ย้อนกลับไปเมื่อ 32 ปีก่อน ก่อนรุ่งฟ้าสางในวันที่ 1 กันยายน 2533 ท่ามกลางความเงียบสงัด กลับมีเสียงปืนดังลั่นสนั่นป่า ณ เขตรักษาพันธุ์ป่าห้วยขาแข้ง ด้วยความที่ทุกคนเคยชินกับเสียงปืน เลยไม่มีผู้ใดข้องใจกับเสียงปืนในคืนนั้น และคืนนั้นเองเป็นคืนสุดท้ายของชายผู้เป็นวีรบุรุษ เขาทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องผืนป่า จนถึงกับยอมปลิดชีวิตตนเอง เพื่อปลุกจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของพวกเรา และสะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบข้าราชการไทย
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชื่อ สืบ นาคะเสถียร กลายเป็นที่รู้จัก และทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หันมาตระหนักถึงมาตรการในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และได้เปลี่ยนแปลงวงการอนุรักษ์ไปตลอดกาล จากวันนั้น จนถึงวันนี้ ผ่านมา 32 ปี ชื่อ ‘สืบ นาคะเสถียร’ ก็มิอาจเลือนลางหายไปจากใจของพวกเราได้
วันนี้แอดมินจะพาทุกท่านย้อนรอยเส้นทางของชายผู้เป็นตำนานแห่งผืนป่าห้วยขาแข้ง ‘สืบ นาคะเสถียร’
ชีวิต สืบ นาคะเสถียร
พ.ศ. 2492 สืบ นาคะเสถียร เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม ที่ตำบลท่างา อำเภอเมืองจังหวัดปราจีนบุรี สืบเป็นบุตรของนายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีน และนางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้องรวมทั้งหมดสามคน
พ.ศ. 2502 สืบมีนิสัยทำอะไรมักจะทำให้ได้ดีตั้งแต่เด็ก และเมื่อจบประถม 4 สืบ นาคะเสถียร ได้ย้ายไปเรียนโรงเรียนเซ็นต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นนักเป่าทรัมเป็ตมือหนึ่ง และนักวาดภาพฝีมือดีของโรงเรียน
พ.ศ. 2510-2514 สืบอยากเรียนสถาปัตยกรรมเพราะชอบด้านศิลปะ แต่มาสอบติดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รุ่นที่ 35
พ.ศ. 2516-2517 เมื่อสำเร็จการศึกษา สืบได้เข้าทำงานที่ส่วนสาธารณะการเคหะแห่งชาติ และไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวนวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์
จุดเริ่มต้นการทำงานของ สืบ นาคะเสถียร
พ.ศ. 2518 สืบสอบเข้ากรมป่าไม้ได้ แต่เลือกที่จะมาทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่าโดยไปประจำที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมพู่จังหวัดชลบุรี
พ.ศ. 2522 สืบได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษในสาขาอนุรักษ์วิทยา
พ.ศ. 2524 สืบดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และเริ่มงานวิจัยชิ้นแรก คือการศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี
พ.ศ. 2528 สืบเดินทางไปทำวิจัยเรื่องกวางผา กับดร.แซนโดร โรวาลี ที่ดอยม่อนจองในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ป่า จนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจให้แก่สืบเป็นอย่างมาก
พ.ศ. 2529 สืบรับเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่สืบรู้ดีว่ามีสัตว์อีกนับจำนวนมหาศาลที่ตายจากการสร้างเขื่อน และในระหว่างนั้น สืบได้ค้นพบรังนกกระสาคอขาวปากแดงครั้งแรกในประเทศไทย
สืบ นาคะเสถียร กับบทบาทการเป็นนักอนุรักษ์
พ.ศ. 2530 สืบได้เปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการไปสู่นักอนุรักษ์ โดยเข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี สืบชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากการที่มีสัตว์จำนวนมาก ล้มตายหลังจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน สืบเริ่มต้นอภิปรายทุกครั้งว่า ‘ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า…’
พ.ศ. 2531 สืบและเพื่อนอนุรักษ์ออกโรงคัดค้านการที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ ที่ป่าห้วยขาแข้ง สืบได้อภิปรายว่า ‘คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน’
พ.ศ. 2532 สืบได้รับทุนเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
พ.ศ. สืบพบปัญหาต่างๆ มากมายในห้วยขาแข้ง อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า และที่สำคัญคือปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่เลย
สืบจึงทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็น ‘มรดกโลก’ อันเป็นสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองเต็มที่
ชีวิตหลังความตาย
1 กันยายน พ.ศ. 2533 สืบสะสางงาน และเขียนพินัยกรรมไว้เรียบร้อย ก่อนกระทำอัตวิบาตรกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง
18 กันยายน พ.ศ. 2533 ผู้ใหญ่และพ้องเพื่อนนักอนุรักษ์ ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของเขา
26 เมษายน พ.ศ. 2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อทรงเปิดอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร
และในวันนี้ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ครบรอบการจากไป 32 ปี ของสืบ นาคะเสถียร ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขอเชิญผู้สนใจร่วมกิจกรรมรำลึก 32 ปี ของสืบ นาคะเสถียร ณ อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
โดยกิจกรรมรำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร จะจัดแบบเล็ก ๆ และเรียบง่ายเป็นเวลา 2 วัน เริ่มตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 31 สิงหาคม และช่วงเช้าของวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565
และอีกหนึ่งกิจกรรม ถือเป็นไฮไลท์ประจำปี คือการร่วม ‘จุดเทียนรำลึก สืบ นาคะเสถียร’ ที่บริเวณหน้ารูปปั้นสืบนาคะเสถียร ในเวลา 19.32 น. แน่นอนว่าเวลา 19.32 น. นี้ กำหนดไว้ตามปีของงานรำลึก 32 ปีที่จากไป
และขอเชิญชวนทุกท่านชมนิทรรศการสานศิลป์สืบไพร ฟังเรื่องเล่าที่มาของอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร จุดเทียนรำลึก และร่วมทำบุญ
ภาพประกอบ ภัสราภรณ์ ล้อประกานต์สิทธิ์