบัดนี้มีความพร้อมในการขยายพื้นที่มรดกโลกจากป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งออกไปสู่พื้นที่ในกลุ่มป่าตะวันตก โดยอาจจะพิจารณาเสนอให้ทั้งกลุ่มป่าขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หรือ ขึ้นทะเบียนในพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน ดังเอกสารฉบับนี้