หลังองค์กรสิ่งแวดล้อม และนักอนุรักษ์ พยายามผลักดันการยกสถานะให้ ‘นกชนหิน’ เป็นสัตว์ป่าสงวนต่อเนื่องมาหลายปี ในที่สุด คณะรัฐมนตรี ก็เห็นชอบให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของประเทศไทย ไปเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา
โดยการผลักดันนกชนหิน (Helmeted Hornbill) เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จากการทำแคมเปญรณรงค์ “ขอให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนอันดับที่ 20 ของไทย” บนแพลตฟอร์ม change.org เนื่องจากข้อมูลเวลานั้น พบว่ามีการล่าและค้าชิ้นส่วนของนกชนหินเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และจากข้อมูลของการศึกษาวิจัยทำให้ประมาณได้ว่า นกชนหินอาจเหลืออยู่ในป่าธรรมชาติของประเทศไม่ถึง 100 ตัว
ซึ่งเป็นจำนวนที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง (สถานะการอนุรักษ์ตามบัญชีแดงของ IUCN ระบุว่า นกชนหิน เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ – Critically endangered species)
ในการเรียกร้อง ได้ระบุให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดให้นกชนหินได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวนตัวที่ 20 ของประเทศไทย และมีแผนการจัดการ อนุรักษ์ ปกป้องนกชนหินให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามต่างๆ ร่วมถึงมีแนวทางที่ชัดเจนต่อการ ฟื้นฟูประชากรนกชนหินให้มีจำนวนมากขึ้น
หลังจากผ่านขั้นตอนต่างๆ มาตามลำดับ การประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2565 ก็ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติม โดยจะเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เนื่องจากนกชนหินเป็นสัตว์ป่าหายาก ใกล้สูญพันธุ์ จำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวด
ซึ่งการปรับสถานะจากสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวน ย่อมหมายถึง ต้องมีการยกระดับมาตรการการดูแลทั้งตัวสัตว์และมิติทางพื้นที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังรวมถึงการกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิด ก็จะรุนแรงขึ้นทั้งระยะเวลาจำคุกและจำนวนค่าปรับ
ในส่วนนี้ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า มาตรการที่เกี่ยวข้องต่อการอนุรักษ์นกชนหินจะเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาขึ้นอย่างไรในหลังจากนี้
นกชนหินถือเป็นนกสายพันธุ์โบราณที่อยู่คู่โลกใบนี้มานานกว่า 45 ล้านปี และเป็นหนึ่งในนกเงือก 13 ชนิดที่พบในประเทศไทย ปัจจุบันพบว่ากระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ป่าทางใต้ของประเทศ ถือเป็นสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่สำคัญต่อระบบนิเวศผืนป่าเป็นอย่างมาก
ซึ่งนกชนหินและนกเงือกชนิดต่างๆ มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูป่า และเป็นนักปลูกป่าที่ทำงานอย่างไม่มีวันหยุด และไม่จำเป็นต้องใช้งบการลงทุนสักสตางค์เดียว
นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เคยอธิบายความสำคัญในการกระจายพันธุ์พืชของนกเงือกเอาไว้ว่า นกเงือกจะช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ของต้นที่ให้ผลที่มีขนาดใหญ่ ที่นกปรอทหรือนกที่มีขนาดเล็กไม่สามารถกินผลไม้กลุ่มนี้ได้
มีงานวิจัยพบว่าถ้าเราเอาเมล็ดพันธุ์ที่ร่วงจากต้นแล้วเอาไปเพาะโดยตรงอัตราการงอกเท่ากับศูนย์ แต่ถ้าเมล็ดนั้นผ่านน้ำย่อย ไปย่อยในส่วนที่มันหุ้มเมล็ด ก็จะช่วยกระตุ้นทำให้เกิดการงอกได้สูงมาก เมล็ดเหล่านี้มันถูกออกแบบมาเพื่อให้ผ่านลำไส้นกและเดินทางไปในที่ไกลๆ ไม่ใช่หล่นใต้ต้นแล้วงอกตรงนั้น
“เพราะฉะนั้นนกเงือกจึงได้ชื่อว่าเป็นนักปลูกป่า มันทำหน้าที่ปลูกป่า 7 วันต่อสัปดาห์ 365 วันต่อปี”
อ้างอิง
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม