ปลวกชอบโลกร้อน

ปลวกชอบโลกร้อน

ปลวกชอบโลกร้อน ! ปลวกที่อยู่ในอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส จะกินไม้เร็วกว่าปลวกที่อยู่ในอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ถึง 7 เท่า! และจะปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สู่ชั้นบรรยากาศเร็วยิ่งขึ้น!

หากนึกถึงปลวก (Termites) เราอาจนึกถึงอันตรายที่พวกมันก่อขึ้นกับบ้านของเรา แต่ในความจริงแล้ว มีเพียงแค่ 4 เปอร์เซ็นต์ของปลวกทั่วโลกเท่านั้น ที่เป็นศัตรูของพืชและสัตว์ รวมถึงเป็นศัตรูต่อบ้านของเราด้วย 

ในธรรมชาติ ปลวกมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศเขตอบอุ่นและระบบนิเวศแบบกึ่งเขตร้อนในการย่อยสลายซากพืช หรือการกัดกินซากเนื้อไม้ เนื่องจากในลำไส้ของปลวกสกุลนี้ มีโปรโตซัวที่ภายในจะมีแบคทีเรียที่สามารถสร้างเอนไซม์เซลลูเลสที่ช่วยย่อยไม้ให้กับปลวกได้ ส่วนปลวกจะให้ที่อยู่อาศัยและอาหาร ซึ่งก็คือ เซลลูโลส (Cellulose) ที่มีอยู่ในเนื้อไม้เท่านั้นแก่โปรโตซัว เป็นภาวะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน หรือการมีวิวัฒนาการร่วมกันนั่นเอง โดยปลวกจะช่วยหมุนเวียนสารอาหารที่จำเป็นลงสู่ดิน และจะปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศ 

จากงานวิจัยใหม่ของ Lucas Cernusak และคณะ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ได้ประเมินว่า ‘ปลวกชอบความอบอุ่นมากแค่ไหน’ ผลลัพธ์ที่ได้พบว่า ‘ปลวกจะกินซากเนื้อไม้เร็วขึ้น เมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนกว่า’ ตัวอย่างเช่น ปลวกที่อยู่ในอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส จะกินซากเนื้อไม้เร็วกว่าปลวกที่อยู่ในอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ถึง 7 เท่า! และมันจะกัดกินซากเนื้อไม้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นทุก ๆ 10 องศาเซลเซียส

ปลวก

และจากงานวิจัยยังชี้ให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่ของปลวกที่เพิ่มขึ้นในทศวรรษต่อๆไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยของปลวกทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้น และในทางกลับกันก็จะทำให้คาร์บอนฯ ที่สะสมอยู่ในซากเนื้อไม้ ปล่อยคืนสู่ชั้นบรรยากาศเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ต้นไม้มีบทบาทสำคัญในวัฏจักรคาร์บอนทั่วโลก เนื่องจากต้นไม้มีการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง และอีกประมาณครึ่งหนึ่งของคาร์บอนนี้จะถูกกักเก็บไปยังส่วนต่างๆ ของเนื้อไม้ และใบไม้ และจะถูกปลดปล่อยคืนสู่ชั้นบรรยากาศอีกครั้ง ผ่านกระบวนการหายใจของสิ่งมีชีวิต

ปริมาณคาร์บอนที่สะสมอยู่ใน ‘deadwood pool’ หรือซากเนื้อไม้ เมื่อมีการถูกกัดกินโดยปลวกอย่างรวดเร็วแล้ว คาร์บอนที่ถูกเก็บไว้ในเนื้อไม้ก็จะถูกปลดปล่อยกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็วเช่นกัน แต่ถ้าหากปลวกมีการกัดกินซากเนื้อไม้ช้าลง ปริมาณคาร์บอนที่สะสมอยู่ในซากเนื้อไม้จะเพิ่มขึ้น ทำให้การสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนในชั้นบรรยากาศช้าลงด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ การทำความเข้าใจในเรื่องของพลวัตของชุมชนสิ่งมีชีวิตผู้ย่อยสลายจึงมีความสำคัญ เนื่องจากช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคาดการณ์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อคาร์บอนที่กักเก็บไว้ในระบบนิเวศบนบกได้ 

การปลดปล่อยคาร์บอนจากซากเนื้อไม้สู่ชั้นบรรยากาศจะเป็นการเร่งความเร็วของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการกักเก็บคาร์บอนไว้ในเนื้อไม้ให้นานขึ้น อาจช่วยทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นช้าลงได้อีกด้วย

งานวิจัยชิ้นนี้มีขึ้นเพื่อคาดการณ์ว่าการกัดกินซากเนื้อไม้ของปลวกอาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการตอบสนองต่อสภาพภูมิอากาศไปทั่วโลก

ในอีกทศวรรษหน้า นักวิจัยมีการคาดการณ์ว่าปลวกจะมีการกัดกินซากเนื้อไม้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของปลวกจะมีการแพร่กระจายไปยังตอนเหนือและใต้ของเส้นศูนย์สูตร ซึ่งจะทำให้วัฏจักรคาร์บอนที่อยู่ในซากไม้ตายจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คืนสู่ชั้นบรรยากาศจะเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

Climate Change หรือ ภาวะโลกรวนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์อาจจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ชนะเพียงไม่กี่คน แต่ยังคงหลงเหลือผู้แพ้ไว้อีกจำนวนมาก ซึ่งดูเหมือนว่า ‘ปลวก’ สัตว์กินซากตัวเล็กๆ จะเป็นหนึ่งในผู้ชนะเหล่านั้น ที่กำลังจะได้สัมผัสกับการขยายตัวไปยังพื้นที่ที่เหมาะสมของมันไปทั่วทั้งโลก

อ้างอิงงานวิจัย

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว