แผนการจัดการกวางผา จุดเริ่มต้นการขับเคลื่อนจากภาคีเครือข่ายเพื่ออนุรักษ์กวางผา

แผนการจัดการกวางผา จุดเริ่มต้นการขับเคลื่อนจากภาคีเครือข่ายเพื่ออนุรักษ์กวางผา

เมื่อวันที่ 19-20 มกราคม ที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมกับส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดประชุมเพื่อจัดทำแผนการจัดการกวางผาสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในงานอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรกวางผา เกิดแผนการจัดการกวางผาระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และเกิดความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการทำงานภายใต้แผนการจัดการกวางผานี้ 

หลังจากที่มีการจัดงานสัมมนาร้อยภาพฝันงานอนุรักษ์กวางผาขึ้นที่สวนสัตว์เชียงใหม่ เพื่อร้อยเรื่องราวงานกวางผาตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน ผ่านการนำเสนอผลงานทางวิชาการจากนักวิจัย และผู้ทำงานอนุรักษ์กวางผาในยุคต่างๆ รวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะต่อการจัดการฟื้นฟูและอนุรักษ์ประชากรกวางผาให้จำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีคุณภาพ 

โดยมีเป้าหมายสูงสุดที่ที่ประชุมเสนอให้นำไปสู่การปลดสถานะของกวางผาออกจากสัตว์ป่าสงวนให้ได้ในอนาคต

ภาคีเครือข่าย

  • พื้นที่อนุรักษ์ที่มีรายงานการพบกวางผา จำนวน 11 พื้นที่
  • กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
  • สวนสัตว์เชียงใหม่
  • คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • คณะสัตวแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • สาขาวิชาเกษตรป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ
  • มูลนิธิไทยรักษ์ป่า
  • มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท
  • มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ขั้นตอนกระบวนการจัดทำแผน

ตลอด 2 วันที่ผ่านมา นายศศิน เฉลิมลาภ วิทยากรกระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ได้แบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มป่า 3 ทีม (กลุ่มกลุ่มป่าแม่ปิง-อมก๋อย กลุ่มป่าปาย-สาละวิน และกลุ่มป่าศรีลานนา) มองภาพการทำงานในระดับพื้นที่ 2.กลุ่มนโยบายและประชาสัมพันธ์ จะเป็นกลุ่มที่รวมระดับผู้บริหารของกรมอุทยานฯ อาจารย์ และองค์กรพัฒนาสังคม 3.กลุ่มวิจัย และ 4.กลุ่มเพาะเลี้ยง เป็นบทบาทการทำหน้าที่ของสถานีวิจัยและสัตวแพทย์ช่วยกันออกแบบ

วันแรก เริ่มจากการนำเสนอแผนกวางผาที่ทางกรมอุทยานฯ เคยจัดทำแผนปฏิบัติการกวางผา 5 ปี และ 20 ปี มาเป็นสารตั้งต้นในการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อให้เห็นภาพการจัดทำแผนกวางผาร่วมกัน  

วันที่สอง หลังจากที่แต่ละกลุ่มได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ จึงได้ใจความดังนี้

วิสัยทัศน์

“ประชากรกวางผาในกลุ่มป่าล้านนา (ในกลุ่มป่าเมืองเหนือ, Northern Forests Complex: NORFCOMs) เขตสงวนชีวมณฑล ได้รับการฟื้นฟูประชากรที่มีคุณภาพ มั่นคง ยั่งยืน รวมถึงความเป็นเลิศของศูนย์กลางแหล่งพันธุกรรม การเพาะขยายพันธุ์กวางผานอกถิ่นอาศัยของไทย พม่า และจีนตอนใต้ โดยใช้หลักการวิชาการ นวัตกรรม ควบคู่กับการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนด้วยการสนับสนุนเชิงนโยบาย เกิดต้นแบบองค์ความรู้และการบริหารจัดการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล”

พันธกิจ

  • การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในระดับนโยบายและพื้นที่ 
  • การผลักดันเชิงนโยบาย และการสนับสนุนในการอนุรักษ์และการฟื้นฟูกวางผา
  • เสริมสร้างองค์ความรู้งานวิจัย การท่องเที่ยว นวัตกรรม และระบบการติดตาม
  • พัฒนาศักยภาพบุคลากร 
  • กวางผาได้รับการฟื้นฟูประชากรที่มีคุณภาพและมั่นคง 
  • การเป็นศูนย์กลางแหล่งพันธุกรรมและการเพาะขยายพันธุ์นอกถิ่นอาศัย
  • การบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่แนวเชื่อมต่อป่าที่มีประสิทธิภาพ
  • เป็นต้นแบบของการฟื้นฟูสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับระดับสากล

ยุทธศาสตร์

  • นำการมีส่วนร่วมมาใช้ในการทำงานทุกมิติ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์กวางผาอย่างยั่งยืน 
  • พัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่ 
  • การฟื้นฟู ดูแลพื้นที่ และเสริมสร้างประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ 
  • พัฒนาศูนย์เพาะเลี้ยงในการเพาะขยายพันธุ์กวางผา เป็นศูนย์กลางข้อมูล และแหล่งพันธุกรรม  
  • กลไกการติดตามและการสนับสนุนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ 
  • การจัดการและถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงการสื่อสารสาธารณะทั้งในระดับประเทศและสากล 

ช่วงสุดท้ายของการประชุมจัดทำแผนกวางผา ภาคีเครือข่ายใช้เวลาไปกับการระดมความคิดเห็นในการวางกลยุทธ์และแผนงานในช่วง 5 ปี 10 ปี และ 20 ปี เพื่อให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน ทั้งนี้การจัดทำแผนดังกล่าวจะถูกนำไปเสนอผู้บริหารของกรมอุทยานฯ อีกครั้งเพื่อให้เกิดการอนุมัติแผนและการดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของความร่วมมือภาคีเครือข่ายที่ฝันร่วมกันอยากให้กวางผามีมั่นคง ยั่งยืน ลดสถานะจากสัตว์ป่าสงวนเป็นสัตว์คุ้มครอง เพื่อที่จะได้อนุรักษ์สัตว์ชนิดอื่นที่ต่อไป

เรื่อง ชฎาภรณ์ ศรีใส