รายงานฉบับล่าสุดของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติระบุว่า “ไม่มีเส้นทางการดำเนินโยบายใดๆ ที่จะบรรลุเป้าหมายจำกัดอุณภูมิ 1.5 องศาเซลเซียส” โดยความล้มเหลวที่จะจำกัดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะทำให้เกิดผลกระทบจากวิกฤติภูมิอากาศซึ่งจะ “เปลี่ยนแปลงสภาพสังคมอย่างรวดเร็ว”
รายงานโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติวิเคราะห์ช่องว่างระหว่างการให้คำมั่นเพื่อลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของแต่ละประเทศเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นเป้าหมายที่มีการตกลงร่วมกันในเวทีนานาชาติ ผลวิเคราะห์ปรากฏว่าความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายนั้น “ขาดตกบกพร่องอย่างเลวร้าย”
สารพัดโครงการที่ให้คำมั่นว่าจะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ. 2573 หากดำเนินการได้อย่างครบถ้วนจะทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2.5 องศาเซลเซียสซึ่งนับเป็นหายนะทางภูมิอากาศทั่วโลก ปัจจุบัน อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสก็เป็นสาเหตุของสารพัดวิกฤติภูมิอากาศตั้งแต่ปากีสถานไปจนถึงเปอร์โตริโก
ในกรณีที่ทุกประเทศซึ่งให้คำมั่นในระยะยาวกว่าจะปล่อยคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นราว 1.8 องศาเซลเซียส แต่รายงานดังกล่าวมองว่าการขยับเขยื้อนที่เชื่องช้าทำให้เป้าหมายดังกล่าวยากที่จะบรรลุ
หลากหลายประเทศตกลงในการประชุม COP26 เมื่อปีที่ผ่านมาว่าจะยกระดับคำมั่นในการลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ แต่เมื่อถึงการประชุม COP27 กลับมีประเทศจำนวนหยิบมือเท่านั้นที่ปรับปรุงแผนใหม่ซึ่งจะลดการปล่อยคาร์บอนในปี พ.ศ. 2573 เพิ่มขึ้น เพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หากต้องการคงไว้ซึ่งเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส การปล่อยแก๊สเรือนกระจกทั่วโลกจะต้องลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปีดังกล่าว
Inger Andersen ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติให้สัมภาษณ์ว่า “รายงานฉบับนี้บอกเราด้วยภาษาวิทยาศาสตร์ที่ไร้อารมณ์ นี่คือสิ่งที่ธรรมชาติบอกเรามาหลายปีผ่านอุทกภัยรุนแรง พายุ และไฟป่า เราจะต้องหยุดปล่อยแก๊สเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”
“เรามีโอกาสที่จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลง แต่ตอนนี้เวลาดังกล่าวได้หมดลงแล้ว มีแต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคมที่จะช่วยให้เราปลอดภัยจากวิกฤติภูมิอากาศที่เลวร้ายรุนแรงยิ่งขึ้น”
“นี่คือการเรียกร้องที่ยิ่งใหญ่ บางคนอาจมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจทั่วโลก และลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกลงเกือบครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2573 แต่อย่างน้อยเราก็ต้องพยายาม” เธอกล่าว “ทุกๆ เศษเสี้ยวองศาต่างมีความหมายต่อชุมชนที่เปราะบาง ต่อการอยู่รอดของระบบนิเวศ และต่อพวกเราทุกคน”
Andersen ระบุว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะนำมาซึ่งอากาศสะอาด ตำแหน่งงานในธุรกิจสีเขียว และการเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าของประชาชนหลายล้านชีวิต
ขณะที่ António Guterres ให้สัมภาษณ์ว่า “การปล่อยแก๊สเรือนกระจกยังอยู่ในระดับอันตราย ทลายสถิติในหน้าประวัติศาสตร์ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เราจำเป็นต้องปิดช่องว่างการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ก่อนที่วิกฤติภูมิอากาศจะเป็นหน้าสุดท้ายของประวัติศาสตร์มนุษย์”
ศาสตราจารย์ David King อดีตหัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรระบุว่า “รายงานฉบับนี้คือคำเตือนที่เร่งด่วนถึงทุกประเทศ ไม่มีประเทศใดเลยที่ดำเนินนโยบายมากพอที่จะรับมือกับวิกฤติภูมิอากาศ”
รายงานฉบับนี้ยังพบว่านโยบายลดคาร์บอนในปัจจุบันจะทำให้โลกร้อนขึ้น 2.8 องศาเซลเซียส ส่วนคำมั่นที่รัฐบาลให้ไว้จะลดอุณหภูมิลง 2.6 องศาเซลเซียส ขณะที่คำมั่นซึ่งขึ้นอยู่กับเงินลงทุนจากประเทศร่ำรวยสู่ประเทศยากจน หากทำได้จริงก็จะลดอุณหภูมิลงเหลือ 2.4 องศาเซลเซียส
รายงานอีกฉบับโดยองค์การพลังงานสากลก็ได้ข้อสรุปใกล้เคียงกัน โดยพบว่าคำมั่นของหลากหลายประเทศแทบจะไม่ได้ลดปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่คาดการณ์ในปี พ.ศ. 2573 แม้แต่น้อยเมื่อเทียบกับระดับการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในปี พ.ศ. 2562
รายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติระบุว่าการเปลี่ยนผ่านทางสังคมที่จำเป็นเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถบรรลุได้ด้วยการดำเนินนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการกำหนดกฎเกณฑ์ ภาษี เช่นเดียวกับการปรับเปลี่ยนระบบการเงินระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค
ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตไฟฟ้า การคมนาคม และสิ่งปลูกสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่มันต้องเกิดขึ้นเร็วกว่านี้ ทุกภาคส่วนต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลแห่งใหม่ ซึ่งส่วนทางกับแผนการของหลายประเทศที่จะพัฒนาแหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติแห่งใหม่ การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็พบว่างานวิจัย ‘แทบทั้งหมด’ ต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการพัฒนาแหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติแห่งใหม่ “ไม่อาจเกิดขึ้นได้” หากต้องการบรรลุเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส
รายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติยังระบุอีกว่าการปล่อยแก๊สเรือนกระจกทั่วโลกราว 1 ใน 3 มาจากระบบการผลิตอาหาร โดยตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวในปี พ.ศ. 2593 แต่ภาคส่วนดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้หากรัฐบาลเปลี่ยนวิธีให้เงินอุดหนุนภาคการเกษตร ซึ่งมักจะเป็นการส่งเสริมการทำลายสิ่งแวดล้อมทางอ้อม รวมถึงการเก็บภาษีอาหาร ลดขยะอาหาร และช่วยพัฒนาอาหารคาร์บอนต่ำ
ประชาชนเองก็สามารถเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้นเช่นกัน
Andersen กล่าวว่า “ฉันไม่ได้ต้องการบอกว่าใครต้องกินอะไร แต่เราทุกคนต้องเตือนตัวเองว่าถ้าเราต้องการกินสเต็กเป็นมื้อเย็นทุกวัน มันไม่มีทางที่จะดีต่อสิ่งแวดล้อม”
การผันเม็ดเงินสู่ภาคการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน ภาคการเงินแทบไม่ดำเนินการใดๆ จวบจนปัจจุบันแม้ว่าจะมีการประกาศให้คำมั่นก็ตาม การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำต้องใช้เงินราว 4 ถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี หรือราว 2 เปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลก
ถึงแม้ Andersen จะไม่มั่นใจว่าการลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะเกิดขึ้นได้จริงภายในปี พ.ศ. 2573 เธอก็ยังมีความหวังโดยชี้ให้เห็นถึงต้นทุนพลังงานหมุนเวียน การคมนาคมไฟฟ้า กฎหมายสำคัญในสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขยับของเหล่ากองทุนบำเหน็จบำนาญที่ต่างเน้นลงทุนคาร์บอนต่ำ
“งานของฉันคือการเป็นคนที่มีความหวังเสมอ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นคนมองโลกในแง่ดีซึ่งอิงกับข้อเท็จจริง” เธอกล่าว “รายงานฉบับนี้คือกระจกที่เราต้องการสะท้อนให้คนทั้งโลกเห็น แน่นอนว่าฉันต้องการให้รายงานฉบับนี้ผิดพลาด และมองเห็นแต่ละประเทศเดินหน้าลดการปล่อยคาร์บอนอย่างแข็งขัน แต่นั่นคือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นจวบจนปัจจุบัน”
ถอดความและเรียบเรียงจาก Climate crisis: UN finds ‘no credible pathway to 1.5C in place’
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก