ลอเรนซ์ บรูซ เคคูล อาลัยช่างภาพสัตว์ป่า

ลอเรนซ์ บรูซ เคคูล อาลัยช่างภาพสัตว์ป่า

‘ลอเรนซ์ บรูซ เคคูล’ ช่างภาพสัตว์ป่าชาวอเมริกันผู้เลือกใช้ชีวิตท่องผืนป่าไทย เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์ป่าให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญ

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เราได้สูญเสียช่างภาพสัตว์ป่าคนสำคัญ – ‘ลอเรนซ์ บรูซ เคคูล’ (Lawrence Bruce Kekule)

‘ลอเรนซ์ บรูซ เคคูล’ เป็นชาวอเมริกัน เกิดที่แซคราเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย ก่อนจะย้ายมาอาศัยอยู่ที่ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย ในปี 1967

ก่อนจะมาเป็นช่างภาพสัตว์ป่า บรูซ เคยทำอะไรมาหลายอย่าง

ชายผู้นี้เคยทำงานเป็นวิศวกรเครื่องกลในโรงไฟฟ้า และทำงานบนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่เกาะบอร์เนียว ในอินโดนีเซีย

เป็นคนที่จริงจังกับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะในหน้าที่การงานหรือวันพักผ่อน ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในทุกวิถีทาง

ชื่นชอบการขับรถเร็ว นิยมมอเตอร์ไซค์ฮาเลย์และดนตรีร็อค พร้อมกับเล่นกอล์ฟและสควอช

อีกทั้งยังชอบเรื่องปืนผาหน้าไม้ จริงจังถึงขั้นได้เป็นผู้อำนวยการระดับภูมิภาคคนแรกของประเทศไทยของ IPSC – สมาคมยิงปืนระดับนานาชาติ

เมื่อว่างเว้นจากกิจกรรมมากมายที่เกริ่นไป บรูซยังเป็นนักวิ่งตัวยง ซึ่งเป็นการวิ่งในนามของ Hash House Harriers กลุ่มวิ่งเพื่อสังคมที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก

สำหรับบางคนการได้ทำอะไรมากมายเช่นนี้ คงอวดได้อย่างไม่อายว่าใช้ชีวิตจนคุ้มแล้ว

แต่สำหรับบรูซ ดูเหมือนความต้องการเขายังไม่มีที่สิ้นสุด

อีกหนึ่งสิ่งที่บรูซอยากทำ แต่ไม่มีโอกาสมาก่อนคือการเข้าป่าไปถ่ายภาพสัตว์

แรกเริ่ม เขาคิดว่ามันเป็นอีกหมุดหมายหนึ่งของงานอดิเรกที่อยากทำ แต่เสน่ห์บางอย่างก็เย้ายวนให้เขาหลงในงานนี้จนถอนตัวไม่ขึ้น

บรูซมาสารภาพภายหลังว่าการถ่ายภาพสัตว์ป่าสามารถทำให้ผู้คนเสพติดมันได้

ซึ่งนั่นก็ทำให้บรูซมีเป้าหมายชีวิตเพิ่มอีกอย่าง ว่าจะต้องทำหนังสือรวมภาพสัตว์ป่าและธรรมชาติออกมาให้สำเร็จ

เขาตระเวนถ่ายภาพไปทั่วผืนป่าของอนุรักษ์ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร แก่งกระจาน ดอยอินทนนท์ เขาใหญ่ เขาสก ไทรโยค เอราวัณ ทับลาน ภูเขียว เขาอ่างฤาใน เขาสอยดาว และสลักพระ

แต่การถ่ายภาพก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นงานที่ต้องใช้ต้นทุนไม่น้อยเกี่ยวกับอุปกรณ์ ไหนเลยจะเรื่องทักษะ การตั้งรูรับแสง การจับโฟกัส ที่ทำให้บรูซพลาดโอกาสงามๆ ไปหลายครั้ง

รวมไปถึงเรื่องการขออนุญาตเข้าผืนป่าเพื่อไปถ่ายภาพ ที่มีมากขั้นตอนกว่าจะได้รับคำอนุมัติ

แต่นั่นไม่ได้ทำให้ชายผู้เลือกจะเดินทางสายนี้ถอยหลังหรือล้มเลิกความตั้งใจแต่อย่างใด

ในวัย 54 บรูซ ไขว่คว้าความฝันสำเร็จ หนังสือรวมภาพสัตว์ป่าเล่มแรก Wildlife in the Kingdom of Thailand ได้ตีพิมพ์ออกมาในปี 1999 และมีเล่มที่สอง Thailand’s Natural Heritage ในอีก 5 ปีต่อมา

และหนังสือเล่มที่ 3 Wild Rivers ก็ได้ตีพิมพ์ออกมาในปี 2008

บรูซไม่ได้รักเพียงการถ่ายภาพ แต่รักษ์ในการอนุรักษ์ เพราะเป้าหมายที่ทำให้เขาอยากตระเวนไปถ่ายภาพในป่าต่างๆ ก็เพื่อให้คนไทยให้เห็นความสำคัญของสัตว์ป่าในประเทศ และสัตว์ป่าหลายชนิดกำลังมีสถานะใกล้สูญพันธุ์

บรูซบรรยายถึงปณิธานของเขา ในฐานะที่เป็นช่างภาพสัตว์ป่า เอาไว้ว่า “จงแบ่งปันภาพถ่ายของคุณกับผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อส่งข้อความต่อไปว่าธรรมชาติมีค่าควรแก่การเก็บไว้สำหรับอนาคต”

นอกจากงานถ่ายภาพแล้ว เขายังเป็นคอลัมนิสต์ เขียนบรรยายเรื่องผืนป่าให้กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และนิตยสารต่างๆ ตามแต่โอกาสจะอำนวยอีกด้วย

และถึงแม้จะไม่ได้เติบโตท่ามกลางป่าฝนของเอเชีย แต่บรูซก็เข้าใจธรรมชาติของที่นี้ได้อย่างลึกซึ้ง

ครั้งหนึ่ง ขณะกำลังเดินป่า คนนำทางพยายามเอาใจผู้ว่าจ้างด้วยการช่วยแกะทากที่กำลังดูดเลือดอยู่บนขาของบรูซ แต่บรูซกลับติติงกลับไปว่า

“นี่คือป่าเขตร้อนของเอเชีย! คุณคาดหวังว่าจะพบอะไรที่นี่ คุณไม่ต้องหยุดทุกๆ ห้านาทีเพื่อเอามันออกไปหรอก! ปล่อยให้มันดูดเลือดไป! แล้วมันก็จะหลุดไปเอง! ไม่ต้องทำอะไรแล้ว เสียเวลาของเรา!!!”

นอกจากจะมีโอกาสท่องไปทั่วผืนป่าของไทย บรูซยังมีโอกาสเดินทางไปยังผืนป่าของแอฟริกา และอินเดีย และมักจะโชคดีได้เห็นสัตว์ที่เขาใฝ่ฝันที่จะค้นพบ สามารถถ่ายภาพที่น่าทึ่งได้หลายพันภาพ ไม่ว่าสัตว์เหล่านั้นจะหายากแค่ไหนก็ตาม

แต่การเดินทางเข้าป่าอย่างสมบุกสมบันก็ทำให้บรูซมีประสบการณ์เสี่ยงตายมาแล้วหลายครั้ง

ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกกระทิงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งพุ่งเข้าใส่

แต่อันตรายจากสัตว์ป่ากลับไม่น่ากลัวเท่ากับโรคภัย ที่แฝงตัวมาอย่างเงียบๆ

บรูซเคยเกือบเอาชีวิตไม่รอดด้วยโรคมาลาเรียในผืนป่าของไทย และเกือบตายด้วยไข้ป่าที่ติดจากการท่องไปทั่วป่าอนุรักษ์ของประเทศอินเดีย

มาร์กาเร็ต เคคูล ลูกสาวของบรูซ บรรยายถึงพ่อว่า “พ่อเป็นนักสู้ที่เข้มแข็ง”

กระทั่งในเดือนตุลาคม 2020 บรูซได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ากำลังเป็นมะเร็งต่อมทอนซิลระยะที่ 4

เขาได้รับคำแนะนำให้เข้ารับการฉายรังสี 35 ครั้งพร้อมกับเคมีบำบัดทุกสัปดาห์ จนกว่าการรักษาจะเสร็จสิ้น

แม้จะป่วย บรูซก็ยังยืนกรานที่จะออกไปท่องโลก – เลือกจะใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองอยากเป็น โดยไม่สนใจคำท้วงติงของคนในครอบครัวหรือแพทย์ผู้ดูแล

เขายังคงทำงาน เขียนบทความ และสื่อสารเรื่องราวงานอนุรักษ์ผืนป่าให้กับประเทศไทย ราวกับว่าโรคภัยไม่ได้เป็นปัญหาของการใช้ชีวิต – ที่เหลืออยู่

หนึ่งในผลงานลำดับท้ายๆ ของบรูซ เขาเขียนบทความถึงความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่าในผืนป่าแก่งกระจาน พร้อมเผยภาพถ่ายสัตว์ป่าหายากหลายชนิดให้กับนิตยสาร Koktail

บรูซบรรยายว่าแก่งกระจานคืออัญมณีแห่งเทือกเขาตะนาวศรี

ความตอนหนึ่งเขาแสดงความเห็นต่อการดูแลผืนป่าเอาไว้ว่า

“กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีแผนที่จะเปิดพื้นที่บางส่วนของแก่งกระจานตลอดทั้งปี แต่ผู้รักธรรมชาติและองค์กรพัฒนาเอกชนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้

การใช้ประโยชน์มากเกินไปเช่นนี้จะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติที่ควรเติบโตที่นี่

การท่องเที่ยวที่มากเกินไปก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพื้นที่ตั้งแคมป์เต็มหมดในช่วงวันหยุดประจำชาติ ในโอกาสดังกล่าว ขยะมูลฝอยจะเกลื่อนไปทั่วสถานที่

และเจ้าหน้าที่อุทยาน มักต้องเก็บขยะต่อไปอีกหลายวัน หลังจากผู้มาเยี่ยมเยือนกลับไปแล้ว

เส้นทางเดินในป่ากลายเป็น ‘เส้นทางขยะ’ เมื่อคนที่มีนิสัยไม่ดีทิ้งขวดน้ำ กระดาษห่อขนม และอื่นๆ

นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดกาลในอุทยานแห่งชาติทุกแห่งทั่วประเทศที่ต้องได้รับการแก้ไขก่อนที่ทุกอย่างจะเปิดใหม่อีกครั้ง

จากประสบการณ์และความรู้สึกของฉัน คือ ปัญหาจะถูกมองข้ามอีกครั้ง”

หนึ่งเดือนก่อนเสียชีวิต บรูซยังเดินทางไปท่องป่าแอฟริกาพร้อมกับลูกสาว ซึ่งเป็นทริปที่เขากลับมาบอกกับครอบครัวว่ามันเป็นการเดินทางที่ดีที่สุด

และถ้ายังมีชีวิตอยู่ได้อีกหนึ่งปี เขาบอกว่าจะกลับไปเที่ยวที่นั่นอีก

แต่ความฝันนี้ก็อาจเป็นเรื่องเดียวที่บรูซทำไม่สำเร็จ

ลอเรนซ์ บรูซ เคคูล จากไปอย่างสงบด้วยจากภาวะติดเชื้อและอาการปอดบวมที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เมื่อเวลา 14.50 น. วันที่ 10 มิถุนายน 2022

เกรก แม็คเคนน์ นักชีววิทยา เพื่อนคนหนึ่งของบรูซ เขียนคำอาลัยถึงเขาว่า…

“ไม่ว่าเขาจะทำงานที่ไหน บรูซพยายามทำอย่างเต็มที่เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับชะตากรรมของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์และที่อยู่อาศัยของพวกมัน และเขาก็ทำให้มันชัดแจ้งด้วยการถ่ายภาพของเขา”

“งานของเขาจะคงอยู่ตลอดไปและเป็นแรงบันดาลใจให้นักอนุรักษ์ต่อไป”


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน