สวัสดีปีใหม่ พ.ศ. 2566 ซึ่งในปีนี้ตรงกับปีนักษัตรเถาะ หรือปีกระต่ายนั่นเอง แอดมินจึงขอพาทุกท่านมาต้อนรับปีกระต่ายด้วยเกร็ดความรู้กระต่ายป่ากันค่ะ
กระต่ายป่าพม่า หรือกระต่ายป่าไทย (Burmese hare, Siamese hare) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepus peguensis เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ในอันดับ Lagomorpha ซึ่งลักษณะเด่นของอันดับนี้ คือ มีฟันหน้าของขากรรไกรบน 4 ซี่ เรียงซ้อนกัน 2 คู่ ฟันคู่หลังเล็กกว่าคู่หน้า ซึ่งต่างจากอันดับสัตว์ฟันแทะ (Rodentia) ที่มีฟันหน้าของขากรรไกรบน 1 คู่ หรือ 2 ซี่เท่านั้น
กระต่ายป่าจะมีลักษณะหูที่เรียวยาว ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่แตกต่างจากกระต่ายทั่วไป และขาคู่หลังยาวกว่าขาคู่หน้า ความยาวลำตัวและหัวประมาณ 44-50 เซนติเมตร หางสั้นเป็นกระจุก ขนบริเวณหลังเป็นสีน้ำตาลปนเทา ปลายขนมีสีน้ำตาลเข้ม ด้วยสีขนนี้จึงทำให้พวกมันสามารถพรางตัวได้ดีในบริเวณที่มีหญ้าแห้ง และใต้ฝ่าเท้าของกระต่ายป่าจะมีขนปกคลุมหนาแน่น เพื่อช่วยในการเก็บเสียงขณะที่เคลื่อนไหว
กระต่ายป่าขึ้นชื่อในเรื่องของความว่องไวเป็นอย่างมาก พวกมันสามารถวิ่งได้ไวกว่ากระต่ายทั่วไป และสามารถเปลี่ยนทิศทางได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย อีกทั้งเมื่อถึงฤดูกาลผสมพันธุ์ ตัวผู้จะต่อสู้กันเพื่อให้ได้ตัวเมียมาครอบครองด้วยการกระโดดถีบสองขาคู่ หรือกัดด้วยความรุนแรง เรียกได้ว่า ดุดัน ไม่เกรงใจใครเลยทีเดียว
เราสามารถพบกระต่ายป่าในป่าธรรมชาติประเทศไทยได้ในบริเวณป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ มักออกหากินในเวลากลางคืน หาอาหารตัวเดียว และจะซ่อนตัวอยู่ในหญ้าหนาทึบ กระต่ายป่าเป็นสัตว์กินพืช โดยอาหารหลัก คือ หญ้า สมุนไพร และกิ่งไม้ บางครั้งอาจมีการกินเขากวางที่ถูกผลัดทิ้งเพื่อเพิ่มแคลเซียมในร่างกายด้วย กระต่ายป่าถือว่าเป็นผู้บริโภคในอันดับต้น ๆ จึงเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของผู้ล่าจำนวนมาก
ถึงแม้จะดูน่าเศร้าที่กระต่ายป่ามักจะเป็นผู้ถูกล่า แต่ในระบบนิเวศ ทุกอันดับในห่วงโซ่อาหารย่อมมีความสำคัญไม่ต่างกัน เพื่อให้ระบบนิเวศอยู่ในสภาวะสมดุล (Equilibrium) เกิดการหมุนเวียนและถ่ายทอดสารอาหารผ่านสิ่งมีชีวิต ซึ่งได้แก่ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ย่อยสลาย ถ้าหากขาดอันดับใดอันดับหนึ่งไป ย่อมส่งผลต่อปริมาณอาหารที่ไม่สมดุลกับผู้บริโภค หรือผู้ล่า ส่งผลให้ปริมาณของผู้ผลิตเพิ่มมากขึ้นจนเกินควบคุม และในทางกลับกันประชากรของผู้ล่าอันดับสูง ๆ ก็ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วอีกด้วย
อ้างอิง
- Burmese Hare – Lepus peguensis
- Burmese Hare (Lepus peguensis) – iNaturalist
- IUCN Red List of Threatened Species
ผู้เขียน
สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว