การหายไปของความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลต่อมนุษยชาติอย่างไร

การหายไปของความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลต่อมนุษยชาติอย่างไร

ความหลากหลายทางชีวภาพในโลกกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยง หลังจากลดลงอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ ความหลากหลายทางชีวภาพที่เปราะบางกำลังคุกคามความเป็นอยู่ที่ดีและความอยู่รอดของมนุษย์ ในช่วง 44 ปีที่ผ่านมา ระหว่าง พ.. 2513 ถึง 2557 ปริมาณประชากรสัตว์ป่าลดลงราวร้อยละ 60 ในขณะที่พื้นที่ซึ่งเหมาะสมแก่การอยู่อาศัยของสัตว์ป่าลดลงร้อยละ 22 ในช่วงเวลาเดียวกัน

จากรายงานโดยดัชนีโลกมีชีวิต (Living Planet Index: LPI) ซึ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ โดยกองทุนสัตว์ป่าสากล (WWF) อ้างอิงจากความเสี่ยงในการสูญพันธ์ของบัญชีแดงซึ่งจัดทำโดย IUCN สัญญาณน่ากังวลคือสัตว์และแมลงผสมเกสร ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มดังกล่าว ผสานกับการหายไปของผึ้งผสมเกสร และการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ในดิน อาจส่งผลต่อความสามารถของมนุษยชาติในการผลิตอาหาร

รายงานดังกล่าวยังระบุถึงดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพดั้งเดิม (Biodiversity Intactness Index: BII) เปรียบเทียบระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบันกับสมัยที่ยังมีการรบกวนจากมนุษย์เพียงเล็กน้อย รายงานล่าสุดระบุว่า ดัชนีข้างต้นลดลงจากร้อยละ 81.6 เมื่อ พ.. 2513 เหลือร้อยละ 78.6 ในปี พ.. 2557 ในระดับโลก แต่หากพิจารณาในระดับภูมิภาค เช่น เขตชีวภูมิป่าฝนร้อนชื้น จะพบการลดลงที่รวดเร็วอย่างมาก จากร้อยละ 57.3 เมื่อ พ.. 2544 เหลือเพียงร้อยละ 54.9 เมื่อ พ.. 2555 ตัวเลขดังกล่าวนับว่าน่าตื่นตระหนก เพราะการคำนวณ BII นั้นค่อนข้างอนุรักษนิยม และยังไม่รวมปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปอีกด้วย

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นภัยคุกคามที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น แต่ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพก็ยังเป็นการใช้ชนิดพันธุ์อย่างเปล่าเปลือง การเกษตร และการแปลงสภาพพื้นดิน Marco Lambertini กรรมการอำนวยการ WWF International ระบุว่า การลดลงที่น่ากังวลคือดัชนีชี้วัดได้เป็นอย่างดีถึงแรงกดดันจากกิจกรรมของมนุษย์ต่อโลก

วิทยาศาสตร์ไม่เคยฉายภาพผลกระทบของเราได้ชัดเจนไปกว่านี้ แต่กลับไม่มีการตระหนักรู้หรือการลงทุนเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา ปัจจุบัน เรามีความรู้และทางออกในการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเรากับธรรมชาติ ไม่มีข้อแก้ตัวใดที่เราจะเมินเฉยไม่ใส่ใจ

ชีวิตประจำวันของเรา สุขภาพ และความเป็นอยู่ ขึ้นอยู่กับโลกที่มีสุขภาพดี เราคงไม่มีอนาคตที่ดีและรุ่งเรืองบนโลกใบนี้ หากยังต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวน ทะเลและแม่น้ำที่หมดสภาพ ดินเสื่อมโทรม และป่าไม้ที่ว่างเปล่า โดยไม่หลงเหลือความหลากหลายทางชีวภาพ สายใยที่หล่อเลี้ยงเราในปัจจุบันเขาระบุในคำนำของรายงาน

ความหลากหลายทางชีวภาพมักถูกกล่าวถึงในแง่ข่ายใยของสิ่งมีชีวิต เชื่อมระหว่างพืช สัตว์ และเหล่าสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋ว รวมถึงระบบนิเวศ รายงานดังกล่าวระบุว่าความเสื่อมโทรมของดินทำให้เกิดการสูญเสียป่าไม้ในเขตร้อนชื้น พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงอันดับต้นๆ ส่งผลกระทบถึงหลากชนิดพันธุ์ คุณภาพของถิ่นที่อยู่อาศัย และการทำงานของระบบนิเวศ

ในงานสัมมนาของเหล่ารัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมและสาธาณสุขแห่งอาเซียน ทุกคนต่างกำลังหาทางออกในการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ทั้งในแง่การเกษตร ประมง การทำไม้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการศึกษา

ดร. Theresa Mundita S Lim ผู้อำนวยการศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพอาเซียน (ASEAN Centre for Biodiversity) ระบุว่าในการสัมมนาดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญจะมาแบ่งปันประสบการณ์และวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศเพื่อนำความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไปเป็นองค์ประกอบหนึ่งการแผนระดับชาติด้านสุขภาพ

การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ก็ไม่ต่างจากการสูญเสียวัตถุดิบในการทำยารักษาโรค เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลและบรรษัทยาจะต้องรวมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย การตัดสินใจ และโครงการดร. Lim กล่าว

มนุษย์ไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่ต้องพึ่งพาโครงข่ายชีวภาพ ไม่มีเทคโนโลยีใดที่ทำให้เราอยู่รอดได้เหมือนกับการที่ความหลากหลายทางชีวภาพเลี้ยงดูเรา เรามีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการบริโภคและอุปโภคสินค้าและบริการจากสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตเหล่านั้น เราอยู่ในยุคที่ต้องตัดสินใจว่าจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับธรรมชาติ หรือจะนิ่งเฉยแล้วปล่อยให้ความพยายามในการอนุรักษ์ล้มเหลว ทางเลือกอยู่ในมือของเราทุกคน

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Shrinking biodiversity threatens mankind โดย Maizura Ismail
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพเปิดเรื่อง Romeo Gacad / AFP Photo