ชวนส่อง “นโยบายสิ่งแวดล้อม” ก่อนเลือกตั้งพฤษภาคมนี้

ชวนส่อง “นโยบายสิ่งแวดล้อม” ก่อนเลือกตั้งพฤษภาคมนี้

สิ่งแวดล้อมและการเมืองเป็นเรื่องที่มาคู่กันอย่างขาดไม่ได้ การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือการแก้ไขวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ต้องอาศัยความร่วมมือกันในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาครัฐ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการออกกฎหมาย ควบคุม และจัดการกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาชน 

วันนี้เราอยากชวนทุกคนมาดูนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละพรรคการเมืองกันว่ามีนโยบายของพรรคไหนน่าสนใจบ้าง  

พรรคประชาธิปัตย์  

เริ่มกันที่พรรคประชาธิปัตย์ ที่เน้นไปที่ประเด็นเรื่อง ความยั่งยืน เชื่อมโยงกับทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ธุรกิจ การเมือง โดยต่อจากนี้ต้องมีคำว่ายั่งยืนต่อท้าย เพราะความยั่งยืนคือทิศทางโลกที่เปลี่ยนไม่ได้ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย  

พรรคประชาธิปัตย์ได้เตรียมจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษานโยบายสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม มีความเป็นไปได้ และแก้ปัญหาให้ตรงจุด เช่น การส่งเสริมการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ที่ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน จัดทำแนวเขตป่า ออกโฉนดที่ดินให้เสร็จภายใน 4 ปี ทั้งหมดนี้จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน 

พรรคเพื่อไทย  

ต่อที่พรรคพรรคเพื่อไทย มาพร้อมกับนโยบายทวงคืนอากาศสะอาด แก้ปัญหา PM 2.5 ที่ทุกต้นตอ โดยพรรคเพื่อไทยมองว่าการผลักดันพ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานจึงเป็นหัวใจสำคัญของการจะจัดการกับปัญหาฝุ่นควัน ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อวางโครงสร้างให้พร้อมต่อการรับมือ ตลอดจจนการเจรจาระหว่างประเทศเพื่อตัดปัญหาที่ต้นตอ  

พรรคเพื่อไทยได้แบ่งระยะการจัดออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น จะมีการแจ้งเตือนค่าฝุ่นล่วงหน้าและอพยพประชาชนในกรณีที่มีค่าฝุ่นสูงเกิน ระยะกลาง ประสานกับกรมชลประทานให้ปล่อยน้ำเข้านาหลังฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อเปลี่ยนตอข้าวเป็นปุ๋ยสำหรับอ้อย ร่วมกับประสานโรงงานน้ำตาลให้ใช้การตัดอ้อยไถกลบแทนการเผา ส่วนระยะยาว เน้นไปที่การบังคับใช้กฎหมาย อาทิ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ กฎหมายอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ฯลฯ และให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการให้มากที่สุด  

พรรคพลังประชารัฐ  

พรรคพลังประชารัฐนำเสนอนโยบายด้านการจัดการน้ำ โดยวางแผนจัดทำผังน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน น้ำบาดาล น้ำประปา น้ำเพื่อการเกษตร ออกมาตรการฤดูแล้งและมาตรการฤดูฝน เติมน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ เพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำพร้อมแหล่งสำรองและแหล่งน้ำทางเลือก เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก นอกจากนี้ยังมีการจัดทำแผนผังน้ำชุมชนเพื่อช่วยจัดระเบียบทางเดินน้ำทั่วประเทศให้ยกระดับการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบได้  

ถัดมาพรรคพลังประชารัฐได้มีนโยบายด้านการบริหารจัดการที่ดิน อย่าง การปฏิรูปที่ดิน คืนที่ทำกินให้ประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีที่ดินทำมาหากินและอยู่อาศัย  

พรรคก้าวไกล  

ต่อกันที่พรรคก้าวไกลที่ได้นำเสนอ นโยบายสิ่งแวดล้อมไทยก้าวหน้า เป็นนโยบายที่มุ่งเป้าไปที่การต่อสู้กับภาวะโลกร้อน โดยมีทั้งเชิงรุกและรับเพื่อรับมือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นจากวิกฤตภูมิอากาศแปรปรวน ทั้งนี้พรรคก้าวไกลยังมีความต้องการที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสิทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ให้ได้  

นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังได้นำเสนอนโยบายจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้นตอของปัญหา เช่น นโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยเปลี่ยนการเผาเป็นเงินในกระเป๋าเกษตรกร และสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปฟางข้าวเเละซังข้าวโพดแทนการเผา ส่วนด้านขนส่งที่เป็นต้นตอหลักของฝุ่นควันในเมือง พรรคได้นำเสนอแนวทางส่งเสริมการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว อย่าง การปรับปรุงการขนส่งให้สะอาดที่สุด รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัดภายใน 7 ปี หรือแม้แต่การควบคุมปริมาณรถบรรทุกในเขตเมือง เป็นต้น ทั้งนี้ด้านอุตสาหกรรมยังมีการนำกฎหมาย PRTR มาใช้เพื่อบังคับให้ทุกโรงงานเปิดเผยข้อมูลสารพิษที่อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน  

พรรคภูมิใจไทย  

พรรคภูมิใจไทยได้นำเสนอ นโยบายพลังงานสะอาด ลดรายจ่ายประชาชน โดยประชาชนทุกคนจะได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการใช้หลังคาบ้าน ติดตั้งโซล่าเซลล์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของตนเอง คิดเป็นค่าไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 450 บาท ต่อเดือน ซึ่งรัฐบาลจะติดตั้งแผงโซลาเซลล์ให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการแบบฟรี ๆ และยังมีระบบส่งกระแสไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้ขายให้แก่รัฐบาลผ่านระบบของการไฟฟ้าด้วย รวมถึงได้รับเครดิตพลังงานนาน 25 ปี  

ในส่วนของปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 อยู่ในหมวด “ให้คุณภาพชีวิตที่ดี” จะมีการตั้งทีมปรึกษาหารือกันอย่างจริงใจ และจัดการกับปัญหาฝุ่นที่ดำเนินมาต่อเนื่องอย่างจริงจัง โดยทำรถเมล์ไฟฟ้าและเรือไฟฟ้า ครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ นอกจากนี้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการโซล่าเซลล์ยังได้รับสิทธิซื้อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าบ้านละ 1 คัน ในราคา 6,000 บาท ด้วยระบบผ่อนชำระ เดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 60 เดือน และสามารถใช้เครดิตพลังงาน เติมกระแสไฟฟ้าได้ โดยไม่ต้องเสียค่าพลังงาน ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายให้แก่ประชาชน  

พรรคชาติไทยพัฒนา  

ถัดมาที่พรรคชาติไทยพัฒนาได้ประกาศ นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและพลังงาน มีทั้งหมด 6 ข้อ ประกอบด้วย (1) คุ้มครอง อนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนา (2) บริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ (3) ควบคุม และแก้ไขปัญหามลพิษ (4) วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อความยั่งยืน (5) พัฒนาคุณภาพการผลิตพลังงาน และแสวงหาพลังงานทดแทนจากทรัพยาการธรรมชาติ (6) ปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ 

นอกจากนี้พรรคชาติไทยพัฒนายังมีแนวคิด Sustainable Country for all Gens : ประเทศที่ยั่งยืนพร้อมลูกหลานไทย ด้วยการใช้ กรีน (Green) หรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลักในการขับเคลื่อนประเทศ ผ่านองคประกอบ 9 อย่าง คือ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) พลังงานสะอาด (Clean Energy) เมืองสีเขียว (Green City) สิ่งแวดล้อมสีเขียว (Green Environment) ท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism) อาหารแห่งอนาคต (Future Food) เกษตรสีเขียว (Green Agriculture) สาธารณสุขเชิงป้องกัน (Preventive Public Health) การเมืองสร้างสรรค์ (Constructive Politics)  

พรรคชาติพัฒนากล้า  

พรรคชาติพัฒนากล้า ได้นำเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อมด้านพลังงาน ที่มีความต้องการให้พลังงานนั้นถูกลง โดยต้องการรื้อโครงสร้างพลังงานใหม่ ร่วมกับแนวคิดแก้ไขสัญญาสัมปทานด้วย นอกจากนี้พรรคชาติพัฒนากล้ายังนำเสนอนโยบายรื้อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และหันมาใช้แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน แยกระบบสายส่งออกจากการไฟฟ้า เผื่อให้แต่ละบ้านขายไฟฟ้าได้  

พรรคชาติพัฒนากล้ายังได้นำเสนอ การออกแบบพันธบัตรป่าไม้ เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนและขยายพื้นที่ป่าเป็น 40% ของประเทศ รวมทั้งยังส่งเสริมการขายพืชเศรษฐกิจและคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะช่วยสร้างผลตอบแทนให้กับประชาชนในอนาคต  

พรรคไทยสร้างไทย  

ปิดท้ายกันที่พรรคไทยสร้างไทยได้นำเสนอมาตรการการจัดการกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ทั้งในภาคต่างจังหวัด และในกรุงเทพ โดยในภาคต่างจังหวัด ได้เน้นย้ำไปที่การเร่งเจรจาและสร้างความร่วมมือกันกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควันอย่างจริงจัง ตลอดจนเร่งวางแฟนดำเนินการรวมกลุ่มเกษตรกรและสนับสนุนการจัดหาเครื่องมือทางการเกษตร เพื่อลดการเผาอย่างจริงจัง อีกทั้งยังสนับสนุนให้เอกชนซื้อเศษซากผลิตผลจากการเกษตรเพื่อนำไปทำพลาสติกชีวภาพ (bioplastic) ด้วย  

ส่วนในเขตกรุงเทพฯ ต้องมีการควบคุมการก่อสร้างรถไฟฟ้า อาคารใหญ่ ให้นำเอาเศษผงปูนและวัสดุที่ทำให้เกิดฝุ่นออกจากพื้นที่ก่อสร้างในเมืองทันที เร่งวางมาตรการให้เปลี่ยนรถสาธารณะทั้งหมดให้ใช้เครื่องยนต์อีวี ทำได้ทั้งการเปลี่ยนเครื่องยนต์ ให้รถเก่า รวมทั้งกระตุ้นการใช้รถพลังงานไฟฟ้าผ่านนโยบายด้านภาษี ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเร่งผลักดันพ.ร.บ. อากาศสะอาดออกมาให้ได้เร็วที่สุด เพื่อมาจัดการกับปัญหา PM 2.5  

อ้างอิง  

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ