บลูคาร์บอน ทางเลือกใหม่ ระบบนิเวศทางทะเล กับการพิชิตเป้าหมาย Net Zero

บลูคาร์บอน ทางเลือกใหม่ ระบบนิเวศทางทะเล กับการพิชิตเป้าหมาย Net Zero

กิจกรรมของมนุษย์ในทุกวันนี้ล้วนสร้างมลพิษและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในปริมาณมหาศาล ทำให้การกักเก็บคาร์บอนเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่จะลดปริมาณคาร์บอนในอากาศได้  

ประเทศไทยเองก็ได้เล็งเห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมดังกล่าว จึงได้เกิดความร่วมมือกับหลายภาคส่วนในการตั้งเป้าหมาย Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ด้วยการสร้างสมดุลกันระหว่างการปล่อยและการลดก๊าซเรือนกระจก  

ทำให้บลูคาร์บอนอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ เนื่องจากพื้นที่ทางทะเลของไทยสามารถพบได้ทั้งในภาคตะวันออกและภาคใต้  

บลูคาร์บอน คืออะไร  

บลูคาร์บอน (Blue Carbon) คือ คาร์บอนไดออกไซด์ถูกดูดซับไว้โดยมหาสมุทรและระบบนิเวศชายฝั่ง อาทิ ป่าชายเลน ที่ราบน้ำท่วมถึง แหล่งหญ้าทะเล และลุ่มน้ำเค็ม ระบบนิเวศเหล่านี้จะทำหน้าที่กักเก็บคาร์บอนในรูปแบบชีวมวลและการทับถมของตะกอนลงสู่ชั้นดิน 

ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งมีประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่าป่าบกถึง 4 เท่า โดยสาเหตุที่พื้นที่ป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล รวมถึงระบบนิเวศทางทะเลและริมชายฝั่งอื่น ๆ ดูดซับคาร์บอนได้ดีกว่า เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้สามารถดึงคาร์บอนลงไปกักเก็บไว้ในใต้ดินได้ถึง 50 – 99 เปอร์เซ็นต์  

อีกหนึ่งความสำคัญของระบบนิเวศชายฝั่งนอกจากการกักเก็บคาร์บอนแล้วยังมีหน้าที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ และเป็นที่หลบภัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ด้วย 

นอกจากนี้ระบบนิเวศชายฝั่งยังมีหน้าที่กรองน้ำเสียก่อนไหลลงทะเล ลดความรุนแรงของคลื่น และเพิ่มผืนดินให้กับชายฝั่งด้วย  

ทว่าปัจจุบันมีหลายสาเหตุที่เป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศชายฝั่งและระบบนิเวศทางทะเล ทำให้ระบบนิเวศพวกนี้ลดลง ตัวอย่างเช่น ช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ป่าชายเลนถูกทำลายไปราว ๆ 30 – 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการลดลงของป่าชายเลนนี้ยังส่งผลให้ปริมาณคาร์บอนเพิ่มขึ้นได้ถึง 10% จากปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่เกิดจากการการตัดไม้ทำลายป่ารวมกันทั้งโลก และภัยคุกคามด้านพื้นที่เหล่านี้เอง ทำให้นักสิ่งแวดล้อมหลายคนกังวลต่อประสิทธิภาพในการกักเก็บคาร์บอนของพื้นที่ชายฝั่งและพื้นที่ทะเล   

ประเทศไทยกับบลูคาร์บอน  

ประเทศไทยเองเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของบลูคาร์บอน จนมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสนใจกับการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งและทรัพยากรทางทะเลมากขึ้น  

จากปัญหาพื้นที่ชายฝั่งถูกคุกคามจนเหลือพื้นที่น้อยลง การฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ให้แก่ระบบนิเวศชายฝั่งจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่การกักเก็บคาร์บอนของพืชชายฝั่งให้มากขึ้น 

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งหรือทช. เคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าวด้วยการออกระเบียบเกี่ยวกับการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับบุคคลภายนอก และระเบียบการปลูกป่าชายเลยเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตสำหรับชุมชน พ.ศ. 2565 ขึ้น โดยมีความคาดหวังให้ภาคเอกชนและชุมชนสามารถยื่นเข้าโครงการนี้ได้  

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า “การอนุรักษ์ ฟื้นฟู คุ้มครอง ดูแล รักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรวมถึงป่าชายเลน เป็นหน้าที่ของทช. เพื่อเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้ จึงได้พยายามปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต กำหนดเป้าหมายระยะ 10 ปี (ปี2565-2574) เนื้อที่ 300,000 ไร่ ในท้องที่ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล”  

เมื่อปีที่ผ่านมา (ปี 2565)  ได้มีการจัดงาน Blue Carbon Conference 2022 “คาร์บอนทะเล: หนุนธุรกิจสู่ Net Zero เสริมระบบนิเวศและชุมชน” โดย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) บริษัท ดาว ประเทศไทย และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กิจกรรมในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงแนวทางการอนุรักษ์แหล่งกักเก็บบลูคาร์บอน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทย  

กิจกรรมในครั้งนี้มุ่งเน้นการฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่บลูคาร์บอน โดยอาศัยการร่วมมือกับชุมช เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรและผลประโยชน์จากระบบนิเวศ อีกทั้งยังคาดหวังให้ภาคเอกชนร่วมขับเคลื่อนการอนุรักษ์และบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ตั้งไว้  

การบรรลุเป้าหมาย Net Zero นั้นจำเป็นต้องเกิดความร่วมมือกันในหลายฝ่าย จึงจะพิชิตเป้าหมายให้สำเร็จได้ บลูคาร์บอนเป็นตัวเลือกหนึ่งที่นักสิ่งแวดล้อมหลายคนให้ความเห็นว่านี่อาจเป็นเครื่องมือที่ดีที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่อนาคต Net Zero ได้  

อ้างอิง  

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ