ปูแสมบกโต๊ะแดง พบปูน้ำจืดชนิดใหม่ที่จังหวัดนราธิวาส 

ปูแสมบกโต๊ะแดง พบปูน้ำจืดชนิดใหม่ที่จังหวัดนราธิวาส 

‘ปูแสมบกโต๊ะแดง’ – อีกครั้งและอีกครั้ง ที่มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่เราไม่เคยรู้จักเขามาก่อนเกิดขึ้นในประเทศไทย 

คราวนี้เป็นทีของ ‘ปูน้ำจืด’ สิ่งมีชีวิตที่มีบทบาทสำคัญในการหมุนเวีนยธาตุอาหารในระบบนิเวศ

โดยล่าสุดรายงานที่ตีพิมพ์ใน Tropical Natural History เผยให้รู้จัก ‘ปูแสมบกโต๊ะแดง’ ที่เพิ่งพบในพื้นที่ป่าพรุ บ้านโต๊ะแดง อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส

พบโดยนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.สงขลานครินทร์ และจากพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารีฯ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา Lee Kong Chian มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ 

‘ปูแสมบกโต๊ะแดง’ ชื่อวิทยาศาสตร์ Geosesarma todaeng สื่อความหมายถึงสถานที่พบปู ที่บรรยายโดยเจาะจงเพิ่มเติมได้ว่า พบตามต้นหลุมพี พรรณไม้ป่าพรุในวงศ์ปาล์ม 

ลักษณะของ ‘ปูแสมบกโต๊ะแดง’ หากดูแบบผิวเผินอาจคล้ายกับปูแสมภูเขาและปูชนิดอื่นๆ ในสกุลเดียวกัน ที่มีกระดองเป็นรูปสี่เหลี่ยม ด้านบนกระดองครึ่งส่วนหน้าและก้ามมีสีเหลืองหรือส้ม ส่วนครึ่งส่วนหลังและขาเดินมีสีเข้มเป็นสีดำ เทา หรือน้ำตาล ลูกตาสีดำแซมด้วยลายจุดสีเทา 

แต่เมื่อจำแนกจากลักษณะภายนอกของปูที่รยางค์ข้างปากที่ไม่มีแส้บนส่วนปลาย ขาเดินเรียวยาว และอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ที่เรียวยาวและส่วนปลายแบนยาว สามารถจัดเข้าไว้ในกลุ่ม G. foxi species group ซึ่งมีแหล่งอาศัยเป็นพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป 

แต่เมื่อมาพบในจังหวัดนราธิวาส จึงนับเป็นการค้นพบสมาชิกใน species group นี้ที่อาศัยอยู่ในป่าที่ราบต่ำใกล้ระดับน้ำทะเลเป็นครั้งแรก 

ลักษณะของปูแสบกโต๊ะแดงยังต่างจากชนิดอื่นๆ ตรงที่กระดองโค้งนูนชัดเจนเมื่อมองไปทางด้านหน้าปู ส่วนท้องปล้องที่ 6 เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู และมีรายละเอียดของลักษณะอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้บางส่วนที่ต่างไป  

ปูแสมบกโต๊ะแดง

ปูแสมในสกุล Geosesarma เกือบทุกชนิดเป็นปูบกตลอดวงจรชีวิต โดยออกลูกแบบฟักเป็นตัวปูขนาดเล็กภายในส่วนท้องของแม่ปูได้โดยไม่ต้องผ่านการใช้ชีวิตเป็นตัวอ่อนระยะแพลงก์ตอนในน้ำ ทำให้ไข่มีขนาดเม็ดที่ใหญ่ แบบเดียวกับที่พบในปูน้ำจืดกลุ่มอื่นๆ 

ในส่วนที่แตกต่างออกไปคือปูสกุลนี้จะไม่ลอกคราบในน้ำ แต่จะลอกคราบได้บนที่แห้งเท่านั้น 

ซึ่งปูจะได้น้ำจากอาหารที่มันกินที่ประกอบด้วยสัตว์จำพวกแมลงและส่วนต่างๆ ของพืช และยังคงใช้แหล่งน้ำชั่วคราวที่พบได้ในป่าสำหรับการแลกเปลี่ยนน้ำในเหงือกสำหรับการหายใจ ซึ่งเป็นร่องรอยที่ยังคงเหลืออยู่ของการเป็นสัตว์น้ำ 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการพบตัวเมียมีไข่นอกกระดองของปูแสมบกโต๊ะแดง และพฤติกรรมการลอกคราบ ว่าจะเป็นไปในรูปแบบเดียวกับปูส่วนใหญ่ของสกุลหรือไม่ ยังคงต้องมีการศึกษาสำรวจเพิ่มเติมต่อไป 

ทั้งนี้ ปูแสมเป็นปูมีบทบาทสำคัญในการหมุนเวียนธาตุอาหาร โดยปูจะกินใบไม้ในป่าชายเลนเป็นอาหาร และขับถ่ายสู่สภาวะแวดล้อม ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งในการย่อยสลายอินทรียวัตถุให้มีขนาดเล็กลง และง่ายต่อการใช้ประโยชน์ของแบคทีเรีย

ที่สำคัญ ปูไม่ได้เป็นเพียงอาหารของมนุษย์ แต่ยังเป็นแหล่งอาหารของสัตว์หน้าดินจำนวนมาก โดยเฉพาะทางทะเล ปูถือเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร ที่ถ่ายทอดพลังงานไปสู่สิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่กว่า

ขณะที่ปูเองจะกินสัตว์หน้าดินขนาดเล็ก ดังนั้น ปูจุงเมือนตัวกลางในการถ่าบทอดพลังงานจากสัตว์ที่มีขนาดเล้กขึ้นไปสู่สัตว์ที่มีขนาดใหญ่ 

เป็นการเชื่อมต่อห่วงโซ่อาหารที่สมบูรณ์ในระบบนิเวศที่ปูอยู่อาศัย 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน