ถ้าหากพูดถึง ‘กิ้งกือ’ หลายคนคงนึกถึงกิ้งกือตัวยาว ๆ ตัวสีน้ำตาลแดง หรือสัตว์ที่มักถูกเรียกว่าพี่มากขาาาาา แต่ยังมีกิ้งกืออีกชนิดหนึ่งในธรรมชาติ ที่มีลักษณะตัวสั้นกว่า กลมกว่า และขาน้อยกว่า ซึ่งเวลาขดตัวจะมีลักษณะคล้ายกระสุนดินเหนียว หรือที่หลายคนรู้จักก็คือ ‘กิ้งกือกระสุน’ นั่นเอง
วันนี้แอดมินจะพามาทำความรู้จักกับนักทำความสะอาด หรือเทศบาลประจำป่า นั่นคือ ‘กิ้งกือกระสุนพระอินทร์’
‘กิ้งกือกระสุนพระอินทร์’ หรือกระสุนพระอินทร์ (Pill millipede) เป็นกิ้งกือ (Class Diplopoda) และจัดเป็นกิ้งกือกระสุนชนิดหนึ่ง มีชื่อภาษาถิ่นว่า ลูกก๋งพระอินทร์ (ภาคเหนือ) และม้วนชิด (ภาคใต้) มีลักษณะอ้วนป้อม ลำตัวมี 12 ปล้องลำตัว ขา 17-19 คู่ มีสีเปลือกที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ถิ่นที่อยู่อาศัย และเพื่อใช้ประโยชน์ในการพรางตัวหรือหลบซ่อนจากผู้ล่า
เวลากระสุนพระอินทร์ถูกรบกวนจะมีพฤติกรรมการขดตัวเป็นก้อนกลม ๆ โดยเอาส่วนขาซ่อนไว้ภายใต้เปลือกที่เรียบแข็ง เป็นลักษณะกลมเหมือนลูกกระสุน เพื่อป้องกันตัวจากผู้ล่า และเมื่อไม่มีสิ่งรบกวนแล้วจะเหยียดกางขาตัวเองออกมาในท่าเดินปกติ
นอกจากนี้ กระสุนพระอินทร์ก็สามารถปล่อยของเหลวที่มีพิษ ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อน และเป็นพิษต่อตัวผู้ล่าได้นะ
เราสามารถพบเห็นกระสุนพระอินทร์ได้ตามพื้นที่ชื้นแฉะ ป่าผลัดใบ ป่าดิบชื้น และยังพบมากในช่วงฤดูฝน แหล่งอาหารที่สำคัญของกิ้งกือกระสุนก็คือพืชและเห็ด รวมถึงซากพืชและซากสัตว์ จึงถูกจัดเป็นผู้ย่อยสลายที่สำคัญในระบบนิเวศ เรียกได้ว่ากระสุนพระอินทร์เป็นนักทำความสะอาด หรือเทศบาลประจำป่านั่นเอง
‘กิ้งกือกระสุนพระอินทร์’ ถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เนื่องจากเป็นผู้ย่อยสลายที่สำคัญ คอยย่อยซากใบไม้ที่ทับถมกัน ทำให้ต้นไม้สามารถเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งมูลของกระสุนพระอินทร์ยังเป็นปุ๋ยหรือธาตุอาหารให้แก่ดินอีกด้วย นอกจากนี้กระสุนพระอินทร์มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม หากสภาพของดินเปลี่ยนแปลงไปย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อกระสุนพระอินทร์
ต้นไม้ในป่าผลัดใบจะไม่สามารถเติบโตได้ดีเลย หากปราศจากผู้ย่อยสลายตัวเล็กๆ ที่ชื่อว่า “กระสุนพระอินทร์”
หากเราพบกระสุนพระอินทร์ที่ใด นั่นหมายความว่าพื้นที่นั้นมีดินที่อุดมสมบูรณ์ มาร่วมกันอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยของกระสุนพระอินทร์ เพื่อรักษาผืนป่าและคงความสมดุลของระบบนิเวศกันนะคะ
เรื่อง/ภาพ ภัสราภรณ์ ล้อประกานต์สิทธิ์
อ้างอิง