ท้องฟ้าสีครามสดใสอาจไม่มีให้คนไทยได้เห็นอีกต่อไป ทุกวันนี้เงยหน้าขึ้นไปมองท้องฟ้ากลับพบแต่หมอกควันที่ลอยตัวปกคลุมอยู่เหนือเมือง ฟ้าที่เคยสดใสกลับมัวหมอง จนแทบจะมองไม่เห็นก้อนเมฆแล้ว
ทุกครั้งที่สูดหายใจเข้าไป นอกจากออกซิเจนก็ยังมีฝุ่นควันเข้าสู่ร่างกายพร้อมกันด้วย ส่งผลให้เรามักจะมีอาการเจ็บคอ แสบจมูก หรือบางทีก็อาจจะรุนแรงจนระคายเคืองอวัยวะต่าง ๆ ของเราได้เลย
อาการเหล่านี้เกิดจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ลอยตัวอยู่ทั่วเมือง ปะปนไปกับอากาศที่เราหายใจกันเข้าไปทุก ๆ วัน ซึ่ง PM 2.5 นั้นเป็นอนุภาคฝุ่นละอองในอากาศที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 2.5 ไมครอน พวกมันเล็กมากจนสามารถแทรกซึมเข้าไปในร่างกายและทำอันตรายกับอวัยวะภายในของเรา จนอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้
PM 2.5 มีที่มาจากหลายสาเหตุ ทั้งจาก โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การคมนาคม การารจรที่หนาแน่น การเผาขยะ ไฟป่า ฯลฯ กิจกรรมของมนุษย์เหล่านี้ล้วนมีผลโดยตรงต่อคุณภาพของสภาพอากาศ
การฉีดน้ำในอากาศคงไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันที่ยั่งยืนเท่าไหร่ ปัญหาฝุ่นควันมีมิติที่ซับซ้อนมากกว่านั้น เราจึงอยากชวนทุกท่านมาติดตามสถานการณ์และการจัดการปัญหา PM 2.5 ของภาครัฐกันว่าสามารถที่จะเข้ามาจัดการปัญหาดังกล่าวได้มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ในส่วนของภาคประชาชนเองมีบทบาทอย่างไรต่อปัญหา PM 2.5 บ้าง ผ่านบทความชิ้นนี้
สถานการณ์ของ PM 2.5 ในปี 2566
สถานการณ์ของ PM 2.5 ของไทยในปี 2566 นี้ ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะบรรเทาลงเลยแม้แต่นิดเดียว มันกลับทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าปวดหัว
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยตัวเลขค่า PM 2.5 สูงเกิน 51 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ติดต่อกันมาเกิน 3 วันแล้ว ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพต่อประชาชนในพื้นที่ 15 จังหวัด ในที่นี้รวมพื้นที่กรุงเทพฯ อีก 50 เขตด้วย
โดยนพ.โอภาสกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ปริมาณของฝุ่นในปีนี้สูงกว่าปีก่อน ๆ เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่เบาบางลง ทำให้ผู้คนออกมาทำงานและเดินทางกันมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง
ส่วนภาคเหนือเป็นอีกพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝุ่นควันไม่น้อยเช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เว็บไซต์ IQ Air รายงานว่าเชียงใหม่ขึ้นแท่นเป็นเมืองที่มีฝุ่นมลพิษ PM 2.5 สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก ทั้งนี้ PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือมีสาเหตุหลักมาจากการเผาในที่โล่งแจ้ง อย่าง การเผาเพื่อการทำเกษตร เลี้ยงสัตว์ หรือการเผาขยะ
การเผาในที่แจ้งนั้นสามารถสร้าง PM 2.5 ได้มากถึง 209,937 ตัน เลยทีเดียว ซึ่่งเป็นกิจกรรมที่สร้างฝุ่นควันมากที่สุด หากเทียบกับกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การคมนาคม โรงงานอุตสาหกรรม ประกอบกับ ภูมิประเทศที่รายล้อมไปด้วยภูเขาน้อยใหญ่ ทำให้้หมอกควันเกิดการสะสมในพื้นที่ที่เรียกว่าแอ่งกระทะตรงกลางได้ดีกว่าพื้นที่อื่น ๆ
ด้วยปริมาณ PM 2.5 ที่ไม่มีท่าทีจะลดลงเลย จึงทำให้ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 5 มีนาคม 2566 พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศรวมแล้วมากกว่า 1,325,838 ราย ซึ่งกลุ่มโรคที่เจ็บป่วยสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ กลุ่มโรคตาอักเสบ และโรคหัวใจ นอกจากนี้ฝุ่น PM 2.5 ยังอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในอีกหลายด้าน และอาจรุนแรงขึ้น หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น
ความล้มเหลวของภาครัฐในการจัดการปัญหา PM 2.5
สิ่งที่ยังคงทำให้รัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นควันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก รัฐยังไม่เข้าใจปัญหาเชิงซ้อนของฝุ่นควันที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การเผาไร่เพื่อทำเกษตร แต่มันมีปัญหาหยั่งลึกลงไปยิ่งกว่านั้น เช่น มิติทางสังคมและวัฒนธรรม ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ภูมิประเทศ ฯลฯ อย่างบางพื้นที่ที่ประชาชนไม่มีทางเลือกในการทำเกษตรมากพอ หรือแม้แต่ตัวเลือกในการกำจัดขยะในบางพื้นที่ที่รัฐเข้าไม่ถึง จนทำให้สุดท้ายจึงลงเอยด้วยการใช้วิธีเผา
หรือแม้แต่ในเมืองใหญ่ การแก้ไขปัญหา PM 2.5 ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด มันเชื่อมโยงกับปัญหาเชิงโครงสร้างหลายส่วน ทั้ง โครงสร้างเมือง การคมนาคม และโครงสร้างการผลิต ทุกส่วนล้วนมีความสัมพันธ์แบบนัยยะสำคัญกับการก่อปัญหาฝุ่นควันทั้งสิ้น
ทางออกของปัญหา PM 2.5 ที่แท้จริง อาจไม่ใช่เพียงแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่มันต้องถูกจัดให้เป็นวาระแห่งชาติ หรือวาระระดับนานาชาติด้วย เนื่องจาก ปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาที่หลายประเทศกำลังประสบและเชื่อมโยงกัน เช่น การเผาป่าในประเทศเพื่อนบ้านก็ส่งผลต่อประเทศไทยเช่นเดียวกัน จากทั้งภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้อต่อการพัดพาฝุ่นควันเข้ามา ดังนั้น เราจึงต้องอาศัยความร่วมมือในการกำหนดนโยบายระหว่างประเทศเรื่อง PM 2.5 อย่างจริงจัง
ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนของประเทศไทย สิ่งที่รัฐพึงทำคือการศึกษาและเข้าใจปัญหาเชิงลึกที่เกิดขึ้นในทั้งภาคเมืองและภาคชนบท ตลอดจนนำไปสู่การกำหนดนโยบายหรือกฎหมาย เพื่อเข้ามากำกับดูแลปัญหาที่เกิดขึ้น การจะแก้ไขปัญหาเรื้อรังได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยเวลา การจะแก้ไขปัญหาระดับชาติได้นั้นย่อมมีทั้งฝ่ายที่ได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์อยู่แล้ว นี่จึงเป็นหน้าที่ของรัฐในการแสวงหาทางออกให้เหมาะสมแก่ประชาชนและประเทศชาติต่อไป
พรบ.อากาศสะอาดอีกหนึ่งทางออกของปัญหาฝุ่นควัน
ในส่วนภาคประชาชนเองก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหวเรื่องปัญหาฝุ่น PM 2.5 กันอยู่ตลอด เมื่อหลายฝ่ายได้เล็งเห็นแล้วว่าฝุ่นควันดังกล่าวนั้นรบกวนการใช้ชีวิตของพวกเขาขนาดไหน ทำให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อรวบรวมรายชื่อเพื่อนำเสนอเครื่องมือที่จะช่วยจัดการกับปัญหาอากาศได้ต่อภาครัฐ นั่นก็คือ พรบ.อากาศสะอาด (ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ….)
กล่าวโดยสรุป หลักคิดของพรบ.ฉบับนี้ คือสิทธิในการได้รับอากาศสะอาดของประชาชน ผ่านการทำงานของคณะกรรมการอากาศสะอาด
พรบ.อากาศสะอาดนั้นจะช่วยผลักดันให้มีหน่วยงานขึ้นมาดูแลปัญหาด้านอากาศอย่างจริงจังมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการรับรองว่าประชาชนทุกคนนั้นมีสิทธิที่จะเข้าถึงอากาศที่สะอาดอย่างแท้จริง ผ่านการให้ประชาชนร่วมมีบทบาทในการจัดการอากาศสะอาดในสามระดับ คือ ระดับนโยบาย ระดับกำกับดูแล และระดับปฏิบัติ
โดยทุกคนสามารถร่วมสนับสนุนพรบ.อากาศสะอาด ได้ที่ Change.org เพื่อการได้รับอากาศที่บริสุทธิ์อย่างเท่าเทียม อีกทั้งพรบ.ดังกล่าวอาจเป็นอีกหนึ่งทางออกระยะยาวของปัญหา PM 2.5 ก็ได้
แต่ตอนนี้เราคงต้องใส่หน้ากากและดูแลสุขภาพตัวเองและคนใกล้ตัวอย่างใกล้ชิดต่อไปก่อนจะมีการแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง โดยมีความหวังว่าสักวันหนึ่งในอนาคต เราจะได้รับอากาศสะอาดกันถ้วนหน้า
อ้างอิง
- สั่งทุกหน่วยบังคับใช้ กม.เข้มข้น แก้ฝุ่น PM2.5
- ทำไม… การแก้ปัญหาหมอกควันฝุ่นพิษ ของรัฐจึงล้มเหลว
- THAI CLEAN AIR NETWORK เครือข่ายอากาศสะอาด
- ภาพประกอบ Steven Wei
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ