ในการประชุม COP26 ที่กลาสโกว์เมื่อปี พ.ศ. 2564 รัฐบาลทั่วโลกบรรลุข้อตกลงว่าจะรักษาผืนป่าทั่วโลกโดยทุ่มเงินงบประมาณกว่า 12 พันล้านดอลลาร์ในการคุ้มครองและฟื้นฟูผืนป่าซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่เนื่องจากเป็น “การให้คำมั่นทางการเงินเกี่ยวกับภูมิอากาศก้อนใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา”
การคุ้มครองผืนป่าซึ่งกักเก็บคาร์บอนปริมาณรวม 400 กิกะตันคือหัวใจสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติอันเลวร้ายอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรักษาให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม
แม้ว่าจะมีการให้คำมั่นอย่างต่อเนื่องที่จะลดการทำลายป่าทั่วโลก แต่ตัวเลขอัตราการตัดไม้ทำลายป่าก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนก็ยิ่งทำให้ปัญหาทบทวียิ่งขึ้น ผืนป่าบางส่วนที่ตายลงเนื่องจากภัยแล้งทำให้ความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนน้อยลง นับเป็นการเริ่มต้นวงจรอุบาทว์ที่ยากจะหยุดยั้ง
แต่การบรรลุข้อตกลงในการปกป้องผืนป่าจะต้องใช้งบประมาณกว่า 393 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีภายในปี พ.ศ. 2598 เงินที่รัฐบาลและธนาคารข้ามชาติให้คำมั่นเอาไว้นั้นจึงไม่ต่างจาก “น้ำหนึ่งหยดในถัง” ตามความเห็นของ Nat Keohane ประธานศูนย์วิจัยทางออกด้านภูมิอากาศและพลังงาน (Center for Climate and Energy Solutions) ในสหรัฐอเมริกา
นี่คือเหตุผลที่ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศจำนวนไม่น้อยฝากความหวังไว้กับตลาดคาร์บอนซึ่งจะเป็นกลไกให้เงินทุนที่จำเป็นเพื่อยุติการตัดไม้ทำลายป่าหรือกระทั่งเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศซึ่งเปราะบางอย่างยิ่ง
ทั่วโลกมีตลาดคาร์บอนแบบสมัครใจ ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะตลาดเหล่านี้ไม่มีการกำกับดูแลโดยรัฐ ในบางภูมิภาคมีการออกใบอนุญาตหรือเครดิตให้แก่เหล่าบริษัทที่ปล่อยคาร์บอน ตลาดดังกล่าวมีมูลค่าราว 2 พันล้านต่อปีโดยมีผู้เล่นหลักคือเหล่าบริษัทที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อหักกลบกับการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจากการดำเนินงานของบริษัท
แต่จากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษา McKinsey กลไกดังกล่าวมีศักยภาพที่จะสร้างรายได้ที่มั่นคงมูลค่ากว่า 50 พันล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี พ.ศ. 2573
เงินก้อนนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากรัฐบาลมีแนวโน้มว่าจะไม่อนุมัติงบประมาณมากพอที่จำเป็นต่อการคุ้มครองผืนป่า “เราจำเป็นต้องใช้ทุกช่องทางที่มีเพื่อหาเงินทุน” Keohane กล่าว “เราไม่สามารถทิ้งทางเลือกไหนได้ เพราะเราทราบดีว่าไม่มีทางที่จะบรรลุเป้าหมาย 2 องศาเซลเซียสหากไม่ยุติการตัดไม้ทำลายป่าในเขตร้อนชื้น”
ปัญหาใหญ่คือจวบจนปัจจุบัน คาร์บอนเครดิตและกลไกออฟเซ็ตนั้นอาจไม่ได้มีประวัติที่ดีสักเท่าไหร่ “มีความกังวลมากมายที่น่ารับฟังเกี่ยวกับตลาดแบบสมัครใจ อีกทั้งคุณภาพของคาร์บอนเครดิตก็มีความแตกต่างกันไม่น้อย” Keohane กล่าว
คำกล่าวข้างต้นนับว่าบางเบาเมื่อเทียบกับตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งเราเผชิญกับสารพัดกรณีที่ใช้ช่องว่างจากตลาดดังกล่าว ตั้งแต่การขายคาร์บอนเครดิตของโครงการที่ไม่มีอยู่จริง ผืนป่าที่กำลังถูกตัดโค่น หรือแม้แต่การนับซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้งคราวแล้วคราวเล่า บางบริษัทถึงขั้นนำคาร์บอนเครดิตราคาแพง “ปลอมเปลือก” ไปขายต่อในราคาแพง
เมื่อเป็นเรื่องของป่าไม้ ความยุ่งยากก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว คาร์บอนเครดิตเกิดจากการที่เก็บรักษาผืนป่าเอาไว้ซึ่งหากไม่มีกลไกดังกล่าว ผืนป่านี้อาจถูกทำลาย นี่คือแนวคิดที่เรียกว่า “ส่วนเพิ่ม”
แต่สิ่งที่ยากกว่านั้นคือการระบุว่าผืนป่าดังกล่าวกำลังถูกคุกคามจริงๆ หรือไม่ บางพื้นที่มีความซับซ้อนยิ่งกว่าเดิมเมื่อมีการอนุญาตให้ตัดไม้บางส่วนในขณะเดียวกันก็มีการขายคาร์บอนเครดิตซึ่งดูเป็นสองเรื่องที่สวนทางกัน แต่สามารถทำได้เนื่องจากรายได้จากเครดิตเพียงลำพังนั้นไม่คุ้มค่าพอเมื่อเทียบกับมูลค่าของการตัดไม้ในพื้นที่ไปขาย
Annette Nazareth ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านการกำกับดูแลตลาดภาครัฐได้ขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการความน่าเชื่อถือสำหรับตลาดคาร์บอนแบบสมัครใจ (Integrity Council for the Voluntary Carbon Markets หรือ ICVCM) และหวังว่าเธอจะสามารถจัดการปัญหาและสร้าง “ความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือ” กลับคืนสู่ตลาด
“เราจำเป็นต้องมีมาตรฐานมากขึ้นว่าเครดิตที่คุณภาพสูงนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร” เธอให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว the Guardian “เราต้องการขจัดความไม่แน่นอนและสร้างตลาดที่มีความน่าเชื่อถือเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเปิดโอกาสให้บริษัทได้ลงทุนอย่างมั่นใจ”
เทคโนโลยียุคใหม่ย่อมมีประโยชน์ คาดว่าภาพถ่ายดาวเทียวความละเอียดสูงจะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถคิดคำนวณข้อมูลที่อยู่ใต้ร่มไม้ และสามารถจำแนกต้นไม้แต่ละต้นออกจากกันได้เพื่อให้สามารถตรวจสอบสถานะและสุขภาพของผืนป่า รวมทั้งขจัดปัญหาการฉ้อโกง
แต่ Keohane กล่าวว่าการจัดการฝั่งอุปสงค์ก็สำคัญไม่แพ้กันโดยต้องการให้บริษัทไม่ใช่กลไกหักกลบคาร์บอนเป็น “บัตรผ่านออกจากคุก” เพื่อให้บริษัทสามารถปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้ตามใจชอบพร้อมกับการกล่าวอ้างว่าเป็นกลางทางคาร์บอนจากการซื้อเครดิตราคาถูก “คาร์บอนเครดิตควรเป็นกลไกเสริม ไม่ใช่กลไกที่จะมาทดแทนการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก” เขากล่าว
มาตรฐานที่รัดกุมจะช่วยให้บริษัทจำเป็นต้องแสดงว่ามีการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจริงๆ โดยที่การซื้อออฟเซ็ตเป็นเพียงส่วนน้อยและมีแนวโน้มลดลง Nazareth เชื่อว่าระบบมาตรฐานที่เกิดจาก ICVCM จะเสมือนเป็น “มีการกำกับดูแล” แต่ระบบทั้งหมดยังคงเป็นภาคสมัครใจโดยไม่มีภาครัฐเข้ามากำกับดูแล เหตุผลก็เพราะกว่ารัฐบาลจะขยับก็อาจช้าเกินไป
เราไม่มีทางบอกได้ว่าต้นไม้จะไม่ถูกตัดเพราะกลไกคาร์บอนเครดิต หรือการป้องกันนักฉ้อโกงที่ทำกำไรจากตลาดจากโครงการที่ไม่มีอยู่จริง หรือขจัดบริษัทที่ต้องการฟอกเขียวตัวเองได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือการรอเพื่อหาทางออกที่สมบูรณ์แบบโดยปล่อยให้ผืนป่าถูกคุกคามอาจนับว่าเป็น ‘ความหรูหราราคาแพงที่เราไม่มีปัญญาจ่าย’
ถอดความและเรียบเรียงจาก Carbon offsets are flawed but we are now in a climate emergency
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก