หญ้าทะเล ถิ่นอาศัยและแหล่งอาหารชั้นดีของสัตว์ทะเล และเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนชั้นยอดของมนุษย์ 

หญ้าทะเล ถิ่นอาศัยและแหล่งอาหารชั้นดีของสัตว์ทะเล และเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนชั้นยอดของมนุษย์ 

จากเกร็ดความรู้สัปดาห์ที่แล้วที่ได้พาทุกคนไปทำความรู้จักกับน้องพะยูน ตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งไทย วันนี้แอดมินขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับถิ่นอาศัยและแหล่งอาหารสำคัญของเจ้าน้องพะยูนและสัตว์ทะเลชนิดอื่น ๆ นั่นก็คือ ‘หญ้าทะเล’ นั่นเอง 

หญ้าทะเล คืออะไร?  

หญ้าทะเล เป็นกลุ่มพืชมีดอกเพียงกลุ่มเดียวที่มีวิวัฒนาการให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในทะเลได้ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว (Monocotyledons) มีการแพร่กระจายพันธุ์อย่างกว้างขวาง หนาแน่น และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณน้ำตื้นที่มีแสงแดดส่องถึง 

หญ้าทะเลสามารถสืบพันธุ์ได้ 2 วิธี คือสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ และแบบอาศัยเพศ โดยการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ หญ้าทะเลจะแตกกิ่งก้านหรือยอดใหม่จากเหง้าหรือไรโซม (rhizome) เจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ ส่วนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศหญ้าทะเลจะผลิตดอก และมีการถ่ายละอองเกสรโดยใช้น้ำและคลื่นลมเป็นตัวพัดพา จากนั้นเมื่อมีการปฏิสนธิ ดอกตัวเมียจะพัฒนาเป็นผลซึ่งภายในมีเมล็ดที่ใช้ในการแพร่ขยายพันธุ์ต่อไปได้นั่นเอง 

การแพร่กระจาย 

ทั่วทั้งโลกเราสามารถพบหญ้าทะเลได้ประมาณ 60 ชนิด พบได้ทั่วไปทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น สำหรับในน่านน้ำทะเลไทยพบหญ้าทะเลทั้งหมด 13 ชนิด โดยในฝั่งทะเลอันดามันพบหญ้าทะเล 12 ชนิด อีกหนึ่งชนิดที่ไม่พบ คือ หญ้าตะกานน้ำเค็ม (Ruppia maritima) ซึ่งพบเฉพาะทางฝั่งทะเลอ่าวไทยเท่านั้น ส่วนฝั่งทะเลอ่าวไทย พบหญ้าทะเลทั้งหมด 12 ชนิดเช่นกัน โดยชนิดที่ไม่พบ คือ หญ้าเงาใบใหญ่ (Halophila major) ซึ่งเป็นหญ้าทะเลที่เพิ่งมีรายงานการพบเฉพาะทางฝั่งอันดามันของประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้เอง 

ข้อมูลจากการสำรวจและติดตามสถานภาพแหล่งหญ้าทะเลครั้งล่าสุด ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่า ปี พ.ศ. 2564 พบแหล่งหญ้าทะเลมีพื้นที่รวม 99,325 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 62 ของพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเลของประเทศทั้งหมด (160,628 ไร่) แบ่งเป็นมีสถานภาพสมบูรณ์ดี-ดีมาก ร้อยละ 28 สถานภาพสมบูรณ์ปานกลาง ร้อยละ 52 และมีสถานภาพสมบูรณ์เล็กน้อย ร้อยละ 20 ของหญ้าทะเล 

แหล่งอาหารที่สำคัญ 

หญ้าทะเลถือเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ทะเลนานาชนิด โดยเฉพาะปลาทะเล กุ้งทะเล และปูม้า โดยระบบนิเวศหญ้าทะเลจะมีความหลากหลายของทั้งแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ สาหร่าย และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญต่อห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศเป็นอย่างมาก นอกจากจะเป็นแหล่งอาหารสำหรับสัตว์น้ำขนาดเล็กแล้ว ก็ยังเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างเต่าทะเลบางชนิด และพะยูนอีกด้วย 

หญ้าทะเลไม่เพียงแต่จะเป็นถิ่นอาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ทะเลเท่านั้น ทว่ายังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอีกด้วย เพราะยังเป็นผู้ผลิตออกซิเจน แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นแหล่ง safe zone อย่างดีเพื่อให้สัตว์น้ำได้วางไข่และหลบซ่อนศัตรู รวมทั้งช่วยลดมลพิษในทะเล ปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้นด้วย เพราะหญ้าทะเลมีระบบรากที่คอยยึดจับ ป้องกันการพังทลายของชายฝั่งได้เป็นอย่างดี ระบบนิเวศหญ้าทะเลจึงจัดเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเลไทย 

ทว่าปัจจุบันแหล่งหญ้าทะเลกลับเป็นระบบนิเวศที่ถูกคุกคามมากที่สุดของโลก ซึ่งในแต่ละปีพื้นที่หญ้าทะเลจะลดลงถึงร้อยละ 1.5 และในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาพบว่า แหล่งหญ้าทะเลทั่วโลกได้ถูกทำลายและตายลงไปแล้วกว่าร้อยละ 29 ของพื้นที่หญ้าทะเลทั้งหมด!    

ทางเลือกหรือทางรอด 

หญ้าทะเลเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับมนุษย์ที่ได้รับประโยชน์โดยตรง เนื่องจากหญ้าทะเลถือเป็นระบบนิเวศที่ดูดซับคาร์บอนได้ดีที่สุด แม้ว่าจะมีพื้นที่น้อยกว่าร้อยละ 0.2 ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด แต่กลับกักเก็บคาร์บอนไว้ได้ถึงร้อยละ 10 ต่อปี หรือเกือบ 50 เท่าเลยที่เดียว! 

และยังรวมไปถึงระบบนิเวศทางทะเลอื่น ๆ อาทิ พื้นที่ป่าชายเลน และป่าพรุน้ำเค็ม ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ล้วนมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนในอากาศ หรือที่เราเรียกกันว่า Blue Carbon อย่างเช่น พื้นที่ป่าชายเลน สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าพื้นที่ป่าปกติมากถึง 4 เท่า พื้นที่ป่าชายเลน ป่าพรุน้ำเค็ม และแหล่งหญ้าทะเล สามารถดูดซับคาร์บอนลงไปกักเก็บไว้ในใต้ดินได้ถึงร้อยละ 50 ถึง 99 ถือเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญ และเป็นความหวังในการช่วยกักเก็บคาร์บอน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในอนาคต รวมถึงทางออกในการแก้ปัญหาโลกรวนอีกด้วย 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว