ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา นอกจากงานเฝ้าระวังติดตามคัดค้านโครงการ นโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่า ตลอดจนการปฏิบัติการในภาคสนามรอบผืนป่าตะวันตกในโครงการต่างๆ แล้ว มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังคงเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในการสื่อสาร เพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวสารด้านผืนป่า สัตว์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์ เพื่อรายงานสู่สาธารณะ
โดยในปีนี้ ฝ่ายสื่อสารองค์กรได้จัดทำเว็บไซต์ seub.or.th ขึ้นใหม่ เพื่อจัดหมวดหมู่เนื้อหาได้ง่ายต่อการเข้าถึง รวมทั้งการพัฒนาให้สามารถรองรับการเปิดอ่านได้ง่ายในทุกทางที่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้
ตลอดทั้งปี 2561 มูลนิธิสืบฯ ได้ผลิตเนื้อหาลงในเว็บไซต์ทั้งสิ้น 469 บทความ ในทุกหมวดหมู่ต่างๆ ทั้งรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ข้อมูลเกร็ดความรู้ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผืนป่าและสัตว์ป่า ฯลฯ ซึ่งยังไม่นับรวมผลงานอีกหลายชิ้นที่นำเสนอเฉพาะบนหน้าเฟสบุ๊คองค์กร
ในวาระครบรอบปีของการทำงานในหน้าที่งานสื่อสารเพื่อการอนุรักษ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอรวบรวมบทความเด่นตลอดปี 2561 นำมาให้อ่านกันอีกครั้ง และถือเป็นการทบทวนเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในรอบปี ตลอดเรื่องราวที่สาธารณชนให้ความสนใจในปี 2561 นี้
1. โชคร้าย 7 ประการของนายเปรมชัย
ถือเป็นข่าวใหญ่ในรอบปีที่สาธารณชนจับตาและให้ความสนใจกันอย่างต่อเนื่องต่อเหตุการณ์จับกุมคณะของนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริษัทอิตาเลียนไทย พร้อมพวกอีก 3คน ใจกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก พร้อมซากสัตว์ป่าอย่างเสือดำ ซึ่ง ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้สะท้อนมุมมองที่เกิดขึ้น หลังจากอัยการภาค 7 สั่งฟ้องนายเปรมชัยว่านี่คือโชคร้ายของเขา แต่ในความโชคร้ายที่นายเปรมชัยต้องเผชิญนั้นมีเหตุและผลต่างๆ ซึ่งเป็นผลของการกระทำนั่นเอง
อ่านบทความ โชคร้าย 7 ประการของนายเปรมชัย เขียนโดย ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
2. R.I.P. “หมีขอ” ที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค
อีกหนึ่งเหตุการณ์สะเทือนความรู้สึกของสังคม เมื่อการล่าสัตว์ป่านั้นยังคงมีข่าวปรากฎออกมาอยู่เรื่อยๆ แม้ว่าคดีเสือดำจะตกเป็นข่าวใหญ่โตในช่วงต้นปีมากมายแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ยังมีคนที่กล้าเข้าไปกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายมิเว้นพัก ซ้ำหนึ่งในผู้ถูกจับกุมยังเป็นถึงคนมีตำแหน่งสำคัญทางราชการอีกด้วย
อ่านบทความ R.I.P. “หมีขอ” ที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค เขียนโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
3. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น มิตรหรือศัตรู
กระแสความตื่นตัวและสนใจเรื่อง หนอนตัวแบนนิวกินี ในปี 2560 นั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจและมีการติดตามข้อมูลข่าวสารต่อเนื่อง ซึ่งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้นำเรื่องราวดังกล่าวมาอธิบายขยายข้อมูลเพิ่มเติมต่อยอดถึงเรื่อง “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” หรือ “เอเลี่ยนสปีชีส์” ในเชิงเกร็ดความรู้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นบทความในหมวดหมู่ “เกร็ดความรู้” ที่ได้รับการสืบค้นและมีผู้สนใจเข้าอ่านมากที่สุดในปี 2561 นี้
อ่านบทความ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น มิตรหรือศัตรู เขียนโดย พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
4. นกเงือกไทย 13 ชนิด
บทความเชิงข้อมูลความรู้ที่อธิบายถึงลักษณะ จำแนกข้อแตกต่างระหว่างนกเงือกเพศผู้และเพสเมีย ถิ่นที่อยู่อาศัย ตลอดจนสถานะของนกเงือกทั้ง 13 ชนิดที่พบในผืนป่าประเทศไทย ถือเป็นอีกหนึ่งบทความที่ได้รับความสนใจและถูกสืบค้นเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับเรื่องเอเลี่ยนสปีชีส์
อ่านบทความ นกเงือกไทย 13 ชนิด เขียนโดย ฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
5. ความทรมานของลูกนกอัลบาทรอส จากขยะพลาสติก
ประเด็นเรื่องสถานการณ์ขยะพลาสติก เป็นหนึ่งในเรื่องราวที่ถูกกล่าวถึงกันมากตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในเรื่องผลกระทบที่มีต่อสัตว์ ลูกนกอัลบาทรอส ก็เป็นสัตว์อีกหนึ่งชนิดที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาตรงนี้ มูลนิธิสืบฯ ได้ถอดภาพสารคดีเรื่อง Albatross เป็นตัวหนังสือ ซึ่งกล่าวโดยสรุปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นต่อ ลูกนกอัลบาทรอส “มันเป็นความตายที่ไม่คู่ควร”
อ่านบทความ ความทรมานของลูกนกอัลบาทรอส จากขยะพลาสติก เขียนโดย พัชริดา พงษปภัสร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็น 5 บทความเด่นที่มียอดผู้เข้าอ่านสูงสุดและมากกว่าบทความอื่นๆ ขณะเดียวกันพบว่าตลอดทั้งปีข่าวสารเกี่ยวกับการติดตามคดีเสือดำก็ได้รับความสนใจเป็นจำนวนมากและได้รับข้อคิดเห็นเป็นจำนวนมากที่ขอให้มูลนิธิสืบฯ รายงานเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามได้ทาง ซีอีโออิตาเลียนไทยล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
และจากคดีดังกล่าวนั่นเอง ทำให้ บทความเรื่อง สัตว์ป่าสูญพันธุ์เพราะใคร ที่เขียนโดย สืบ นาคะเสถียร เป็นบทความที่ได้รับการเปิดอ่านมากที่สุดในหมวดหมู่เรื่องราวของสืบ นาคะเสถียร อีกด้วย
บทความเด่น | ในแต่ละเดือน ม.ค-ธ.ค. 2561 |
มกราคม | ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น มิตรหรือศัตรู |
กุมภาพันธ์ | เสือดำต้องไม่ตายฟรี |
มีนาคม | หน้าที่ในระบบนิเวศ |
เมษายน | โชคร้าย 7 ประการของนายเปรมชัย |
พฤษภาคม | เรื่องราก |
มิถุนายน | ร่างกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) |
กรกฎาคม | เปิดขึ้นทะเบียนสัตว์น้ำ 12 ชนิด ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง |
สิงหาคม | ศาลอุธรณ์สั่งพิจารณาคดี ‘ล่าเสือดำ’ |
กันยายน | รายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทย 2560-2561 |
ตุลาคม | R.I.P. หมีขอ ที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค |
พฤศจิกายน | Baimai Craft Camp เส้นทางการทำงาน 10 ปี กลุ่มใบไม้ |
ธันวาคม | สรุปเหตุการณ์ สืบพยานโจทก์ คดีล่าเสือดำ นัดแรก |