สถานการณ์ ซีเซียม-137 กับข้อเรียกร้องขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมต่อการจัดการปัญหาวัสดุกัมมันตรังสี

สถานการณ์ ซีเซียม-137 กับข้อเรียกร้องขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมต่อการจัดการปัญหาวัสดุกัมมันตรังสี

นับเป็นอีกสถานการณ์ที่น่าหวาดหวั่น จากกรณีที่วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137  (Cesium-137, Cs-137) ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นใน และห่อหุ้มด้วยท่อเหล็กกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 6 นิ้ว ความยาว ประมาณ 8-9 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัม ของโรงไฟฟ้าในบริษัท NOS 5a ใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี สูญหาย 

ตลอดจนตรวจพบวัสดุดังกล่าวในเตาหลอมเหล็กของโรงงานหลอมเหล็กบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากมีฝุ่นแดงจากการหลอมโลหะจำนวนมาก ปนเปื้อนวัสดุดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลและไม่นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ ตลอดจนองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมออกมาตั้งข้อสังเกตและข้อเรียกร้องต่อกรณีดังกล่าว

การหายไปของซีเซียม-137

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินนิวเคลียร์และรังสีได้รับแจ้งว่าวัสดุกัมมันตรังสีสูญหายไปจากสถานประกอบการทางรังสีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จ.ปราจีนบุรี เบื้องต้นทางศูนย์ฯ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโดยละเอียด แต่ก็ไม่พบกับซีเซียม-137 ที่หายไป 

วันที่ 14 มีนาคม สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.ศรีมหาโพธิ เข้าตรวจสอบสถานประกอบกิจการรับซื้อโลหะและโรงหลอมเหล็กขนาดใหญ่จำนวน 15 แห่ง ภายในอ.ศรีมาโพธิ ด้วยการใช้เครื่องมือตรวจวัดทางรังสีในการตรวจสอบวัสดุกัมมันตรังสี ณ เวลาดังกล่าวนั้นยังตรวจสอบไม่พบ

ในท้ายที่สุดวันที่ 20 มีนาคม เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจโรงงานหลอมเหล็กที่ใหญ่ที่สุดใน จ.ปราจีนบุรี โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้เครื่องตรวจวัดสารกัมมันตรังสีจึงพบว่าบางจุดมีสามารถตรวจจับสารบางอย่างได้แต่ไม่ระบุชนิด เจ้าหน้าที่จึงได้ประสานกับเข้าหน้าที่พลังงานปรมาณูเพื่อสันติเข้าตรวจสอบและยืนยันว่าเป็นสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 โดยมีสภาพถูกบีบอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม กองซ้อนกันเป็นชั้นสูง เตรียมการสำหรับหลอมต่อในช่วงเย็น ทำให้เจ้าหน้าสั่งปิดโรงหลอมเหล็กดังกล่าว 

นักวิทยาศาสตร์ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติชี้แจงว่า พบซีเซียมในฝุ่นแดงที่มาจากการหลอมเหล็กให้เป็นน้ำเดือด ทำให้เกิดเขม่าลอยตัวขึ้นไป เมื่อซีเซียมที่มีจุดเดือดต่ำ ก็ทำให้ระเหยไปกับเขม่าได้ง่าย ซีเซียมก็กลายเป็นผงเกลือปนเปื้อนอยู่กับฝุ่นแดงเหล่านี้ด้วย โดยฝุ่นแดงเหล่านี้ได้ถูกส่งไปขายต่อตามโรงงานต่าง ๆ อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบฝุ่นแดงที่ถูกส่งไปที่ จ.ระยอง แล้วพบว่าไม่มีซีเซียมปนเปื้อนในโรงงานดังกล่าว

อย่างไรก็ดียังมีฝุ่นแดงในส่วนที่ไปถมดินบริเวณโรงหลอมเหล็ก ทำให้ต้องดำเนินการขุดดินที่มีการปนเปื้อนดังกล่าวกลับเข้าถุงบรรจุ พร้อมกับวางแนวเขตกักกันรังสีไว้โดยรอบแล้ว  

ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยเลขาธิการสํานักงานปรมาณูเพื่อสันติ ร่วมแถลงการณ์ ฝุ่นแดงที่ปนเปื้อนรังสีซีเซียม-137 นั้นยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นวัสดุกัมมันตรังสีที่หายไปหรือไม่ เพื่อคลายความกังวลของประชาชนทางเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติชี้ว่าพวกเขาได้ตรวจสอบสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ อากาศ แล้วว่าไม่พบการปนเปื้อนของรังสีซีเซียม-137 เลย และที่สำคัญโรงงานดังกล่าวถือครองวัสดุดังกล่าวมาตั้งแต่ 2558 แล้ว ซึ่งพวกเขาดูแลดีมาตลอด มีระบบความปลอดภัยที่มีคุณภาพสูง และการจัดการที่เยี่ยมยอด จึงทำให้ทางการอนุญาตให้ใช้วัสดุนี้มาจนถึงทุกวันนี้ 

4 ข้อสังเกต สู่ 4 ข้อเรียกร้อง ขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมต่อกรณีซีเซียม-137 

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ 3 องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมไม่อยู่เฉย ทั้ง มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)  และกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) มองว่าเรายังมีสิ่งที่ต้องกังวลอยู่ เพราะวัสดุดังกล่าวไม่ใช่สารเคมีทั่วไป แต่เป็นวัสดุกัมมันตรังสีที่ส่งผลอันตรายต่อชีวิตของประชาชน โดยพวกเขาได้ตั้ง 4 ข้อสังเกตดังนี้ 

1. แท่งซีเซียม-137 ที่ใช้ในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจัดเป็นวัสดุกัมมันตรังสีอันตรายประเภทที่ 3 ตามการจำแนกของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ซึ่งเอกสารจากกรมควบคุมโรคระบุว่า เป็นแหล่งกำเนิดประเภทที่เป็นอันตรายมาก หากไม่จัดการให้ดี 

2. การหายไปของซีเซียม 127 นั้น ชี้ให้เห็นถึงความไม่รัดกุมในระบบการจัดการวัตถุอันตรายของบริษัทฯ เจ้าของโรงไฟฟ้า รวมถึงหน่วยงานราชการที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล ยิ่งกว่านั้นก็คือการปล่อยปละละเลยและละเมิดกฎหมายตามมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติในฐานะผู้ครอบครองวัสดุกัมมันตรังสีอันตราย 

3. คำอธิบายเกี่ยวกับเส้นทางการสูญหายของแท่งซีเซียม-137 มีความไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากโรงไฟฟ้าเป็นพื้นที่ปิด และยิ่งซีเซียม-137 เป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิต จึงไม่ควรที่จะหล่นหายหรือสูญไปอย่างชนิดไร้ร่องรอย 

4. การแถลงข่าวของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติที่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ฝุ่นเหล็กที่พบปนเปื้อนซีเซียม-137 นั้นมาจากแท่งซีเซียม-137 จากโรงไฟฟ้าหรือไม่ ยิ่งตอกย้ำว่าปัจจุบันยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าสารมลพิษที่อาจเกิดจากวัตถุรังสีอันตรายนี้ได้แพร่กระจายไปถึงไหนแล้ว ทำให้สังคมยังอยู่ในสภาวะความไม่รู้ 

ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การเรียกร้องต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตาม 4 ข้อเรียกร้อง ประกอบด้วย

1. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตรวจสอบการปนเปื้อน เพื่อประเมินความเสี่ยงและมีมาตรการในการแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่ชัดเจน โดยที่รัฐต้องสนับสนุนมาตรการป้องกันและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ต้องดำเนินการให้ปลอดภัย ชัดเจน และโปร่งใส

2. หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและรอบด้าน แล้วเปิดเผยความจริงต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส โดยจะต้องมีการสืบสวนและตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นับตั้งแต่ก่อนการสูญหาย จนภายหลังจากการสูญหายด้วย โดยควรที่จะต้องมีการสอบย้อนให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทาง

3. เมื่อมีการตรวจสอบและพบว่ามีการกระทำความผิด หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดหรือละเมิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด และดำเนินการให้เกิดการรับผิดชอบต่อความเสียหายและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ไม่ควรที่จะต้องใช้งบประมาณของรัฐซึ่งคือภาษีของประชาชนไปกับการดำเนินการทั้งหมดของเรื่องนี้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างและเป็นการป้องปรามเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก

4. หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องมีการสรุปบทเรียน จากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น และทบทวนช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำรอยขึ้นอีก

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการองค์กรสิ่งแวดล้อม “กรีนพีซ ประเทศไทย” ได้มาร่วมสนทนาออนไลน์ในหัวข้อ “อันตราย-ความเสี่ยง-ใครจ่าย” 

ธารา บัวคำศรี ได้ชวนตั้งคำถามต่อการให้สัมภาษณ์ของภาครัฐต่อการณีการสูญหายของซีเซียมที่ว่า ภาครัฐนั้นกำลังลดทอนความรุนแรงและเรื่องราวความฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีหรือไม่ 

เขามองว่านี้คือการตัดตอนทางนิติวิทยาศาสตร์ เนื่องจากการกระทำของภาครัฐที่ตรวจสอบพบรังสีซีเซียม-137 จาก CT-Scan เพียง 1 ครั้ง กระบวนการทุกอย่างก็แทบจะจบลงแล้ว รัฐเองก็ไม่ได้ตรวจสอบหรือสืบสวนต่อว่าวัสดุดังกล่าวหายไปได้อย่างไร เขาย้ำว่าจากการกระทำดังกล่าวของรัฐ มันค่อนข้างย้อนแย้งและขัดกับสามัญสำนึกพอสมควร 

ธาราทิ้งท้ายว่าการที่ภาครัฐออกตัวแบบนี้ ถือเป็นความพยายามในการปกป้องผลประโยชน์อุตสาหกรรมหรือไม่ พวกเขากำลังกลืนน้ำลายตัวเองอยู่หรือเปล่า ขณะที่รัฐเน้นย้ำถึงความปลอดภัยและการจัดการกับผู้ปล่อยมลพิษ แต่ภาครัฐเองก็ตอบโต้ประเด็นซีเซียม-137 ในทิศทางตรงกันข้ามกับที่พวกเขาพร่ำบอกตลอดมา 

มุมมองผู้เชี่ยวชาญต่อเหตุการณ์ซีเซียม-137 

หลังจากที่ข่าวซีเซียม-137 สูญหายถูกเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง ทำให้สังคมตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความอันตรายต่อสุขภาพหากวัสดุกัมมันตรังสีดังกล่าวรั่วไหลออกไป 

จากสถานการณ์ความแตกตื่นของสังคมต่อการข่าวซีเซียมทำให้ ผศ.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาให้ข้อมูลว่า ในปริมาณดังกล่าวนั้นน้อยมากหากเทียบกับกรณีของเชอร์โนบิลที่ระเบิด ดังนั้นประชาชนตื่นตระหนกได้ แต่ก็ต้องรับข้อมูลที่ถูกต้องในเวลาเดียวกัน 

นอกจากนี้ผศ.ดร.นภาพงษ์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า อุบัติการณ์ครั้งนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราทุกคนก็ต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และมีภูมิคุ้มกันต่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง มิฉะนั้นแล้วอาจกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตเกินไปได้ 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ