ข้อมูลจากรัฐบาลสหรัฐเปิดเผยว่า อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรของโลกทุบสถิติใหม่นับตั้งแต่มีการบันทึกไว้โดยดาวเทียม สาเหตุเนื่องจากคลื่นความร้อนในมหาสมุทรทั่วโลก
นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศระบุว่าข้อมูลเบื้องต้นจากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration) หรือ NOAA แสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวมหาสมุทรอยู่ที่ 21.1 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่เดือนเมษายน ทุบสถิติอุณหภูมิสูงสุดที่ 21 องศาเซลเซียสในปี พ.ศ. 2559
“แนวโน้มในปัจจุบันดูเหมือนว่าอุณหภูมิกำลังพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง และทุบสถิติในอดีตอีกครั้ง” ศาสตราจารย์ Matthew England นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจาก University of New South Wales ให้สัมภาษณ์
ปรากฎการณ์ลานีญาที่เกิดขึ้นทั่วแถบแปซิฟิกเป็นเวลากว่าสามปีทำให้อุณหภูมิลดต่ำลงและความชื้นก็ช่วยบรรเทาผลกระทบจากแก๊สเรือนกระจก แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่าความร้อนที่พื้นผิวมหาสมุทรกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอาจมีสาเหตุมาจากปรากฎการณ์เอลนีโญที่จะเกิดขึ้นตามรูปแบบภูมิอากาศในช่วงปลายปีนี้ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภูมิอากาศเลวร้ายสุดขั้วและอาจทุบสถิติความร้อนในหน้าประวัติศาสตร์
Mike McPhaden นักวิจัยอาวุโสจาก NOAA ระบุว่า “ปรากฎการณ์ลานีญาต่อเนื่องสามปีเตรียมยุติแล้ว อากาศหนาวต่อเนื่องจากปรากฎการณ์ดังกล่าวคือสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกลดลงทั้งที่แก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น”
“เมื่อมันยุติลง เราก็อาจเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจนยิ่งขึ้น”
ช่วงเกิดปรากฎการณ์ลานีญาคือช่วงเวลาที่ลมทางภาคกลางและตะวันออกของแปซิฟิกมีความเย็น กระแสลมดังกล่าวจะส่งผลต่ออุณหภูมิโลก ในช่วงเอลนีโญ อุณหภูมิมหาสมุทรในภูมิภาคเหล่านั้นจะสูงกว่าภาวะปกติ เช่นเดียวกับอุณหภูมิโลกที่จะสูงขึ้น
จากข้อมูลของ NOAA อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยที่สูงที่สุดของมหาสมุทรโลกเกิดขึ้นพร้อมกับเอลนีโญตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ถึง 2559 ข้อมูลชุดนี้จัดเก็บโดยดาวเทียมสำรวจข้อมูลจำนวนมาก และสอบทานคุณภาพด้วยอุณหภูมิที่วัดได้จากเรือและทุ่นในมหาสมุทร โดยตัวเลขดังกล่าวจะไม่รวมอุณหภูมิจากขั้วโลก
อุณหภูมิที่สูงขึ้นมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ที่เกิดจากแก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศไม่ว่าจะมีที่มาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือการทำลายป่าต่างถูกดูดซับโดยมหาสมุทร ผลการศึกษาเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่าปริมาณความร้อนที่สะสมในมหาสมุทรมีเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งและกระทบลึกขึ้น นำไปสู่การเกิดสภาพอากาศสุดขั้ว
England หนึ่งในทีมวิจัยระบุว่า “สิ่งที่เราเห็นตอนนี้ [อุณหภูมิมหาสมุทรสูงทุบสถิติ] คือสัญญาณเตือนที่ชัดเจนเรื่องผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ต่อสภาพภูมิอากาศ” การวัดอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทร 2 กิโลกเมตรแรกแสดงให้เห็นถึงการสะสมความร้อนในส่วนบนของมหาสมุทรอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในทศวรรษที่ 1980s
Kevin Trenberth นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยบรรยากาศแห่งชาติ (National Center for Atmospheric Research) สหรัฐอเมริการะบุว่าข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าความร้อนสะสมใต้พื้นผิวมหาสมุทรลึกกว่า 100 เมตร เขาเสริมว่าความร้อนนี้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังชั้นบรรยากาศด้านบน สร้างความร้อนให้สูงขึ้นและเพิ่มพลังงานในระบบภูมิอากาศ รวมทั้งก่อให้เกิดคลื่นความร้อนในมหาสมุทร
Alex Sen Gupta จาก ศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ UNSW (UNSW Climate Change Research Centre) ระบุว่าข้อมูลจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรเพิ่มขึ้น “เกือบเป็นเส้นตรง” นับตั้งแต่ปี 1980s “สิ่งที่น่าประหลาดใจคือในช่วงสามปีที่ผ่านมา อากาศค่อนข้างร้อนทั้งที่เราอยู่ในช่วงของลานีญา แต่อากาศก็ยังร้อนอยู่ดีจนเราได้สถิติใหม่ของอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทร”
ข้อมูลชุดปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าเรากำลังเผชิญคลื่นความร้อนในมหาสมุทรระดับปานกลางถึงรุนแรงในหลายภูมิภาค อาทิ ทะเลจีนใต้ ทางใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกา รอบนิวซีแลนด์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย และทางตะวันตกของอเมริกากลาง
“การพบเจอคลื่นความร้อนในมหาสมุทรที่รุนแรงหลายแห่งพร้อมกันเช่นนี้ถือเป็นเรื่องไม่ปกติ” Sen Gupta กล่าวสรุป
แม้ว่าคลื่นความร้อนในมหาสมุทรอาจมีสาเหตุจากสภาพอากาศในท้องถิ่น การศึกษาแสดงให้เห็นว่าคลื่นความร้อนนี้มีความถี่และความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อมหาสมุทรร้อนขึ้น แนวโน้มดังกล่าวมีแต่จะเลวร้ายลงจากวิกฤติภูมิอากาศที่มีสาเหตุจากกิจกรรมของมนุษย์
- ถอดความและเรียบเรียงจาก ‘Headed off the charts’: world’s ocean surface temperature hits record high
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก