มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับอุทยานฯ แก่งกระจาน อุทยานฯ กุยบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลป่าเด็ง และองค์กรภาคีเครือข่าย ได้จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพชุมชนเพื่อจัดทำแผนลดผลกระทบจากสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ ณ. ศูนย์ประสานงานโครงการตามพระราชประสงค์ฯป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ระหว่างวันที่ 29 เมษายน 66
มีตัวแทนชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่าในพื้นที่ตำบลป่าเด็ง และ บ้านรวมไทย อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งหัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจาน และหัวหน้าอุทยานฯกุยบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้กว่า 120 คน โดยมีนายประธาน สังวรณ์ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานฯ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สาขาเพชรบุรี) เป็นประธานพร้อมกล่าวเปิดการอบรม
ทำไมจึงต้องมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการฯ
จากข้อมูลจากกรมอุทยาน พบว่ากลุ่มป่าแก่งกระจานมีประชากรช้างป่าจำนวนประมาณ 487 – 600 ตัว1 กระจายตัวอยู่ในอุทยานฯ แก่งกระจาน และอุทยานฯ กุยบุรี โดยเฉพาะพื้นที่ ตำบลป่าเด็ง อุทยานฯแก่งกระจาน มีจำนวนช้างป่าประมาณ 150 – 180 ตัว2 การอบรมฯ ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เกิด ‘แผนชุมชนเพื่อลดผลกระทบจากสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่’ โดยเฉพาะ ‘ช้างป่า’ ซึ่งเป็นปัญหาในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ในพื้นที่ตำบลป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน ซึ่งมีอยู่ด้วยกันจำนวน 10 ชุมชน ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ทั้งพืชสวน พืชไร่ และชุมชนรวมไท-ย่านซื่อ ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรติดกับอุทยานฯ กุยบุรี และเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าแก่งกระจาน และประสบปัญหาช้างป่าเข้ามารบกวนพืชผลอาสิณอย่างต่อเนื่อง และชุมชนดังกล่าวยังขาดฐานข้อมูล เช่น จำนวนช้างป่าพฤติกรรมช้างป่า รวมถึงความเสียหาย และที่สำคัญชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ยังขาดแผนการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการมีส่วนร่วมโดยตัวชุมชน จึงเป็นที่มาของการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้
ความรู้สึกของชุมชนที่มีต่อช้างป่า
ก่อนเริ่มกระบวนการได้จัดกิจกรรมสำรวจความรู้สึก ทัศนคติของผู้เข้าร่วมอบรมฯ ที่มีต่อช้าง ผ่านการเขียนลงกระดาษโพสอิท จากนั้นทำการรวบรวมข้อมูล ซึ่งโดยภาพรวมว่าผู้เข้าร่วมอบรมมีความเห็นว่า “คน กับ ช้าง สามารถอยู่ร่วมกันได้แต่ต้องมีการจัดการทั้งช้างและคน”
การอบรมครั้งนี้ได้คณะวิทยากรจากองค์กรภาคีเครือข่าย นำโดย อ.พิเชษฐ นุ่นโต และคณะจากเครือข่ายเสียงคน เสียงช้าง, สมาคมสัตว์วิทยาลอนดอน ZSL, มูลนิธิพาช้างกลับบ้าน Bring the Elephant Home Foundation, สถาบันองค์กรพัฒนาชุมชน มาช่วยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเป็นพี่เลี้ยงให้ชุมชน
เนื่องจากจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้บรรยากาศภายในห้องประชุมเต็มไปด้วยความคึกคัก เริ่มต้นจากการแบ่งกลุ่มออกเป็น 7 กลุ่มตามข้อมูลความถี่ของลักษณะพื้นที่ชุมชนที่ประสบภัยช้างป่า โดยก่อนเริ่มกระบวนการ นายสมเจตน์ จันทนา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้กล่าวกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่า “วันนี้เราจะเปลี่ยนจากเสียง บ่น เป็น เสียงบอก ผมพร้อมจะรับฟังปัญหาของทุกคน และแก้ไขไปด้วยกัน” หลังจากนั้นวิทยากรได้เริ่มกระบวนการ
กระบวนการเปลี่ยน ‘เสียงบ่น’ เป็น ‘เสียงบอก’
กระบวนการเปลี่ยนเสียงบ่นเป็นเสียงบอกนั้น อ.พิเชษฐ นุ่นโต วิทยากรจากเครือข่ายเสียงคน เสียงช้าง ได้กล่าวว่ามีองค์ประกอบ 4 อย่างด้วยกัน ได้แก่
1. รับฟัง (Empathize) วิเคราะห์ ทำความเข้าใจปัญหาของตนเองด้วยชุมชนรับฟังความรู้สึก: ผ่านกิจกรรมการทำ ไทม์ไลน์ (Timeline) และแผนที่ชุมชน เป้าหมายเพื่อให้ชุมชนประเมินสถานการณ์ ผลกระทบ การกระจายช้างในชุมชนร่วมกันเพื่อให้ชุมชนเข้าใจสถานการณ์ในเชิงพื้นที่
2. รับรู้ (Define) กำหนดปัญหาให้ชัดเจน สถานการณ์ ช้างป่าและผู้คนที่เกี่ยวข้อง: ผ่านกิจกรรมวงกลมการมีส่วนร่วม เป้าหมายเพื่อให้ชุมชนได้ระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่และบทบาทการจัดการรวมทั้งได้เห็นบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของการจัดการแต่ละฝ่าย
3. ระดมความคิด (Ideate) หาแนวทางแก้ปัญหา ให้ชุมชนกำหนดเป้าหมายระยะยาว เพื่อการจัดการในพื้นที่ร่วมกัน เป้าหมายเพื่อให้ชุมชนระดมสมองระบุกิจกรรมที่เป็นไปได้ โดยมีกระบวนการร่างแผนผังเพื่อความเปลี่ยนแปลง ระบุเป้าหมาย ผลกระทบระยะยาว ร่วมกันก่อน จากนั้นระบุผลลัพธ์ระยะสั้น เพื่อให้ชุมชนได้คิดเป้าหมายรูปธรรมที่เกิดขึ้นระดมสมองกิจกรรมที่ควรมี
4. พัฒนารูปแบบ พัฒนาต้นแบบ (Prototype) รูปแบบการจัดการของชุมชน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนารูปแบบ และต้นแบบการจัดการชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีศักยภาพในการจัดการตนเอง บนฐานความรู้ ต้นทุนทางส้งคมวัฒนธรรม และข้อมูล หลักฐานที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน
ทั้ง 4 องค์ประกอบนำมาซึ่งกระบวนการ ใช้หลักการออกแบบทางความคิด ที่เน้นไปที่การรับฟัง ทำความเข้าใจกับปัญหา ความต้องการจากชุมชน หลังจากนั้นจึงให้ชุมชนได้ระบุปัญหา ความต้องการของตน และข้อมูลสำคัญที่สอดคล้องกับรูปแบบของปัญหาและสถานการณ์ในปัจจุบัน ก่อนจะระดมสมองเพื่อสร้างทางเลือกที่สอดคล้องกับโจทยที่เป็นความต้องการของชุมชน ก่อนสร้างรูปแบบการจัดการของชุมชนจากการออกแบบร่วมกันของชุมชน และลงมือปฏิบัติ ทดลอง ประเมินผล ปรับปรุงต้นแบบ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับบริบทของชุมชน
‘เสียงบอก’ สู่แผนการลดแผนลดผลกระทบจากสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์โดยชุมชน
จากกระบวนการดังกล่าวเกิดเป็น ‘ฐานข้อมูลสถานการณ์ช้างป่า’ จากนั้นจึงระดมความคิดจากฐานข้อมูลดังกล่าวเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยการกำหนดเป้าหมายระยะยาว ของแต่ละชุมชน เช่น ‘คน ช้าง อยู่ร่วมกันอย่างสันติ’ ‘ชุมชนดี ป่าดี ช้างมีความสุข’ และกำหนดเป้าหมายระยะสั้น เช่น การลดผลกระทบจากช้างป่า การมีฐานข้อมูลช้างป่าภายในชุมชน การเพิ่มรายไห้กับชุมชน จากนั้นจึงกำหนดแผนกิจกรรมที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว เช่น การสร้างจุดแจ้งเตือนช้างป่าภายในชุมชน การปรับเปลี่ยนพืช การเฝ้าระวัง เป็นต้น
ผลจากการดำเนินกระบวนการอบรมภาพรวมของทั้งตำบลป่าเด็ง และจากกุยบุรีพบว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการปัองกันช้างป่าคือ “การเฝ้าระวัง” ถือได้ว่าเป็นวิธีการที่ได้ผลมากที่สุด รองลงคือการสร้างรั้วกึ่งถาวร คูกันช้าง, สุดท้ายคือการท่องเที่ยว กับรั้วสัญญาณเตือน ส่วนกิจกรรมจากแผนยุทธศาสตร์โดยชุมชน 3 อันดับแรก ได้แก่ การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมช้างป่า รองลงมาคือการมีเครือข่ายแจ้งเตือน สุดท้ายคือเรื่องกองทุนช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า
ทั้งหมดคือ ‘อบรมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพชุมชนเพื่อจัดทำแผนลดผลกระทบจากสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์’ กับชุมชนในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานที่ผ่านกระบวนการคิดแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และมีส่วนร่วม เปลี่ยนเสียงบ่น เป็นเสียงบอก เกิดเป็นแผนและแนวทางการลดผลกระทบจากช้างป่าแต่ละชุมชน ซึ่งจะถูกขับเคลื่อนเป็นยุทธศาสตร์ในระดับกลุ่มป่าเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งท้องถิ่น และท้องที่ นำไปใช้และประเมินผลร่วมกับชุมชนต่อไป
ผู้เขียน
กองบรรณาธิการ ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และโปรดิวเซอร์รายการ Seub Talk