ผลลัพธ์จาก COP27 – อนุมัติกองทุนชดเชยผลกระทบจากวิกฤติภูมิอากาศ ขณะที่ประเด็นอื่นยังเลื่อนลอย

ผลลัพธ์จาก COP27 – อนุมัติกองทุนชดเชยผลกระทบจากวิกฤติภูมิอากาศ ขณะที่ประเด็นอื่นยังเลื่อนลอย

การเจรจาในการประชุมรัฐสภากรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 หรือ COP27 มีมติอนุมัติข้อตกลงประวัติศาสตร์ในการก่อตั้งกองทุนชดเชยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแก่เหล่าประเทศยากไร้ที่เป็นผู้เสียหายจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้วซึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยมลภาวะของประเทศร่ำรวย แต่ข้อตกลงอื่นๆ ก็ยังคงเลื่อนลอยเนื่องจากการถกเถียงเรื่องความพยายามลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก

หลังจากการลงมติครั้งนั้น การพูดคุยในประเด็นอื่นก็หยุดพักช่วยคราวเพื่อให้ตัวแทนแต่ละประเทศมีเวลา 30 นาทีในการอ่านเนื้อหาข้อเสนอมาตรการอื่นๆ เพื่อลงคะแนน

การตัดสินใจก่อตั้งกองทุนที่ผู้เจรจาเรียกว่ากองทุนความสูญเสียและความเสียหายคือชัยชนะครั้งใหญ่ของประเทศยากจนที่เรียกร้องเงินชดเชยมาอย่างยาวนาน เนื่องจากพวกเขามักตกเป็นเหยื่อของภัยพิบัติทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง คลื่นความร้อน ความหิวโหย และพายุฝนที่รุนแรงยิ่งขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าประเทศเหล่านั้นแทบไม่มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนก็ตาม

“นี่คือปลายทางของการเรียกร้องตลอด 30 ปีของเราซึ่งในวันนี้ก็ผลิดอกออกผลเสียที” Sherry Rehman รัฐมนตรีกระทรวงภูมิอากาศจากปากีสถาน หนึ่งในผู้นำจากประเทศยากจนซึ่งพื้นที่หนึ่งในสามของปากีสถานเผชิญอุทกภัยรุนแรงเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา เธอและทีมงานยึดหลักการที่ว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นในปากีสถาน จะไม่จบอยู่แค่ในปากีสถาน”

ขณะที่ Aminath Shauna รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมจากมัลดีฟส์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AP ว่า “กองทุนนี้เปรียบเสมือนทางออกของปัญหาสำหรับประเทศอย่างพวกเราที่เราต่างเรียกร้องมาอย่างยาวนาน”

Alex Scott ผู้เชี่ยวชาญด้านการทูตภูมิอากาศจากสถาบันคลังสมอง E3G มองว่าภาพนี้สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มประเทศยากจนก็สามารถผลักดันนโยบายจนประสบความสำเร็จได้หากพวกเขาร่วมมือกัน “ผมคิดว่านี้คือเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลจากหลายประเทศจับมือกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นก้าวแรกของวิธีการรับมือปัญหาความสูญเสียและความเสียหาย” Alex กล่าว 

แต่เรื่องนี้ก็เหมือนประเด็นเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่เกี่ยวกับภูมิอากาศอื่นๆ เพราะการตั้งกองทุนก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การให้เงินไหลเข้าและออกจากกองทุนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เหล่าประเทศพัฒนาแล้วยังไม่รักษาคำมั่นที่ให้ไว้เมื่อปี 2009 ว่าจะลงทุนปีละ 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในการช่วยเหลือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ประเทศยากจนสามารถพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและปรับตัวเพื่อรับมือโลกใบที่ร้อนขึ้น

ข้อตกลงครังนี้ “มอบความหวังให้กับกลุ่มคนที่เปราะบางว่าจะได้รับความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูจากวิกฤติภูมิอากาศและใช้เงินก้อนนี้เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตกลับมา” Harjeet Singh ผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์การเมืองระดับโลกจาก Climate Action Network International แสดงความเห็น

ประธานาธิบดีอียิปต์ผู้เผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทุกฝ่ายเป็นผู้เสนอให้มีการลงมติเรื่องกองทุนชดเชยความเสียหายและความสูญเสียอีกครั้งช่วงบ่ายวันเสาร์ ไม่กี่ชั่วโมงต่อมามติก็ได้รับการอนุมัติ แต่ในมุมมองของผู้แทนจากนอร์เวย์ ความสำเร็จดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับความพยายามของอียีปต์เท่าไหร่นัก แต่เป็นความร่วมมือกันระหว่างนานาประเทศ

ข้อตกลงดังกล่าวระบุว่า กองทุนจะระดมเงินทุนก้อนแรกจากประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งแหล่งเงินจากภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่อย่างจีนอาจไม่จำเป็นต้องร่วมสมทบทุนกองทุนดังกล่าว ทางเลือกนี้ยังคงไม่มีข้อสรุปแต่จะมีการเจรจาในอนาคตอันใกล้ นี่คือข้อเรียกร้องสำคัญของสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่มองว่าจีนและประเทศที่ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มหาศาลแต่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีทั้งเม็ดเงินและความรับผิดชอบที่ต้องร่วมชดเชยค่าเสียหายเช่นกัน

กองทุนดังกล่าวตั้งเป้าไปที่ประเทศที่เปราะบางอย่างยิ่ง โดยมีช่องทางช่วยเหลือประเทศรายได้ปานกลางที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤติภูมิอากาศเช่นกัน

ในช่วงสุดท้ายของการประชุมก็เกิดการถกเถียงเนื่องจากข้อเสนอของอินเดียที่ขอปรับแก้เนื้อหาในข้อตกลงเมื่อปีที่ผ่านมาที่ว่าจะทำการลดการใช้ “ถ่านหินที่ไม่มีการกักเก็บแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์” โดยเพิ่มวลีว่าจะลดการใช้น้ำมันและแก๊สธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกปริมาณมากเช่นกัน แม้ว่าสหภาพยุโรปและอีกหลายประเทศพยายามผลักดันข้อความดังกล่าว แต่ก็โดนคัดค้านโดยซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และไนจีเรีย

“เราใช้เวลาเกินไปมาก ในตอนเช้าเราค่อนข้างมีกำลังใจดี ผมคิดว่าหลายคนคงร้อนใจที่การประชุมคราวนี้ไม่มีอะไรคืบหน้าเลย” Espen Barth Eide รัฐมนตรีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากนอร์เวย์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เขายังต้องการให้มีข้อตกลงที่เข้มข้นขึ้นในเรื่องเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสตามที่ประชุมกันเมื่อปีที่ผ่านมา

“ตัวแทนจำนวนไม่น้อยพยายามบอกว่าเราต้องจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสซึ่งต้องดำเนินการอะไรบางอย่างเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เช่น การลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น” Eide แสดงความเห็น “แต่ก็มีทีมล็อบบี้จากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เข้มแข็งมาก พวกเขาพยายามทำทุกทางเพื่อกีดกันการแก้ไขที่เราพยายามผลักดัน อันนี้ชัดเจนมาก”

กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาต่างแสดงความกังวลต่อข้อเสนอให้ลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ตัวแทนจากนานาประเทศต่างมองว่าข้อเสนอของอียิปต์เป็นการกลับคำมั่นบางข้อตกลงที่ลงมติไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมาเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายจำกัดอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสซึ่งปัจจุบันโลกได้ร้อนขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

การใช้ภาษาของตัวแทนจากอียิปต์คล้ายคลึงกับคราวที่เราบรรลุข้อตกลงปารีสเมื่อปี พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่เหล่านักวิทยาศาสตร์จะทราบว่าเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสนั้นสำคัญมากเพียงใด อีกทั้งยังมีการย้ำเรื่องเป้าหมาย 2 องศาเซลเซียสครั้งแล้วครั้งเล่า นี่คือสาเหตุที่หลายคนต่างกังวลว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นการก้าวถอยหลัง

Eamon Ryan รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมจากไอร์แลนด์ให้สัมภาษณ์ว่า “เราต้องผลักดันให้เกิดข้อตกลงที่ 1.5 องศาเซลเซียส เราจำเป็นต้องใช้ภาษาที่เคร่งครัดและนี่คือสิ่งที่เราต้องพยายามร่วมกัน”

ถอดความและเรียบเรียงจาก UN climate negotiators approve compensation deal for poorer nations และ Historic Deal Struck at COP27 to Create Loss and Damage Fund for Poor Nations

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก