หากพูดถึง ‘เยื่อไผ่’ วัตถุดิบหลักในเมนูซุปเยื่อไผ่ ต้มจืดเยื่อไผ่ หรือผัดเยื่อไผ่ หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูกับชื่อเมนูนี้กันมากนัก แต่ถ้าได้ยินคำว่า ‘เยื่อไผ่’ อาจจะเข้าใจผิดและคิดว่าเมนูเหล่านี้ทำมาจากต้นไผ่แน่ ๆ แต่ความจริงแล้ว เยื่อไผ่ไม่ได้ทำมาจากต้นไผ่แต่อย่างใด แต่เป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า ‘เห็ดร่างแห’ ต่างหาก
เห็ดร่างแห หรือ เห็ดเยื่อไผ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phallus indusiatus จัดอยู่ในอาณาจักร Fungi ไฟลัม Basidiomycota วงศ์ Phallaceae และจัดอยู่ในกลุ่มดอกเห็ดเขาเหม็น (stinkhorns)
เห็ดร่างแหมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษหลากหลายมาก ทั้ง Bamboo mushroom, Bamboo fungus, Long net stinkhorn หรือ Basket stinkhorn ซึ่งชื่อเหล่านี้ตั้งตามลักษณะเด่นที่เห็นได้ทั่วไป เช่น Bamboo mushroom มาจากวิธีการเพาะเห็ดที่ต้องเพาะเห็ดบนเยื่อไม้ไผ่ หรืออาจจะมีที่มามาจากเราสามารถพบเห็นเห็ดร่างแหได้ในป่าไผ่ ส่วนชื่อเรียก Long net stinkhorn หรือ Basket stinkhorn มาจากส่วนของหมวกเห็ดที่มีรูปร่างคล้ายกระโปรงหรือตะกร้าที่สานกันเป็นร่างแห
เห็ดร่างแห ขึ้นเป็นดอกเดี่ยว มีลักษณะดอกเป็นรูประฆังคว่ำ ยอดแหลมผิวขรุขระ สีน้ำตาลอ่อน ขนาดประมาณ 2.5 ถึง 4 เซนติเมตร กลางดอกมีปากรูและมีเมือกสีน้ำตาลอมเขียวขุ่น ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงเพื่อใช้ในการล่อแมลง ซึ่งแมลงเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยในการกระจายพันธุ์ของเห็ดร่างแหในธรรมชาติอีกด้วย
บริเวณใต้ดอกมีร่างแหสีขาวที่เกิดติดกับก้าน ยาวคลุมลงไปเท่ากับความยาวของก้าน คล้ายกระโปรงยาวสีขาว ก้านทรงกระบอก สีขาว ขนาดกว้างประมาณ 2 ถึง 3.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8 ถึง 12 เซนติเมตร ผิวก้านมีรูพรุนคล้ายฟองน้ำ ภายในก้านกลวง ส่วนสปอร์มีรูปไข่ ผิวเรียบใส ขนาดยาวประมาณ 4 ถึง 5 ไมโครเมตร กว้างประมาณ 2 ไมโครเมตร
เห็ดร่างแห มีถิ่นกำเนิดอยู่ตามพื้นที่เขตร้อนชื้น ในประเทศไทยพบการกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเกิดขึ้นตามพื้นดินที่มีเศษซาก วัสดุเก่าที่เน่าเปื่อยผุพัง และมีความชื้นสูง เช่น ใต้สวนมะพร้าว สวนยางพารา ตามป่าร้อนชื้น มีหลากหลายสีสัน ขึ้นอยู่กับชนิดหรือสายพันธุ์ บางชนิดจะมีหมวกครอบบนสุดของก้านเป็นสีดำ หรือสีเทา มีก้านและกระโปรงทั้งสีขาว สีเหลือง สีส้ม และสีแดง พบมากในช่วงฤดูฝน
ในประเทศไทยสำรวจพบเห็ดร่างแห 5 ชนิด คือ เห็ดร่างแหกระโปรงยาวสีขาว (Dictyophora indusiata) เห็ดร่างแหกระโปรงสั้นสีขาว (Dictyophora duplicata) เห็ดร่างแหกระโปรงเหลือง (Dictyophora multicolor) เห็ดร่างแหกระโปรงส้ม (Dictyophora multicolor) และเห็ดร่างแหกระโปรงแดง (Dictyophora rubrovolvata)
แต่มีเพียง 2 ชนิดเท่านั้นที่สามารถรับประทานได้ คือ เห็ดร่างแหกระโปรงสั้นสีขาว และเห็ดร่างแหกระโปรงยาวสีขาว ส่วนเห็ดร่างแหชนิดอื่น ๆ มีพิษ ไม่สามารถรับประทานได้
อ้างอิง
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- ทำความรู้จัก…เห็ดร่างแหกระโปรงยาวสีขาว หรือเห็ดเยื่อไผ่
- Phallus indusiatus (MushroomExpert.Com)
ผู้เขียน
สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว