สัตว์หลายชนิดมักถูกใช้เป็นทูตสันถวไมตรีหรือตัวแทนทางการทูตในการเจริญสัมพันธไมตรีกันระหว่างประเทศ จนมีหลายฝ่ายออกมาตั้งคำถามต่อแนวทางทางการทูตนี้ว่า สมควรหรือไม่ที่สัตว์ต้องถูกใช้เป็นทูต?
ข่าวสะเทือนใจชาวไทยในช่วงนี้คงไม่พ้นเรื่องราวของ ‘พลายศักดิ์สุรินทร์’ หรือถูกเรียกในภาษาศรีลังกาว่า มุทุราชา (Muthu Raja) เป็นช้างไทยที่รัฐบาลไทยมอบให้เห็นทูตสันถวไมตรีแก่รัฐบาลศรีลังกา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 โดยรัฐบาลศรีลังกาได้โอนกรรมสิทธิ์พลายศักดิ์สุรินทร์ให้แก่วัดคันเดวิหารเพื่อทำหน้าที่ขนส่งพระบรมสารีริกธาตุ ในช่วงงานแห่พระประจำปี
เรื่องราวน่าเศร้านี้เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศว่า องค์การพัฒนาเอกชนเพื่อการคุ้มครองสิทธิสัตว์ในศรีลังกา (Rally for Animal Rights & Environmnet (RARE)) มีความกังวลต่อสุขภาพของพลาสศักดิ์สุรินทร์จากการดูแลที่ไม่เหมาะสม และจำเป็นต่อการเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน
ขณะนี้พลายศักดิ์สุรินทร์ อายุกว่า 30 ปีแล้ว มีขนาดตัวที่ผอมแห้ง กระดูกหลังโก่งนูน ผิวหนังแห้งหยาบ งายาวถึง 50 เซนติเมตร ขาหน้าด้านซ้ายผิดปกติ งอขาไม่ได้มานานกว่า 8 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังมีฝีหนองที่สะโพกด้านขวาและซ้าย มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ๆ มีหนองภายใน พบว่ามีอาการดังกล่าวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2563 แล้ว
ด้วยความที่ยืนอยู่นานเกินไปทำให้ฝ่าเท้าบางขึ้น และมีอารมณ์เซื่องซึม เครียด และตกมันได้ง่าย ทำให้ผู้ดีแลตัดสินใจล่ามโซ่เอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ไปทำร้ายคนอื่นจากการตกมัน
กระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ดำเนินการขอให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ ระหว่างที่ดำเนินการตรวจสอบ ได้พาเจ้าของควาญเช้าไทย นายทองสุก มะลิงาม ผู้เป็นเจ้าของพลายศักดิ์สุรินทร์ไปที่ศรีลังกาด้วย
เมื่อเดินทางมาถึงโรงเลี้ยงช้าง แล้วมาเห็นสภาพช้าง นายทองสุกรู้สึกเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเมื่อพ.ศ. 2541 ที่ส่งช้างตัวนี้มานั้น ช้างมีสุขภาพที่แข็งแรงและสมบูรณ์ ทว่าปัจจุบันกลับมีสภาพที่โรยราและเจ็บป่วย
นายทองสุกแสดงความคิดว่า “ถ้าหากยังปล่อยพลายศักดิ์สุรินทร์ไว้ที่ศรีลังกานั้น อาจต้องสูญเสียขาอีกหนึ่งข้างไปจากการล่ามโซ่แน่” เขาแสดงจุดยืนชัดเจนถึงความต้องการจะนำช้างกลับไทยไปรักษาให้เร็วที่สุด เพราะมีหมอ มียารักษา และเครื่องมือครบกว่าที่นี้
พูดถึงเรื่องอาหาร ก็มีส่วนอย่างมาก เพราะอาหารช้างหลัก ๆ มีแค่ขนุน และทางมะพร้าวที่ให้ทั้งก้าน และไม่ได้ตัดแบบสั้น ๆ ให้ ต่างจากที่ไทยที่มีทั้งหญ้า อ้อย กล้วยให้กิน ซึ่งมันส่งผลต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของช้างด้วยแน่นอน
นายทองสุกยืนยันแล้วว่า “เขาจะต้องกลับไปพร้อมช้างและไม่ยอมทิ้งพลายศักดิ์สุรินทร์ไว้แน่นอน เขาจะไม่ทิ้งช้างไทย ไม่ว่าจะเป็นหรือตาย จะสู้จนกว่าจะได้กลับไทย”
ทางด้านผู้เชี่ยวชาญก็ได้ลงความเห็นกันแล้วว่า จะต้องให้พลายศักดิ์สุรินทร์ หยุดเข้าร่วมเดินขบวนพาเหรดทันที และต้องเร่งนำช้างกลับไทยเพื่อรักษาต่อไป
ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ได้นำช้างไปยังสวนสัตว์เดฮิวาแล้ว เพื่อเข้ารับการรักษาเบื้องต้นและฟื้นฟูภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและศรีลังกา
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเผยว่า ขณะนี้กำลังเร่งเอกสารการส่งตัวพลายศักดิ์สุรินทร์กลับประเทศไทยมาตั้งแต่ปลายปี 2565 แล้ว แต่สาเหตุที่ยังติดอยู่คือในเรื่องของขนาดกรง จากตอนแรกที่จะส่งกลับทางเครื่องบิน แต่ด้วยขนาดตัวและอายุมากแล้ว จึงต้องส่งทางเรือแทน ซึ่งอาจใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์
ด้วยปัญหาด้านการขนส่งนั้นทำให้เกิดการทบทวนในประเด็นนี้อยู่รายรอบ เนื่องจากเครื่องบินพาณิชย์ที่สามารถขนส่งกรงขนาดใหญ่ได้มีไม่กี่ลำบนโลก และมักถูกใช้ในการขนส่งอาวุธสงครามหรือรถถัง ซึ่งอาจใช้เวลานานในการรอคิวขนส่ง ทำให้ขั้นตอนพาพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมามีความล่าช้ามากยิ่งขึ้น
ถึงแม้ว่ายังไม่สามารถนำกลับมาได้ทันทีแต่ทางทส. ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญบินไปดูแลถึงสวนสัตว์ศรีลังกาแล้ว และสถานทูตไทยก็ได้จ่ายค่าเลี้ยงดูให้เองเดือนละ 50,000 บาท เนื่องจากปัจจุบันศรีลังกาประสบปัญหาขาดแคลนเงินเลี้ยงดูจากพิษเศรษฐกิจ
เราคาดหวังว่าพลายศักดิ์สุรินทร์จะได้กลับมาสู่อ้อมกอดประเทศไทยในเร็ววัน และคิดว่ากรณีนี้อาจเป็นบทเรียนในอนาคตให้แก่มนุษย์ว่า เราต้องคิดหนักขึ้นว่า สมควรหรือไม่กับการส่งสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตไปเป็นเครื่องมือทางการทูต เพราะถ้าหากดูแลไม่ดีก็คงมีเหตุการณ์ลักษณะนี้ออกมาเรื่อย ๆ
อ้างอิง
- พลายศักดิ์สุรินทร์ ช้างไทยในศรีลังกา ถูกใช้งานจนเกือบพิการ รอวันกลับบ้าน
- เปิดใจ ควาญช้างไทย เจ้าของ “พลายศักดิ์สุรินทร์” บินไปดูแลถึงศรีลังกา
- ภาพประกอบ กระทรวงการต่างประเทศ
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ