ร้อยภาพฝันงานอนุรักษ์กวางผา “ยุคสาม: การขับเคลื่อนงานอนุรักษ์กวางผา”

ร้อยภาพฝันงานอนุรักษ์กวางผา “ยุคสาม: การขับเคลื่อนงานอนุรักษ์กวางผา”

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมจัดเวทีเสวนา “ร้อยภาพฝันงานอนุรักษ์” ซึ่งเป็นเวทีที่จะร้อยเรียงเรื่องราวการศึกษาและงานอนุรักษ์กวางผาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผ่าน ข้อมูลด้านวิชาการ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายแนวร่วมงานอนุรักษ์กวางผา โดยเวทีเสวนาจะถูกแบ่งออกเป็นสามช่วง

เวทีช่วงที่สาม ภายใต้ชื่อ “ยุคสาม: การขับเคลื่อนงานอนุรักษ์กวางผา” ว่าด้วยเรื่องของแผนการและการดำเนินการอนุรักษ์กวางผาในภาคส่วนต่าง ๆ โดยที่การร่วมพูดคุยในครั้งนี้จะเป็นการถอดบทเรียนวิธีการจัดการของแต่ละหน่วยงาน เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์กวางผาต่อไปในอนาคต

ในเวทีที่สามนี้เป็นรูปแบบเวทีเสวนา โดยมี รศ.ดร.ประทีป ด้วงแค เป็นผู้ดำเนินรายการ ดร.สมหญิง ทัฬหิกรณ์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ คุณธิษณะ สมใจดี เจ้าหน้าที่โครงการ ส่วนงานจิตสำนึก มูลนิธิไทยรักษ์ป่า และคุณรุ่งลาวัลย์ แสงสุริย์ หัวหน้างานอนุรักษ์ ฝ่ายอนุรักษ์ วิจัย และสุขภาพสัตว์ สวนสัตว์เชียงใหม่ มาเป็นผู้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลการอนุรักษ์กวางผาในครั้งนี้ 

เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานกับการอนุรักษ์กวางผา โดย ธิษณะ สมใจดี

ในหัวข้อนี้คุณธิษณะได้พูดถึงการทำงานของมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ภายใต้บริษัทเอ็กโก กรุ๊ป ผ่านการใช้เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานเป็นเครื่องมือในการส่งต่อองค์ความรู้และแนวทางการอนุรักษ์สัตว์ป่าสงวน รวมถึง ‘กวางผา’ อันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของธรรมชาติที่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่กิ่วแม่ปานจะได้เห็นมัน นอกจากนี้คุณธิษณะยังใช้เศรษฐกิจเข้ามาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือชิ้นสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์กวางผาด้วย

คุณธิษณะได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน  แรกเริ่มเดิมที่พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ลาดตระเวนของหน่วยพิทักษ์ป่าอินทนนท์ เพื่อตรวจสอบและสำรวจพื้นที่บริเวณดังกล่าว เนื่องจาก ณ เวลานั้นพื้นที่กิ่วแม่ปานมีการปลูกฝิ่นกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งต่อมาเมื่อผู้บริหารของเอ็กโก กรุ๊ป ได้ไปเที่ยวและเห็นถึงความงดงามของธรรมชาติ จึงเป็นที่มาของความคิดที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนทั่วไป ไม่ใช่แค่เพียงผู้พิทักษ์ป่า ได้มาเห็นและอนุรักษ์ธรรมชาติเหล่านี้เอาไว้ ตลอดจนเกิดเป็นแนวทางในการจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน

ทว่าในปัจจุบันเส้นทางศึกษาธรรมชาติได้มีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นมากพอสมควร โดยเส้นทาง

ศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานได้มีการปรับมาใช้ทางเดิน boardwalk แทนการเดินบนดินทั่วไป เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่เส้นทาง เนื่องจากในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานไม่ต่ำกว่าแสนคน นี่จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีในการใช้วิธีการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกจิตสำนึกรักธรรมชาติของบุคคลทั่วไป 

อย่างไรก็ดีการสร้างทางเดินสำหรับนักท่องเที่ยวนี้ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากเท่าไหร่ เนื่องจากพบว่ากวางผาและสัตว์ชนิดอื่น ๆ เองก็ได้มีการเดินและออกมาหาอาหารในบริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาตินี้เหมือนเดิม มิหนำซ้ำยังเป็นการป้องกันนักท่องเที่ยวไปเหยียบหรือทำลายธรรมชาติโดยไม่รู้ตัวด้วย

PHOTO : ผู้จัดการออนไลน์

สวนสัตว์เชียงใหม่กับการดำเนินงานอนุรักษ์กวางผา โดย รุ่งลาวัลย์ แสงสุริย์

คุณรุ่งลาวัลย์มาพูดถึงบทบาทขององค์การสวนสัตว์และสวนสัตว์เชียงใหม่ต่อการอนุรักษ์กวางผา ตลอดจนการรวมมือกับอีกหลายภาคส่วนในการเพาะขยายพันธุ์กวางผา ทั้งนี้คุณรุ่งลาวัลย์ได้ยกบทบาทของมิติทางด้านเศรษฐกิจมาชี้ให้ผู้ฟังเสวนาเห็นถึงความสำคัญในการจัดแสดงกวางผาเพื่อต่อยอดไปสู่การแสวงหาวิธีอนุรักษ์กวางผาต่อไป

เดิมทีองค์การสวนสัตว์ได้มีการตกลงกับหลายหน่วยงานเพื่อที่จะอนุรักษ์กวางผาอาทิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฯลฯ แต่ ณ เวลานั้นองค์การสวนสัตว์ไม่มีกวางผาอยู่เลยแม้แต่ตัวเดียว ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการนำกวางผาเข้ามาเลี้ยงและเพาะพันธุ์ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ โดยในระยะแรกได้มีการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของกวางผาก่อน จึงค่อยนำกวางผาออกมาจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษา

ประกอบกับ ณ ขณะนั้น จำนวนประชากรกวางผามีค่อนข้างน้อย จึงนำไปสู่การริเริ่มโครงการเพาะขยายพันธุ์กวางผาโดยสวนสัตว์เชียงใหม่ ทำให้ปัจจุบันเริ่มมีประชากรกวางผาที่เกิดในกรงเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะมีการนำกวางผาที่เพาะพันธุ์ไปจัดแสดงในสวนสัตว์ โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงกรงในส่วนการจัดแสดงให้มีความเหมาะสมและเข้ากับพฤติกรรมของกวางผาให้มากที่สุดอยู่

PHOTO : กรุงเทพธุรกิจ

คุณรุ่งลาวัลย์กล่าวต่อถึงปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการเพาะพันธุ์กวางผา กล่าวคือ การเพาะพันธุ์กวางผานั้นมีปัญหาทั้งในเรื่องของภาวะเลือดชิดซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ และปัญหาในเรื่องของการสร้างมูลค่าจากการจัดแสดง ซึ่งด้านเศรษฐกิจก็จะเป็นอีกหนึ่งมิติสำคัญที่จะมีบทบาทในการเข้ามาส่งเสริมการอนุรักษ์กวางผา เนื่องจากหากกวางผาเป็นที่สนใจในสวนสัตว์มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีทุนในการต่อยอดการอนุรักษ์กวางผาเพิ่มมากขึ้นด้วย

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับการอนุรักษ์กวางผา โดย ดร.สมหญิง ทัฬหิกรณ์

เริ่มแรกดร.สมหญิงได้กล่าวถึงการดำเนินงานของกรมอุทยานฯ ต่อการอนุรักษ์กวางผา โดยดร.สมหญิงได้เน้นความสำคัญของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ในการดูแลและฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า รวมถึงถิ่นอาศัย อันเป็นส่วนที่สำคัญที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประชากรและช่วยให้สัตว์ป่ามีถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพวกมัน ทั้งนี้กรมอุทยานฯ เองก็มีการใช้มาตรฐานของกรมอุทยานฯ ในการจัดการอนุรักษ์กวางผา เพื่อให้การอนุรักษ์กวางผาในแต่ละพื้นที่มีมาตรฐานเดียวกัน อย่างไรก็ดีดร.สมหญิงได้ย้ำว่า การบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์กวางผาเป็นอีกส่วนที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากการบูรณาการและการร่วมมือกันกับหลาย ๆ ฝ่าย จะนำไปสู่ผลสำเร็จของการอนุรักษ์กวางผาได้ดียิ่งขึ้น

ต่อมาดร.สมหญิงได้ขยายความต่อถึงการจัดการดูแลถิ่นที่อยู่อาศัยโดยใช้วิธี “การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol)” ซึ่งเป็นวิธีการที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการคุ้มครองถิ่นที่อยู่อาศัยของกวางผา ตลอดจนนำไปสู่การฟื้นฟูและรักษาจำนวนประชากรของกวางผาอย่างยั่งยืนต่อไป

ทางกรมอุทยานฯ ได้มีการจัดทำแผนคุ้มครองกวางผา โดยแผนการอนุรักษ์กวางผานี้มีทั้งหมด 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

1. การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการถิ่นที่อยู่อาศัยของกวางผา โดยใช้วิธีการเพิ่มศักยภาพของเจ้าหน้าที่ สำหรับการฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัย ร่วมกับการสร้างเครือข่ายชุมชน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการอนุรักษ์กวางผาในพื้นที่

2. การฟื้นฟูประชากรกวางผา ด้วยวิธีการเพาะขยายพันธุ์กวางผาทั้งในพื้นที่ถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของกวางผาและในสถานีเพาะเลี้ยง

3. การศึกษาวิจัยและข้อมูลทางวิขาการ สำหรับการติดตามและประเมินผลการอนุรักษ์กวางผา

4. การสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจให้แก่ชุมชนในพื้นที่หรือบริเวณโดยรอบถิ่นที่อยู่อาศัยของกวางผา ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของกวางผา ตลอดจนนำไปสู่การอนุรักษ์กวางผาผ่านเครือข่ายประชาชน

จากเวทีเสวนาทั้ง 3 ช่วง ได้แสดงให้เห็นแล้วว่ากวางผานั้นมีความสำคัญต่อระบบนิเวศมากเพียงใด การมีอยู่ของกวางผาในแง่หนึ่งก็ถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าและภูเขา

ข้อมูลการดำเนินการอนุรักษ์กวางผาในแต่ละหน่วยงานที่ได้มาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลในเวทีเสวนา “ร้อยภาพฝันงานอนุรักษ์” ในครั้งนี้ นับตั้งแต่สมัยของคุณสืบ นาคะเสถียร จนถึงการส่งต่อการอนุรักษ์กวางผาสู่คนรุ่นใหม่ ทั้งหมดนี้ถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งต่อวงการการอนุรักษ์ของไทย การอนุรักษ์กวางผาจึงเป็นอีกหนึ่งไม้พลัดสำคัญในการส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ความสำคัญของสัตว์ป่าสงวนชนิดนี้ต่อไป

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ