เต่ามะเฟือง เต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 

เต่ามะเฟือง เต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 

เต่ามะเฟือง (Leatherback turtle) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dermochelys coriacea จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน (Reptile) เป็นเต่าทะเล โตเต็มวัยมีขนาด 1.5 ถึง 2.5 เมตร น้ำหนัก 800 ถึง 900 กิโลกรัม จัดเป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก!

กระดองของเต่ามะเฟือง มีลักษณะเป็นหนังหุ้ม ซึ่งต่างจากเต่าชนิดอื่นที่กระดองแข็ง ลักษณะตีนเป็นใบพาย เพื่อใช้ในการเคลื่อนที่ในน้ำ หัวใหญ่ไม่สามารถหดกลับเข้ากระดองได้ และกระดองหลังมีลักษณะร่องสันนูนตามยาว 7 สัน คล้ายผลมะเฟือง จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘เต่ามะเฟือง’

เต่ามะเฟืองมีการดำรงชีวิตใต้ทะเลเกือบชั่วชีวิต โดยมีอาหารหลักจำพวกแมงกะพรุน และสามารถดำน้ำได้ลึกถึง 1,280 เมตร จะขึ้นมาผสมพันธุ์และวางไข่บนบกบริเวณชายหาดเท่านั้น เต่ามะเฟืองเพศเมียจะวางไข่ประมาณ 66 ถึง 104 ฟองต่อหลุม ขึ้นอยู่กับ อายุ สภาพอากาศ และสภาพแวดล้อมของหาดที่วางไข่ โดยหาดต้องมีลักษณะที่เหมาะสม คือ มีระดับน้ำลึก และมีแนวลาดชันขึ้นสู่หาด

ประเทศไทยพบเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่เฉพาะบริเวณชายหาดฝั่งทะเลอันดามันด้านตะวันตกของไทย จังหวัดพังงา ภูเก็ต และหมู่เกาะตรุเตา

ไข่เต่ามะเฟืองจะใช้เวลาในการฟักประมาณ 60 ถึง 70 วัน และมีเพียง 85 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่จะได้ฟักออกมา ระหว่างนี้อุณหภูมิในหลุมไข่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดเพศของลูกเต่า โดยทั่วไปสัดส่วนของลูกเต่าเพศเมียจะมีมากขึ้น เมื่ออุณหภูมิในหลุมฟักไข่สูงขึ้น

เมื่อฟักออกมาจากไข่ เหล่าลูกเต่าจะยังคงอยู่ในหลุมฟักไข่อีก 1 ถึง 2 วัน เพื่อรอให้ไข่ฟองที่เหลือฟักตัวออกมา จากนั้นจะอาศัยช่วงเวลากลางคืนคลานออกมาจากหลุมพร้อม ๆ กัน และมุ่งหน้าลงสู่ทะเล เพื่อไปเผชิญกับโลกใบใหม่

เนื่องจากลูกเต่ามะเฟืองรวมถึงเต่าทะเลชนิดอื่น ๆ มีอัตราการรอดในธรรมชาติน้อย เต่าทะเลจึงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปัญหาจากการติดเครื่องมือประมง การลากอวน การพัฒนาชายหาดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว การเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติของชายหาด ทำให้สูญเสียศักยภาพของพื้นที่ที่จะวางไข่ ส่งผลให้รังไข่เต่าทะเลลดลงเป็นอย่างมาก ปัจจุบันพบว่าสถิติการวางไข่ของเต่าทะเลลดลงมากกว่า 5 เท่า จาก 2,500 รัง เหลือเพียง 300 ถึง 400 รังต่อปี ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งปัญหาขยะในทะเลก็เป็นปัจจัยคุกคามที่ทำให้เต่าทะเลลดจำนวนลง โดยพบว่ามีเต่าทะเลเกยตื้นมากกว่า 500 ตัว ในช่วง 10 ปีมานี้

ปัจจุบันเต่ามะเฟืองจัดอยู่ในสถานภาพการอนุรักษ์ในระดับโลก คือ มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable : VU) โดย IUCN และสถานภาพการอนุรักษ์ในประเทศไทยเป็น “สัตว์ป่าสงวน” ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว