‘คลื่นความร้อน’ เกิดขึ้นทั่วโลก วิกฤติภูมิอากาศที่อาจเกิดขึ้นบ่อยครั้งในอนาคต
ลองจิ้มเลือกสักจุดบนแผนที่โลก มีโอกาสสูงอย่างยิ่งที่คุณจะจิ้มโดนพื้นที่ซึ่งกำลังเกิดวิกฤติภูมิอากาศอยู่ในตอนนี้ ทั้งบางส่วนของอเมริกาเหนือ ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย ต่างเผชิญกับความร้อนแบบสุดขั้ว ณ ระดับอุณกภูมิที่สูงทุบสถิติโลก ในขณะที่หลายแห่งเผชิญกับไฟป่าและภัยแล้งรุนแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ในสหราชอาณาจักร อุณหภูมิสูงทุบสถิติถึง 40.2 องศาเซลเซียส ทิ้งห่างสถิติเดิมเมื่อสามปีก่อนที่ 38.3 องศาเซลเซียสแบบไม่เห็นฝุ่น ส่วนนักดับเพลิงในฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส และกรีซ ต่างกำลังคร่ำเคร่งกับการดับไฟป่าซึ่งโหมกระหน่ำทางตอนใต้ของภูมิภาค ในเดือนเดียวกันนี้เองที่ธารน้ำแข็งละลายจนเกิดการถล่มในอิตาลี นำไปสู่หิมะถล่มซึ่งทำให้นักปีนเขา 11 คนเสียชีวิต
ในฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ประชากรชาวอเมริกัน 140 ล้านคนเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับคลื่นความร้อนซึ่งครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศตั้งแต่ภาคกลางของแคลิฟอร์เนียไปจนถึงฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ
ไฟป่าและความร้อนทุบสถิติในแอฟริกาทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย และอีกไม่นานบางพื้นที่ในเอเชียก็อาจต้องเผชิญกับอุณหภูมิสูงลิ่วเช่นเดียวกัน นี่คือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นพร้อมกันหลายแห่งทั่วโลกซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศต่างเตือนว่าจะเกิดบ่อยครั้งขึ้นในอนาคต นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังคุกคามชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก
“เราโชคดีที่โลกนี้ค่อนข้างกว้างใหญ่ หากมีภัยแล้งที่ไหน คนที่อื่นก็สามารถปลูกพืชเพื่อส่งเป็นอาหารให้กับเราได้” บิลล์ แมคคิบเบน (Bill McKibben) นักเขียนและนักกิจกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สัมภาษณ์กับ NBC News “แต่เมื่อสภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นหลายแห่งบนโลกในเวลาเดียวกัน ทางออกของเราก็หดแคบลงในอนาคต”
สตีเฟน เบลเชอร์ (Stephen Belcher) ผู้บริหารจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของสหราชอาณาจักรระบุว่าเขาคาดไม่ถึงว่าอุณหภูมิในอังกฤษจะสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสในขณะที่เขายังคงทำงาน “สำหรับผม นี่คือการเตือนว่าภูมิอากาศกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในอนาคต งานวิจัยที่ทำในสำนักงานอุตุนิยมวิทยาระบุว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่สหราชอาณาจักรจะเผชิญกับอุณภูมิเกิน 40 องศาในภาวะปกติ”
เบน เซตชิก (Ben Zaitchik) อาจารย์จาก Johns Hopkins University ผู้เชี่ยวชาญด้านคลื่นความร้อนระบุว่า ถึงแม้เหตุการณ์คลื่นความร้อนที่สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรจะเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน แต่ความจริงแล้วสองเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเหตุการณ์นี้มีแนวโน้มอย่างยิ่งว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกิดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นเนื่องจากแก๊สเรือนกระจกที่กักเก็บความร้อนในชั้นบรรยากาศ
เซตชิกยังเสริมอีกว่ามีหลักฐานยืนยันว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของแนวกระแสลมแรงในชั้นบรรยากาศซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงในยุโรป
การศึกษาชิ้นล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ใน Nature Communications ระบุว่าสหภาพยุโรปเป็นจุดที่มีแนวโน้มสูงว่าจะเกิดคลื่นความร้อน พร้อมกับระบุว่าเหตุการณ์ ‘คลื่นความร้อน’ มีเหตุการณ์ที่จะเกิดในพื้นที่ดังกล่าวมากกว่าพื้นที่แห่งอื่นในซีกโลกเหนือราวสามถึงสี่เท่าตัว
เพทเทอรี ทาลัส (Petteri Taalas) ผู้อำนวยการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ระบุว่าเขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์คลื่นความร้อนในยุโรปสัปดาห์นี้จะเป็น “กระดิ่งเตือนภัย” สำหรับรัฐบาลและผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในยุโรปนั้น ความเสี่ยงจากคลื่นความร้อนมีความชัดเจนขึ้นมากเป็นเวลาหลายปี โดยมีประชากรเสียชีวิตกว่า 70,000 คนจากเหตุการณ์คลื่นความร้อนเมื่อปี พ.ศ. 2546
ประเทศที่ปกติแล้วมีอากาศหนาวกว่า เช่น สหราชอาณาจักร จะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด เนื่องจาก “ร่างกายของประชาชนจะไม่คุ้นเคยกับสภาพภูมิอากาศดังกล่าว” เซตชิกระบุ ส่วนรัฐบาลสหราชอาณาจักรได้แจ้งให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทาง อยู่ในบ้าน เพื่อหลบเลี่ยงอุณหภูมิที่ร้อนอย่างร้ายกาจ บางโรงพยาบาลตัดสินใจเลื่อนผ่าตัดที่ไม่เร่งด่วนในวันที่ร้อนมากๆ เพราะคาดว่าจะมีคนไข้เดินทางมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก
“เรามีแผนรับมือคลื่นความร้อนที่ค่อนข้างดี เราพยายามสื่อสารให้มีการปรับพฤติกรรมเพื่อให้ประชาชนทราบว่าจะทำอย่างไรเมื่อเผชิญกับความร้อน” ซารี โควัตส์ (Sari Kovats) อาจารย์จาก London School of Hygiene & Tropical Medicine ระบุ แต่แผนดังกล่าวก็ไม่ได้มีประสิทธิผลมากนัก เพราะในภาวะปกติ ที่อยู่อาศัยในสหราชอาณาจักรก็จะมีอุณหภูมิสูงกว่าที่ควรจะเป็น คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าคณะกรรมการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอังกฤษ “ล้มเหลวที่จะเปลี่ยนมาตรฐานการก่อสร้างอาคาร”
นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างที่ยืนยันว่ามนุษย์อาจเผชิญความยากลำบากในการปรับตัวอย่างรวดเร็วให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงดังกล่าวก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว “การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอาจช่วยได้บ้าง แต่ก็คงช่วยไม่ได้มากหากโครงสร้างพื้นฐานยังไม่เย็นเพียงพอ” โควัตส์กล่าว
ถอดความและเรียบเรียงจาก Heat waves overlap as warming climate makes extreme temperatures more likely
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก